วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

การประหยัดพลังงานในบ้าน

ความรู้เกี่ยวกับ  : การประหยัดพลังงานในบ้าน
โดย : คุณจตุพร  พวงพงษ์
เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน 
สำนักงานคลังเขต 1

การประหยัดพลังงานในบ้าน
1.ออกแบบบ้านและหันทิศทางของบ้านให้เหมาะสม เลือกซื้อบ้านหรือออกแบบบ้านที่มีลักษณะโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีการระบายความร้อนได้ดี สำหรับทิศทางของบ้านควรหันหน้าไปในแนว ทิศเหนือ - ใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงอาทิตย์เข้าสู่ช่องเปิดของอาคารโดยตรง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้อุปกรณ์บังแดด เช่น ติดตั้งกันสาด หรือปลูกต้นไม้ช่วย และ สร้างบ้านด้วยวัสดุ ที่เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี ตั้งแต่หลังคาจนถึง กรอบผนัง

2.ปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อปรับอากาศและถ่ายเทอากาศ

3.เลือกซื้อแต่อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น เลือกซื้ออุปกรณ์ที่มีฉลากเบอร์ 5 เป็นต้น

4.ใช้น้ำอย่างประหยัด น้ำประปาที่เราใช้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ผ่านกระบวนการกรองและ ฆ่าเชื้อจนสะอาดและบริโภคได้ ซึ่งต้องอาศัยพลังงานในกระบวนการเหล่านั้น ดังนั้น การใช้น้ำอย่างประหยัดจึงเป็นการประหยัดพลังงานด้วย
- ใช้หัวก๊อกที่มีตัวลดอัตราการไหลของน้ำให้อ่อนลง
- ปิดก็อกน้ำในระหว่างแปรงฟัน สระผม หรือโกนหนวด
- ใช้ไม้กวาดในการกวาดพื้นแทนการใช้น้ำฉีดเพื่อทำความสะอาด
- ล้างรถด้วยน้ำถังและฟองน้ำ แทนการใช้สายยางฉีดน้ำ
- ใช้น้ำจากการซักล้าง หรือถูพื้น เพื่อรดน้ำต้นไม้แทนการใช้น้ำประปา โดยตรง

5.การใช้เตาก๊าซ
- ควรเลือกใช้ถังก๊าซที่มีเครื่องหมายสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)
- ควรใช้สายยางหรือสายพลาสติกชนิดยาว และมีความยาว 1-1.5 เมตร
- ตั้งเตาก๊าซให้ห่างถังก๊าซประมาณ 1-1.5 เมตร
- ปิดวาล์วที่หัวเตาและหัวปรับความดันเมื่อเลิกใช้

6.การใช้เตาถ่าน
- ควรเลือกใช้เตาถ่านชนิดที่มีประสิทธิภาพสูง
- เตรียมอาหารสด เครื่องปรุง และอุปกรณ์การทำอาหารให้พร้อมก่อนติดไฟ ไม่ควร ติดไฟรอนานเกินไปจะสิ้นเปลืองถ่าน
- เลือกขนาดของหม้อหรือกะทะให้เหมาะสมกับปริมาณอาหารที่จะปรุง รวมทั้ง ประเภทของอาหารที่จะปรุง
- ควรทุบถ่านให้มีขนาดพอเหมาะคือ ประมาณชิ้นละ 2-4 ซม.
- ไม่ควรใช้ถ่านมากจนล้นเตา
- อย่าใช้ถ่านที่เปียกชื้น จะติดไฟยากและสิ้นเปลือง
- ขจัดขี้เถ้าในรังผึ้งออกให้หมดก่อนที่จะติดไฟทุกครั้งจะได้เผาไหม้ถ่านได้ดี

7.การใช้หลอดแสงสว่าง
- ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน
- หมั่นทำความสะอาดหลอดแสงสว่างและโคมไฟ
- ใช้แสงสว่างเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ต้องใช้กับสถานที่ที่ต้องเปิดไฟทิ้งไว้ตลอดคืน ควรใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์
- บริเวณใดที่เคยใช้หลอดไส้ ควรหันมาเปลี่ยนเป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์
- ใช้หลอดประหยัดพลังงาน เช่น หลอดผอม (หลอดฟลูออเรสเซนต์) ซึ่ง ประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดไส้ 4-5 เท่า และมีอายุการใช้งานนานกว่าหลอด ไส้ 8 เท่า
- ใช้แสงธรรมชาติแทนการเปิดหลอดแสงสว่าง เช่น ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องน้ำ ทางเดิน เป็นต้น
- ควรทาสีผนังหรือเลือกวัสดุพื้นห้องที่เป็นสีอ่อนๆเพื่อช่วยสะท้อนแสงสว่างภายในห้อง

8.การใช้ตู้เย็น
- เลือกใช้ตูเย็นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
- เลือกใช้แบบที่มีฉนวนกันความร้อนชนิดโฟมฉีด
- ตู้เย็นแบบประตูเดียว จะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าแบบ 2 ประตู ในขนาดที่เท่ากัน
 - ใช้ขนาดให้เหมาะสมกับครอบครัว เช่น ครอบครัวขนาด 3-4 คน ควรใช้ตู้เย็น ขนาด4.5-6 คิว ท ควรตั้งให้ห่างจากฝาผนังไม่น้อยกว่า 15 ซม. และมีอากาศถ่ายเทได้ดี
- ตั้งสวิตช์ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพราะยิ่งตั้งอุณหภูมิให้เย็นมากก็ยิ่งสิ้นเปลืองไฟฟ้ามาก
- อย่าเปิดตู้เย็นบ่อยหรือเปิดไว้นานๆ
- อย่านำของที่ยังมีความร้อนเข้าไปแช่
- ละลายน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอ
- หมั่นทำความสะอาดแผงความร้อนที่อยู่ด้านหลังของตู้เย็น

9.การใช้เครื่องปรับอากาศ
- เลือกขนาดที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ห้องที่มีความสูงไม่เกิน 3 เมตร และมีพื้นที่ ห้องขนาด 13-15 ต.ร.ม. ควรใช้ขนาด 7,000-9,000 บีทียู/ชั่วโมง ขนาดพื้นที่ 16-17 ต.ร.ม. ควรใช้ขนาด 9,000-11,000 บีทียู/ชั่วโมง เป็นต้น
- ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดซึ่งแสดงด้วย EER (Energy Efficiency Ratio) คือ อัตราส่วนระหว่างความสามารถในการให้ความเย็น ของเครื่อง (บีทียู/ชั่วโมง) ต่อกำลังไฟฟ้า (วัตต์) ซื้อเครื่องที่มีค่า EER สูงซึ่ง จะให้ความเย็นมากแต่เสียค่าใช้จ่ายไฟฟ้าน้อยกว่าเครื่องที่มีค่า EER ต่ำ
- ตั้งปุ่มปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม อย่าปรับอุณหภูมิให้ต่ำเกินไป โดยปกติ ควรตั้งที่อุณหภูมิ 25 ํC
- หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศไม่ให้มีฝุ่นจับ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลง
- เลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

10.การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นสำหรับอาบน้ำ
- ควรเลือกชนิดที่มีที่กักเก็บตุนน้ำร้อน เพราะจะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าแบบน้ำไหลผ่านขดลวดความร้อน
- เลือกขนาดของเครื่องให้เหมาะสมกับครอบครัว เนื่องจากเป็นเครื่องที่ใช้ไฟฟ้ามาก
- ไม่ควรเปิดเครื่องตลอดเวลา โดยเฉพาะในเวลาถูสบู่ในขณะอาบน้ำ
- ปิดวาล์วและสวิตช์ทันทีเมื่อเลิกใช้งาน

11.การใช้กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าหรือกาต้มน้ำไฟฟ้า
- ใส่น้ำให้พอเหมาะและถ้าต้มน้ำต่อเนื่องควรมีน้ำบรรจุอยู่เสมอ
- เมื่อเลิกใช้ควรถอดปลั๊กทันที โดยเฉพาะเมื่อน้ำเดือด, เมื่อไม่มีคนอยู่ เพราะนอกจากจะไม่ประหยัดพลังงานแล้วยังอาจทำให้เกิด อันตรายได้

12.การใช้เตาไฟฟ้าและเตาอบ
- ควรเตรียมเครื่องประกอบอาหารให้พร้อมรวมทั้งจัดลำดับการปรุงอาหาร
- ไม่ควรเปิดเตาไฟฟ้ารอไว้นานเกินไป
- ใช้ภาชนะประกอบอาหารให้เหมาะสม
- ภาชนะควรมีก้นแบนราบ จะได้สัมผัสความร้อนได้ทั่วถึง
- ภาชนะไม่ควรมีขนาดเล็กกว่าเตา จะสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
- ภาชนะควรมีฝาครอบปิดขณะหุง จะช่วยให้อาหารสุกเร็วขึ้น
- ปิดสวิตช์เตาไฟฟ้าก่อนเสร็จสิ้นการทำอาหาร ดึงปลั๊กออกทันทีเมื่อเลิกใช้
- ควรเตรียมอาหารที่จะอบหลายๆ อย่างให้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน
- อย่าเปิดเตาอบบ่อยๆ เพราะการเปิดประตูแต่ละครั้งจะสูญเสียพลังงาน ประมาณร้อยละ 20

13.การใช้เตารีดไฟฟ้า
- ควรตั้งอุณหภูมิ (ความร้อน) ให้เหมาะสมกับชนิดผ้าและแบ่งผ้าชนิดเดียวกันไว้ด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยง   การปรับเปลี่ยนการตั้งอุณหภูมิบ่อยครั้ง
- ควรรวบรวมผ้าไว้รีดคราวละมากๆ และพรมน้ำให้หมดทุกตัวก่อนจะรีดผ้า
- อย่าพรมน้ำจนเปียก เพราะจะทำให้ต้องรีดผ้านานกว่าเดิมสิ้นเปลืองไฟฟ้า
- ก่อนรีดผ้าเสร็จควรดึงปลั๊กก่อน เนื่องจากยังมีความร้อนเหลืออยู่พอที่จะรีดต่อไปได้
- เวลาตากผ้าควรจัดรูปทรงผ้าและดึงให้ตึง เพื่อให้เสื้อผ้ายับน้อยที่สุด จะทำให้รีดง่าย และประหยัดไฟฟ้า

14.การใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติ
- เลือกใช้ขนาดที่เหมาะสมกับครอบครัว
- ไม่ควรใช้เวลาในการอุ่นข้าวให้นานเกินควร ถอดปลั๊กออกทันทีที่เลิกใช้งาน

15.การใช้โทรทัศน์
- โทรทัศน์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้เสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
- โทรทัศน์ที่มีระบบรีโมทคอนโทรลจะใช้ไฟฟ้ามากกว่าระบบทั่วไปในขนาดเดียวกัน เพราะมีวงจรเพิ่มและใช้ไฟฟ้าตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ใช้เครื่อง
- ไม่ควรเสียบปลั๊กทิ้งไว้ ถ้าเสียบปลั๊กทิ้งไว้จะใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา
- โทรทัศน์ขาวดำจะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าโทรทัศน์สี
- ปิดเมื่อไม่มีคนดู
- ควรตั้งเวลาปิดโทรทัศน์โดยอัตโนมัติ สำหรับเครื่องที่มีระบบตั้งเวลาปิด เพราะ จะช่วยประหยัดไฟสำหรับผู้ที่มักจะนอนไม่หลับหน้าโทรทัศน์หรือลืมปิดเครื่อง

16.การใช้เครื่องซักผ้า
- แช่ผ้าก่อนเขาเครื่อง ทำให้ง่ายต่อการซักผ้า
- ผ้าที่ซักให้เป็นไปตามพิกัดของเครื่อง อย่าใส่ผ้ามากเกินกำลังของเครื่อง หรือซักจำนวนน้อยเกินไป
- ไม่ควรใช้เครื่องซักผ้าแบบที่มีเครื่องอบแห้งด้วยไฟฟ้าในตัว เพราะสิ้นเปลืองไฟฟ้ามาก ควรตากผ้ากับแสงแดด หรือในที่มีลมโกรก

17.การใช้เครื่องสูบน้ำ
- ควรเลือกซื้อเครื่องสูบที่ถังความดันของเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่พอสมควร ถ้าเล็ก เกินไป สวิตช์อัตโนมัติ จะทำงานบ่อยขึ้น มอเตอร์ทำงานมากขึ้นสิ้นเปลืองไฟฟ้า
- ควรสร้างบ่อพักน้ำไว้ระดับพื้นดิน
- หมั่นดูแลท่อน้ำประปา และถังพักน้ำของชักโครก อย่าให้ชำรุดหรือรั่ว เพราะจะทำ ให้เครื่องสูบน้ำทำงานบ่อย สิ้นเปลืองไฟฟ้า
- ควรบำรุงรักษาเครื่องให้ดีอยู่เสมอ

อาหารไทยพิชิตความแก่

ความรู้เกี่ยวกับ : อาหารไทยพิชิตความแก่
โดย : นางกนกพร   มีสุข
          นักวิชาการคลังชำนาญการ
          หน่วยงาน สำนักงานคลังเขต 1
พูดถึงอาหารไทยยังไม่ต้องระบุเมนู น้ำลายก็มาสอที่ปากซะแล้วแต่พอมารู้ว่า "อาหารไทย พิชิตความแก่" ได้    จึงต้องรีบมากระซิบบอกต่อโดยพลัน วันนี้เรามี 10 เมนูอาหารไทย ที่มีสรรพคุณในการช่วยให้ความชรามาช้าลงไปอีกนิด   โดย นพ. กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรวัฒน์ หรือชะลอชรา (Anti-aging Medicine)
ส้มตำไก่ย่าง
ที่สุดของอาหารต้านชรา ในส้มตำมี "สุดยอดวิตามิน" อย่าง “มะเขือเทศ” ที่ช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากและเต้านมส่วน "มะละกอ" นั้นช่วย “ล้างพิษ” ให้กับลำไส้ทั้งเล็กและใหญ่ในมะละกอยังมีน้ำย่อยชื่อ “ปาเปน” เป็นน้ำยาทำความสะอาดลำไส้ให้ปลอดคราบโปรตีนเกาะ ส่วนการรับประทานคู่กับ "ไก่ย่าง" นั้นมีข้อดี คือ ทำให้ไม่ขาดโปรตีน และที่สำคัญคือ “ไม่อ้วน” เท่าการกินกับข้าวเหนียวหรือกินแบบหนักแป้ง
แกงเขียวหวานไก่
ในน้ำแกงเขียวหวานเป็น "อาหารทิพย์ อุดมด้วยวิตามิน "น้ำแกง" เข้มข้นหอมมันคือ “ซุปวิตามินชั้นดี” ที่มีทั้ง วิตามินเอ, ดี, อี และเค ที่ละลายอยู่ในกะทิส่วนใน "เนื้อไก่" ก็มี "วิตามินบี" ที่ช่วย "บำรุงสมอง" อีกทั้งในพริกที่ใส่เป็นเครื่องแกงก็มี “กรดแคปไซซิน” กับ “เบต้าแคโรทีน” ที่ช่วยบำรุงสายตา

เมี่ยงปลาทู
เมี่ยงปลาทู ได้ทั้ง “ซัลโฟราเฟน” กลุ่มสารต้านมะเร็งจาก "ใบคะน้าห่อเมี่ยง" ถ้าให้ดีต้องหยิบ “มะเขือเทศราชินี” หั่นเสี้ยวใส่เข้าไป ช่วยผิวพรรณสวยส่วนในเนื้อปลาทู มีทั้ง "กรดไขมันดี" และ “แอสตาแซนทิน” ที่กินเข้ากันเพราะวิตามินที่ว่านี้โดยมากละลายในไขมัน ถ้าท่านใส่ปลาทูทอดเข้าไปจะช่วยให้จับกันได้ดีขึ้น



ผัดไท
โดยเฉพาะผัดไทแบบต้นตำรับคลาสสิก ที่สืบทอดตำนานแต่ครั้งรัฐนิยมของท่านจอมพล ป. ในผัดไทจะมีทั้ง "ถั่วงอก" ที่ถือเป็นอาหารมงคลรับปีใหม่ด้วย หมายถึง การงอกงามของสิ่งใหม่ๆ ในถั่วงอกมี “วิตามินซี” อยู่มากนอกจากนั้น "ถั่วและเต้าหู้" ในผัดไทยังอุดมไปด้วย วิตามินอี, แคลเซียม และสาร “พฤกษฮอร์โมน” ที่เป็น    ไฟโตเอสโตรเจน "ป้องกันมะเร็ง" และ "ลดไขมัน"  โดยมีข้อแม้คืออย่าหนัก “เส้น” มากไป
ข้าวหอมนิล
ข้าวไทยสีม่วงเข้ม ที่อัดแน่นอยู่ในสีสวยนั่นคือสาร “พฤกษเคมี” ที่มี พลังมากกว่า "วิตามินอีกับซีรวมกัน" เสียอีกที่สำคัญเอามาจัดเมนูคู่ปีใหม่ได้ง่ายๆ ตัวอย่างเช่น น้ำพริกปลาทูข้าวหอมนิลหรือจะกินคู่กับไข่เจียวร้อนๆ ก็ยังไหว
ข้าวตอกน้ำกะทิ
 
ขนมไทยช่วงปีใหม่ที่ถูกลืมไปนาน ข้าวตอกมี “เส้นใย” ช่วยในเรื่องไขมันและน้ำตาลได้ส่วนวิตามินข้างในนั้นก็เป็น "แอนตี้ออกซิแดนท์"
ข้าวต้มมัดหรือข้าวเหนียวปิ้งใส่ไส้
เป็นเมนูที่อยู่ท้องและมีประโยชน์ครบเครื่อง เพราะมีทั้ง 5 หมู่อยู่ในนั้น ส่วนวิตามิน ก็มีทั้งเอ, บี, ซี นอกจากนั้นใน "กล้วย" ยังมีเส้นใยกับสารกลุ่มฟีนอลชื่อ “กรดเอลลาจิก” ช่วย "ต้านมะเร็ง" และ "เนื้องอก" ได้
ข้าวเหนียวดำใส่น้ำกะทิ
ขนมชนิดนี้ มีเครื่องเคราให้ใส่เพิ่มได้เยอะ ไม่ว่าจะเผือก, ลำไย, ลูกเดือย และธัญพืชอื่นๆ ซึ่งถือเป็น "แหล่งรวมไฟเบอร์ชั้นสูง" เพราะ "ช่วยขัดล้างตั้งแต่หลอดอาหารลงมาถึงลำไส้ใหญ่" ส่วนตัว "ข้าวเหนียวดำ" เองก็มี “วิตามินอี” และ “ธาตุเหล็ก” สูงมากรวมถึง “ธาตุม่วงต้านร่วงโรย(OPCs)” ก็มี
ข้าวโพดม่วง
หรือ “ข้าวโพดทับทิมสยาม” ประกอบด้วยคุณประโยชน์มากมายทั้ง วิตามินบำรุงตาอย่าง “ลูทีน” กับ “ซีแซนทิน” และ ธาตุม่วง
น้ำสมุนไพร
เช่น น้ำอัญชัน, กระเจี๊ยบ, น้ำย่านาง, น้ำใบบัวบก น้ำเหล่านี้ถือเป็น "น้ำวิตามินขั้นเทพ" รวมวิตามินระดับ    “ซุปตา” อย่างแท้จริง ตั้งแต่ "อัญชัน" มี "วิตามินสีม่วง" ที่ช่วยปกป้องผิวและบำรุงตับ ส่วน "น้ำกระเจี๊ยบ" ก็มี "วิตามินซีและเอ" ช่วยบำรุงไตได้ ส่วน "น้ำใบย่านางกับใบบัวบก" ยิ่งดีใหญ่ เพราะประกอบด้วย “คลอโรฟิลล์” ที่หลายคนใฝ่ฝันหาและยังมี “กลูต้าไทโอน” ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระขั้นปราบเซียน
อาหารไทยอยู่คู่กับวิถีชิวตของคนไทยและยังเป็นเมนูถูกลิ้น บวกกับกินแล้วช่วยให้แก่ช้าลงอีกด้วยแบบนี้ งั้นก็ขอให้ทุกท่าน Enjoy Eating กันนะคะ

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2558

16 เทคนิคดูแลบ้านให้ปลอดภัยก่อนวันหยุดยาว

ความรู้ที่แบ่งปัน  :  16 เทคนิคดูแลบ้านให้ปลอดภัยก่อนวันหยุดยาว
โดย : นางเพ็ญประภา  พนิชการ  
นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน สำนักงานคลังเขต 1

16 เทคนิคดูแลบ้านให้ปลอดภัยก่อนวันหยุดยาว
เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่หลายๆ คนมักจินตนาการเอาเองว่าเป็นเดือนที่ไม่ต้องทำงาน เป็นเดือนแห่งการพักผ่อน เนื่องจากมีวันหยุดแบบต่อเนื่องอยู่ในทุกช่วงของเดือน บางคนแอบเก็บวันลาพักร้อนที่ยังไม่ได้ใช้ เพื่อมาใช้ปลายปี รวมไปถึงช่วงปลายปีต่อเนื่องปีใหม่ของปีนี้ ก็มีวันหยุดหลายวัน ทำให้หลายท่านคิดวางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ก่อนจะเดินทางท่านควรจัดการบ้านให้เรียบร้อย ปลอดภัย ดังนี้
1.อย่าป่าวประกาศว่าคุณจะไม่อยู่บ้าน โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้โลกออนไลน์รวดเร็ว ทั่วถึง บางคนเผลอดีใจจนลืมตัว ประกาศลงบนโลกออนไลน์ว่าตัวเองและครอบครัวจะได้หยุดยาวไปเที่ยวจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ หรือบางคนระหว่างเที่ยวๆ อยู่ก็ไม่วายถ่ายรูปลง facebook,IG,Twitter  แบบนี้ใครๆ ก็รู้หมดว่าบ้านของคุณไม่มีใครอยู่เลย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก เรื่องแบบนี้เก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัวดีกว่า
2.อย่าแสดงให้คนอื่นรู้ว่าบ้านคุณไม่มีใครอยู่ จดหมายหรือเอกสารในกล่องรับจดหมายหน้าบ้านที่เต็มจนล้น เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้ไม่มีใครอยู่ ทำให้พวกมิจฉาชีพรู้โดยทันทีว่าจะเลือกบ้านคุณเป็นเป้าหมาย ดังนั้นถ้าจะไม่อยู่บ้านหลายวันคุณควรฝากเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ไว้ใจได้ ช่วยเก็บจดหมายหรือเอกสารหน้าบ้านแทนคุณ เพื่อไม่ให้กล่องจดหมายกลายเป็นสัญญาณเรียกโจรเข้าบ้าน
3.ของมีค่าเก็บไว้ที่อื่น บางคนชอบเก็บของสำคัญไว้ที่บ้าน แต่หากบ้านจะต้องถูกทิ้งร้างไว้หลายวัน ทรัพย์สินมีค่าประเภททองคำ พระเครื่อง หรือเอกสารสำคัญต่างๆ ควรนำไปฝากธนาคาร ญาติ หรือคนในครอบครัวที่เราไว้วางใจ นอกจากนั้นอาจเช่าตู้เซฟธนาคารเพื่อเก็บของมีค่าเหล่านี้เอาไว้ในช่วงเวลาที่คุณไม่อยู่บ้านก็ได้ เพราะมันย่อมดีกว่าการทิ้งทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ในบ้านเฉยๆ
4.ปิดระบบไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น หากเราต้องทิ้งบ้านไปหลายๆ วัน ควรปิดสวิตซ์ไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีการใช้งานในช่วงที่เราไม่อยู่เช่นทีวี เครื่องปรับอากาศ หรือบางคนอาจจะดึงปลั๊กตู้เย็นออก แต่ก่อนดึงควรเคลียร์อาหารสดภายในตู้เย็นก่อนให้เรียบร้อย แต่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทอาจไม่จำเป็นต้องสับสวิตซ์เช่นตู้ปลาที่ใช้เครื่องปั้มอากาศ การปิดสวิตซ์ไฟฟ้าในบ้านจะช่วยทั้งเรื่องการประหยัดไฟ และความปลอดภัยภายในบ้าน
5.เปิดไฟหลอกว่ามีคนอยู่บ้าน การเปิดไฟสว่างไว้นอกบ้านเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยหลอกให้โจรคิดว่าที่บ้านยังมี  คนอยู่ เดี๋ยวนี้มีหลอดไฟกันขโมยที่ทำงานโดยใช้ระบบ Sensor แสงอาทิตย์ที่สามารถเปิด-ปิดได้เองโดยอัตโนมัติ เพราะหลอดไฟนี้จะติดเองในเวลากลางคืน และดับเองในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ หรือจะใช้ตัวช่วยเป็นหลอดไฟที่สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดได้เองแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้แสงสว่างตอนกลางคืนในตอนที่คุณไม่อยู่ ยังจะช่วยให้เพื่อนบ้านหรือคนในละแวกนั้นมองเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณบ้านของคุณด้วย
6.ปิดวาล์วน้ำปั๊มน้ำ ในช่วงที่เราไม่อยู่ ไม่น่าจะมีการใช้น้ำภายในบ้าน ดังนั้นควรปิดวาล์วปั๊มน้ำให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันท่อน้ำแตก หรือรั่วซึมในระหว่างที่เราไม่อยู่บ้านหลายวัน
7.ล็อคประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย สำรวจบานประตูหน้าต่างทุกบานว่าคุณได้ปิดล็อคเรียบร้อยแล้ว แม้แต่บานหน้าต่างเล็กๆ ในห้องน้ำที่ปกติทำหน้าที่ระบายอากาศ เพราะแม้จะเป็นเพียงช่องที่มีขนาดไม่กว้างนัก แต่สำหรับโจรมืออาชีพเขาก็สามารถปีนเข้ามาได้อยู่ดี
8.ติดตั้งเครื่องรดน้ำต้นไม้ ถึงแม้เราจะไม่อยู่บ้าน แต่ต้นไม้ก็ยังต้องการน้ำ ดังนั้นเมื่อคุณจะไม่อยู่บ้านนานๆ ควรติดตั้งเครื่องรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ หรือถ้าเป็นไม้กระถางเล็กๆ ในบ้าน เราอาจรดน้ำให้ชุ่มที่สุดก่อนที่เราจะเดินทางไปต่างจังหวัด
9.หาบ้านชั่วคราวให้สัตว์เลี้ยง บางคนอาจไม่ได้นำสัตว์เลี้ยงไปด้วย ดังนั้นควรหาสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยงของคุณ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานที่รับฝากสัตว์เลี้ยงให้บริการมากมายในราคาที่แตกต่างกันออกไป
10. ทำความสะอาดเสื้อผ้าในตะกร้าให้เรียบร้อย ก่อนจะเดินทางไปเที่ยวหลายวัน เสื้อผ้าที่ใช้แล้วทิ้งอยู่ในตะกร้าเป็นกองพะเนิน ควรนำไปทำความสะอาดให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นคราบสกปรกก็จะฝังแน่น   กลับมาแล้วเราจะทำความสะอาดได้ยากขึ้น
11. เก็บกวาดนอกบ้านให้เรียบร้อย สำหรับบ้านใครที่ปลูกต้นไม้ไว้เป็นจำนวนมาก ก่อนไปเที่ยวควรเก็บกวาดทำความสะอาดรอบๆ บ้านให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้ใบไม้ร่วง หญ้าขึ้นสูง เหมือนไม่มีคนดูแล เพราะนี่ก็เป็นอีกจุดสังเกตหนึ่ง ที่จะทำให้คนที่ผ่านไปผ่านมาคิดว่าบ้านหลังนี้ไม่มีใครอยู่ ซึ่งไม่ปลอดภัยเลย รวมทั้งข้าวของต่างๆ ที่เคยวางชิดขอบรั้ว และจะทำให้โจรใช้เป็นช่องทางปีนเข้าบ้านได้ ก็หาที่จัดวางเสียใหม่
12. ที่จอดรถในบ้านอย่าให้ว่าง เมื่อคุณไม่อยู่บ้าน ที่จอดรถของคุณก็จะว่าง ดังนั้นในช่วงเวลานี้อนุญาตให้เพื่อนบ้านของคุณที่ไว้ใจได้นำรถเข้ามาจอดไว้บ้างเป็นครั้งคราว จะเว้นวันจอดบ้างก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านหลังนี้ยังมีคนอยู่ เพราะที่จอดรถไม่ว่าง
13. เก็บสำเนาบัตรประชาชนแม่บ้าน คนสวน คนขับรถ สำหรับบ้านหลังไหนที่มีพนักงานเหล่านี้        คอยให้บริการทำความสะอาด ดูแลอำนวยความสะดวก เมื่อคุณต้องทิ้งบ้านไปหลายๆ วัน ควรเก็บสำเนาบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ รูปถ่ายของบุคคลเหล่านี้ไว้ให้เรียบร้อย เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่รู้ทางเข้า-ออก  ของบ้านคุณดีที่สุด รวมถึงรู้เวลาที่เจ้าของบ้านจะอยู่หรือไม่อยู่บ้านอีกด้วย หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ต้องสงสัย เราจะได้มีหลักฐานและข้อมูลเตรียมพร้อมไว้
14. ติดตั้งอุปกรณ์ช่วย สำหรับบางคนที่มักไม่ค่อยอยู่บ้าน หรือต้องเดินทางบ่อยๆ อาจติดกล้องวงจรปิด หรือสัญญาณกันขโมย สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยเรื่องความปลอดภัยในบ้านได้ระดับหนึ่ง
15. เลือก Taxi ที่ไว้ใจได้ ในวันเดินทาง ถ้าคุณต้องใช้บริการรถแท็กซี่ แนะนำให้เลือกแท็กซี่ที่คุณใช้บริการอยู่เป็นประจำและไว้ใจได้ หรือจะออกไปเรียกแท็กซี่ในจุดอื่น ที่ไม่ใช่หน้าบ้านของคุณโดยตรง เพราะหากแท็กซี่ที่อยู่ในคราบของโจรเห็นว่าคุณขนกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ นั่นแสดงว่าคุณจะไม่อยู่บ้านอีกหลายวัน
16. ฝากบ้านไว้กับเพื่อนบ้าน หรือตำรวจ ถึงอย่างไรเพื่อนบ้านก็ยังเป็นตัวช่วยที่ดีเสมอ ดังนั้นถ้าเรา         มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน เราอาจขอความช่วยเหลือให้เขาช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลบ้านให้ในระหว่างที่เราไม่อยู่ หรือเราอาจจะเข้าร่วมโครงการ “ฝากบ้านไว้กับตำรวจ” ก็ได้