วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ

ความรู้เกี่ยวกับ : เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ
โดย : ว่าที่ ร.อ.ภวัต  ปั้นบำรุงกิตน์
หน่วยงานสำนักงานคลังเขต 6

จากที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการนำเสนองานอย่างมืออาชีพ ของกรมบัญชีกลางนั้น  ข้าพเจ้ามีโอกาสได้รับความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน  ได้แก่ คุณวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร (ศิลปินแห่งชาติสาขาภาพถ่าย)  และคุณนภดล กันบัว (ช่างภาพจากนิตยสาร อสท.)  ซึ่งพอจะประมวลองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ดังนี้
1. ควรเลือกโหมดการถ่ายภาพให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศขณะนั้น เช่น แสงจ้า หมอก ฯลฯ
2. บรรยากาศช่วงเช้าเหมาะสำหรับการถ่ายภาพภูเขา
3. บรรยากาศช่วงเย็นเหมาะสำหรับการถ่ายภาพทะเล
4. ถ้าเป็นไปได้ควรติดตามข่าวสารและตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ/ฤดูกาลก่อนไปถ่ายภาพ
5. กรณีที่ต้องการให้ได้ภาพที่ฉากหลังสีเข้มๆ ต้องใช้ Speed Shutter สูงๆ
6. การถ่ายภาพย้อนแสงให้ปรับ Speed shutter ให้ต่ำ และอาจใช้แฟลช์ช่วย
7. การถ่ายภาพคนควรโฟกัสที่ตาและเลือกมุมที่นัยน์ตามีประกาย
8. Reflex จะช่วยให้การใช้แฟลช์แล้วภาพไม่ออกมาหลอก
9. การถ่ายภาพควรจับจังหวะที่เหมาะสม รวมทั้งต้องพิจารณาสัดส่วนของนางแบบนายแบบเพื่อวางมุมกล้องให้เหมาะสมรวมทั้งจุดกระทบแสงบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกายนางแบบนายแบบ เช่น หน้าผาก ฯลฯ ด้วย
10. เมื่อมีแสงหลากหลายชนิดในจุดที่ต้องการถ่ายภาพ ควรเลือกใช้ AWB
11. เมื่อต้องการให้ฉากหลังเบลอ อาจใช้ Foggy พ่นบริเวณด้านหลังจุดโฟกัส รวมไปจนถึงการสร้างหยดน้ำเทียมตามดอกไม้ใบไม้ต่างๆ ได้
12. เมื่อต้องการบรรยากาศที่มีหมอกปกคลุมอาจใช้วิธีการสุมควันบริเวณต้นลมช่วยเสริมบรรยากาศได้


วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กตัญญูกตเวที

ความรู้เกี่ยวกับ  : กตัญญูกตเวที
โดย : คุณอิมรอน  กระจ่างพัฒน์
เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน
สำนักงานคลังเขต 1

         เมื่อเอ่ยถึงกตัญญูกตเวทีแล้ว เราได้ยินกันจนชินหู แต่เมื่อมองในด้านปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่ทำกันง่าย ๆ เพราะเหตุไร ? เพราะคนโดยมากมักชอบกินเปล่า !
ดังตัวอย่าง พ่อแม่กับลูก ลูกได้รับอุปการะจากพ่อแม่แล้วเป็นอย่างดี พอเติบโตขึ้นลูกมักทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ไม่สมควรกัน หรือแม้แต่ครึ่งหนึ่งจากที่ท่านปฏิบัติก็ยังหาได้ยาก พ่อแม่บางคนไม่ขัดสนยากจน ถึงต้องอาศัยลูกเลี้ยงทางกายแต่ก็ยังต้องการให้ลูก “เลี้ยงทางใจ” เช่น เชื่อฟังโอวาทของท่านให้ท่านสบายใจ ไม่ฝ่าฝืนน้ำใจของท่าน
        หมั่นขยันทำตนให้เจริญด้วยวิชาความรู้และทรัพย์สินเงินทอง คราวท่านเจ็บไข้ได้ป่วยก็เอาใจใส่รักษาพยาบาล หมั่นไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ พูดเอาใจให้ท่านชื่นบาน การที่ลูกจะเอาใจใส่ปรนนิบัติพ่อแม่ได้ดี ก็ด้วยมีกตัญญูกตเวทีเป็นหลัก ถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้แล้วไม่อาจทำลงไปได้ เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาจะให้ลูกตนเองปฏิบัติดีแก่ตนอย่างไรต่อไป ก็จงปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนอย่างนั้นเถิด ทั้งยังจะได้ชื่อว่าเป็น คนดีมีศีลธรรม ซึ่งมนุษย์ด้วยกันก็บูชา เทวดาก็ชื่นชม พรหมก็สรรเสริญ
ผู้ที่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่มาแล้ว ต่อไปก็จะเป็นศิษย์ที่ดีของอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก เป็นปู่ ย่า ตา ยายที่ดีของหลาน ต่อไปในภายภาคหน้าแน่นอนเพราะเมื่อเริ่มต้นมาดีแล้วต่อไปก็ย่อมมิพักต้องสงสัยแล
ถ้าเรามีลูก ก็หวังเหลือเกินที่จะให้ลูกมองเห็นความสำคัญ เราไม่ปรารถนาให้ลูกรู้สึกต่อเราในทางต่ำ ๆ ความช้ำใจของพ่อแม่ เห็นจะไม่มีอะไรเกินกว่า เห็นลูกลบหลู่ดูแคลน ตรงกันข้าม ความมีแก่ใจลูก ก็เป็นสิ่งวิเศษให้ความชุ่มชื่นใจพ่อแม่อย่างไม่มีอะไรเปรียบ คนเรานั้นกว่าจะเติบโตมาพึ่งแขนพึ่งขาของตัวเองได้ ก็ต้องพึ่งต้องอาศัยพ่อแม่มาก่อน ข้าวก็กิน ผ้าก็นุ่ง…ฯลฯ พ่อแม่ให้ทั้งนั้น
ตกลงว่าทุกอย่างต้องอาศัยพ่อแม่ พ่อแม่จึงเป็นผู้ที่ลูกจะต้องสำนึกด้วยความกตัญญูรู้คุณ ยามพ่อ-แม่แก่เฒ่าก็ต้องเอาใจดูหูใส่อุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงดูท่านให้มีความสุข ถ้าท่านต้องการให้ลูกมีความกตัญญูรู้คุณ เพียงแต่จะสอนด้วยการพูดให้ฟังอย่างเดียว แม้จะพรรณนาถึงความกตัญญูกตเวทีให้วิจิตรพิสดารด้วยสำนวนโวหาร ลึกซึ้งเพียงใด ก็ยังไม่พอท่านจะต้องสอนด้วยการทำให้เขาดู ให้เขารู้เขาเห็นด้วย
เด็กทุกวันนี้ต้องขาดตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะตัวอย่างในบ้าน ธรรมชาติบังคับให้ลูกทุกคนบูชาพ่อแม่ ฉะนั้น ไม่ว่าอะไรที่ออกจากการกระทำของพ่อแม่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประทับใจลูกไปทั้งนั้น พ่อแม่เป็นตัวอย่างคนแรกของลูก เป็นผู้สอนคนแรก
ถ้าอยากให้ลูกตระหนักในความสำคัญของท่าน ท่านก็ต้องให้ตัวอย่างที่ดีต่อเขาด้วยการปฏิบัติต่อบุพการีของท่านด้วยความกตัญญู คนเลี้ยงดูพ่อแม่ มีความเจริญทุกคน
มฆมาณพเลี้ยงพ่อแม่ด้วยดีตลอดชีพตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระโพธิสัตว์สุวรรณสามอุตส่าห์ปฏิบัติท่านทุกุลดาบสและนางปาริกา พ่อแม่ผู้เสียจักษุด้วยความจงรักภักดี พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วยังเสด็จไปโปรดพระบิดา และขึ้นไปโปรดพระมารดาถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อันนิสัยคนดีย่อมเคารพบูชาพ่อแม่ และเลี้ยงดูท่านโดยตลอดไม่ทอดทิ้ง ผล ก็ปรากฏเป็นความจริง ตามพระบาลีว่า
                โย มาตรํ ปิตรํ วา มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ
                อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ.
        แปลว่า “ผู้ที่เลี้ยงพ่อแม่ เมื่ออยู่ในโลกนี้เขาก็ได้รับการยกย่อง
สรรเสริญ ละจากโลกนี้ไปแล้วก็ได้รับความบันเทิงเริงรมย์ในสวรรค์”
คนที่กตัญญูต่อพ่อแม่เท่ากับสอนลูกให้กตัญญูต่อตัวท่านด้วย คนกตัญญูย่อมเจริญรุ่งโรจน์ด้วยลาภ ยศ สุข สรรเสริญ คนกตัญญูเป็นคนมีเสน่ห์คนกตัญญูย่อมไปสู่สวรรค์ คนกตัญญูย่อมสำเร็จมรรคผลนิพพาน ทุกหนแห่ง ทุกชาติ ทุกศาสนา ล้วนนิยมยกย่องคนกตัญญูทั้งนั้น !
ส่วนผู้ที่เป็นลูกเนรคุณ ก่อกรรมทำเข็ญต่อพ่อแม่ด้วยประการต่าง ๆ เมื่อถึงคราวตนเป็นพ่อเป็นแม่ มักถูกลูกทำแก่ตัวเช่นนั้นบ้าง เป็นกำเกวียนกงเกวียน หรือกรรมสนองกรรมต่อไป
ท่านเปรียบพ่อแม่นี้ ว่าเหมือนกับ “ไฟ” คือ มีทั้งให้คุณอนันต์ และให้โทษมหันต์สุดแต่ผู้ใช้ โบราณท่านจึงสอนให้ “บูชาไฟ” คือ ให้เข้าใจใช้ไฟนั่นเองพ่อแม่ก็เหมือนกัน

ให้คุณมากเมื่อบูชาท่าน ให้โทษมากเมื่อทำร้ายท่าน ลูกทุกคนจึงควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มากเพราะลูกบางคนไม่ใคร่จะรักพ่อรักแม่ บางรายถึงกับแสดงความรังเกียจ เหยียดหยาม ดุตวาด ทำตาขุ่นตาเขียวให้กับพ่อแม่ เหมือนกับท่านเป็นทาสกรรมกร จะหาความเคารพคารวะสักนิดหนึ่งก็ไม่มี พ่อแม่บางคน ถึงกับกลัวลูกจนลนลาน จะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังตัว กลัวลูกจะดุ กลัวลูกด่า
ลูกบางคนตอนแรก ๆ ก็รักใคร่เอาใจใส่พ่อแม่ดี แต่พอไปได้ภรรยาสามี เลยลืมพ่อลืมแม่ไป ทุ่มเทความรักให้กับสามีภรรยาเสียหมด จนไม่มีรักเหลือไว้ให้พ่อแม่เสียเลย น่าเศร้า เข้าตำรา ต้นไม้ได้น้ำค้างแล้วก็ปลื้มลืมน้ำเดิม !
ถ้าอยู่ต่างบ้าน หมั่นไปเยี่ยมเยียนเนือง ๆ ถึงไม่มีเรื่องอะไรก็ไปให้ท่านเห็นหน้าบ่อย ๆ ก็ยังดี จะมีอะไรที่จะให้เกิดสุขใจเหมือนเห็นหน้าลูกของท่านเล่า ?
ถึงท่านไม่แสดงออกทางวาจา ในใจก็รู้สึกสดชื่นอย่าลืมว่า พ่อแม่ที่เป็นคนแก่ทั้งหลายเนื้อแท้ในใจของท่านยังต้องการความเอาใจใส่เอาอกเอาใจจากลูก ๆ อยู่ ไม่ควรปล่อยให้ท่านอยู่ตามประสาคนแก่    ตีตัวออกห่างประหนึ่งว่า เกลียดคนแก่ หรือเกลียดการจู้จี้ขี้บ่นของท่าน ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ จงนึกถึงตัวเมื่อยังเป็นเด็กอ่อน เคยทำให้ท่านต้องลำบากรำคาญมาแล้วสักเท่าไร ท่านสู้อุตส่าห์ประคบประหงมเรามาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยจนเติบโต ครั้นปีกกล้าขาแข็งแล้วจะมาทำให้ท่านต้องโทมนัสฐานเนรคุณ จึงผิดหลักสาธุนรธรรม  หรือธรรมของคนดี นับว่าเป็นลูกอัปรีย์จัญไรไร้คุณธรรมโดยแท้
พ่อแม่บางราย แม้จะมีลูกชายหญิงหลายคน ลูกเหล่านั้นก็ไม่อาจเลี้ยงพ่อแม่คนเดียวได้ เพราะความเกี่ยงงอน หรือรังเกียจกัน อันเนื่องมาจากความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ว่าคนนั้นได้สมบัติมาก คนนี้ได้น้อย อะไรทำนองนี้เป็นต้น แต่หานึกไม่ว่า เวลาพ่อแม่ท่านเลี้ยงเรามา ท่านไม่เคยคิดราคาเท่านั้นเท่านี้เลย