วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วจะได้รับอะไรบ้าง





ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางพูนทรัพย์  บวรนีรนาถ   
ตำแหน่ง :  นักวิชาการคลังชำนาญการ
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางนวลจันทร์  วงศ์ทศพร
ตำแหน่ง :  เจ้าพนักงานการคลังชำนาญงาน
สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ

ความรู้ที่แบ่งปัน : เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วจะได้รับอะไรบ้าง

เรื่องประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของข้าราชการเมื่อเกษียณอายุราชการ ขอแยกอธิบายเป็น 2 ประเภท คือ
1) ผู้เป็นสมาชิก กบข.
2) ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข
 
กรณีผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับบำนาญรายเดือน คือ ผู้ที่ยังไม่ต้องการตัดขาดจากระบบราชการยังประสงค์จะเป็นข้าราชการบำนาญและรัฐยังอุดหนุนจุนเจือในด้านสวัสดิการต่างๆ อยู่ต่อไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร สำหรับประโยชน์ที่ได้ คือ
1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินชดเชย เงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข. จัดให้ ท่านสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปีพร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปีของท่าน
2. เงินบำนาญรายเดือน คำนวณโดยการนำเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ และหารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70 % ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ตัวอย่าง เช่น  ท่านมีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และอายุราชการ 35 ปี คำนวณได้ ดังนี้  = 30,000 x 35   = 21,000
                         50
** เงินบำนาญที่จะได้รับต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือน และอายุราชการต้องไม่เกิน 35 ปี กรณีอายุราชการเกิน 35 ปี จะคิดให้แค่ 35 ปี เท่านั้น **
3. เงินบำเหน็จดำรงชีพ ท่านจะได้รับบำเหน็จดำรงชีพ 15 เท่า ของบำนาญรายเดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยแบ่งจ่าย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปลดเกษียณได้รับไม่เกิน 200,000 บาท และครั้งที่ 2 จะได้รับส่วนที่เหลือตามสิทธิเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์
จากกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น ท่านได้รับบำนาญรายเดือนๆ ละ 21,000 บาท ได้รับบำเหน็จดำรงชีพ 15 เท่า ของ 21,000 บาท เป็นเงิน 315,000 บาท จ่ายเมื่อปลดเกษียณ 200,000 บาท และเมื่ออายุครบ 65 ปี จะจ่ายส่วนที่เหลือให้อีก 115,000 บาท
4. เงินบำเหน็จตกทอด จะจ่ายให้เมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม โดยจะจ่ายบำเหน็จตกทอด 30 เท่า ของบำนาญรายเดือนให้แก่ทายาทตามกฎหมาย ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร
จากกรณีตัวอย่าง บำนาญรายเดือน 21,000 บาท คูณ 30 เท่า = 630,000 บาท หักบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่ได้รับไปแล้ว 315,000 บาท ดังนั้น ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด จำนวน 315,000 บาท (คำนวณได้เท่าไรก็รับไปทั้งหมดโดยไม่แบ่งจ่าย) กรณีไม่มีทายาทตามกฎหมายดังกล่าว จะจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้กับผู้ที่ ผู้ถึงแก่กรรมได้แสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้

กรณีผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับบำเหน็จ คือ ผู้ที่ต้องการรับเงินก้อนไปในคราวเดียว โดยประโยชน์  ที่จะได้รับ คือ
1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข. จัดให้ โดยสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข.   ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปี
2.  เงินบําเหน็จ คํานวณโดยนําเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ เช่น เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และมีอายุราชการ 35 ปี จะคํานวณบำเหน็จที่ได้รับได้เท่ากับ 30,000 x 35 = 1,050,000 บาท
กรณีผู้ไม่เป็นสมาชิก กบข. คิดง่ายๆ ดังนี้
บำนาญ ให้นำเงินเดือนๆ สุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50
ตัวอย่าง เช่น ท่านมีเงินเดือน ๆ สุดท้าย 36,020 บาท และมีอายุราชการ 35 ปี
คํานวณได้ ดังนี้ = 36,020 x 35   = 25,214
                                   50
สำหรับผู้ที่เลือกรับบํานาญจะได้เงินบําเหน็จดํารงชีพและเงินบําเหน็จตกทอดเช่นเดียวกับสมาชิก กบข.
บําเหน็จ ให้นําเงินเดือนๆ สุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ
ตัวอย่าง เช่น ท่านมีเงินเดือน 36,020 บาท อายุราชการ 35 ปี
คํานวณได้ ดังนี้ = 36,020 x 35   = 1,260,700
เงินบำเหน็จคำนวณได้เท่าไรก็จะได้รับไปทั้งหมดในคราวเดียว

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การขอรับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม




ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
..............นายพิศิษฐ์ แผ่วัฒนากุล.............
ตำแหน่ง :  ...นักวิชาการคลังชำนาญการ..............
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง) 
..............นายพิศิษฐ์ แผ่วัฒนากุล.............
ตำแหน่ง :  ...นักวิชาการคลังชำนาญการ..............
ความรู้เกี่ยวกับ  : การขอรับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ 
 การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม 
บทความนี้ผู้แบ่งปันได้คัดย่อและสรุปสาระสำคัญจากคู่มือ หนังสือสั่งการ และแผ่นพับของสำนักบริหารการรับ – จ่ายเงินภาครัฐ กรมบัญชีกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภารกิจด้านกฎหมายระเบียบการคลังของกรมบัญชีกลางให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระเบื้องต้น โดยเฉพาะข้าราชการที่บรรจุใหม่ ประกอบกับกฎหมายระเบียบการขอรับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรมมีประโยชน์โดยตรงกับประชาชนทุกคนที่ได้รับอันตราย เจ็บป่วย หรือถูกประทุษร้าย เนื่องมาจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม นอกจากนี้ ท่านสามารถสืบค้นรายละเอียดเนื้อหาสาระ อัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ และแบบคำขอรับเงินที่เกี่ยวข้องด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code)
1.ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ฯ
การช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ มิใช่จะเป็นหน้าที่ของข้าราชการ แต่เพียงฝ่ายเดียวประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ซึ่งมิได้มีฐานะเป็นข้าราชการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาพัฒนา ราษฎรอาสาสมัคร ฯลฯ ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการหรือปฏิบัติงานของชาติด้วยเหมือนกัน เมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับอันตราย ได้รับการเจ็บป่วยหรือถูกประทุษร้าย เนื่องมาจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติแล้ว แต่เดิมมาทางราชการไม่มีกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนให้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นการตอบแทนทางราชการได้ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตรากฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยขึ้นเรียกว่าพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2497 เป็นครั้งแรก ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ไว้ว่า จะต้องเป็นการได้รับอันตรายจนพิการเสียแขนหรือขา หูหนวกทั้งสองข้าง ตาบอดหรือได้รับการป่วยเจ็บ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจแล้วและแสดงว่าถึงทุพพลภาพ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ช่วยเหลือราชการ หมายความว่า ผู้ซึ่งช่วยเหลือราชการด้วยความสมัครใจของตน หรือผู้ซึ่ง  ถูกร้องขอจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งในการช่วยเหลือนั้นเป็นไปในลักษณะความยินยอมพร้อมใจของตนเองโดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ จากทางราชการ แต่ทางราชการอาจมีค่าใช้จ่ายให้เพื่อเป็นการตอบแทนการช่วยเหลือราชการนั้นได้ตามสมควร เช่น ในรูปของค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นต้นแต่มิได้ เป็นการจ่ายในลักษณะค่าตอบแทนการทำงานเป็นหลักแทนการช่วยเหลือราชการดังกล่าว
(2)ปฏิบัติงานของชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ ซึ่ง “ปฏิบัติงานของชาติ” หมายถึงการปฏิบัติงานในระดับงานที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ยกเว้นกรณีเป็นงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเพื่อความปลอดภัยของบุคคลนั้นและครอบครัว เช่นการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในด้านความมั่นคง หรือการปราบปรามผู้มีอิทธิพล จึงจำเป็นต้องปกปิดชื่อ หรือข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าวให้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ หากบุคคลดังกล่าวประสบอันตรายแล้วต้องอาศัยข้อมูลหรือหลักฐานจากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลักฐานในการได้รับการสงเคราะห์ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานของชาติ หมายรวมถึงการปฏิบัติงานของชาติในทุกด้านโดยมิได้หมายถึงเฉพาะในด้านความมั่นคงแต่เพียงอย่างเดียวการปฏิบัติงานของชาติอาจมีค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้ตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นไปในลักษณะของค่าตอบแทนซึ่งมีกฎหมายระเบียบ กำหนดไว้ชัดเจนให้จ่ายได้ เช่น เงินที่จ่ายเพื่อให้ไปปฏิบัติราชการลับปราบปรามผู้ก่อการร้าย เป็นต้น
(3) ช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
การปฏิบัติการตามหน้าที่ หมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ซึ่งมีกฎหมายกำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวไว้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติการตามหน้าที่ของข้าราชการ แต่เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวเมื่อได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากเหตุปฏิบัติการตามหน้าที่แล้วไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับข้าราชการจึงได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมายฉบับนี้
ส่วนการช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติไว้สรุปว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเอง หรือผู้อื่น หรือตามกฎหมายอื่นที่ได้กำหนดการช่วยเหลือไว้ เป็นต้น
(4) ปฏิบัติการตามหน้าที่มนุษยธรรม ในเมื่อการนั้นไม่เป็นการขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงานหมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งสมัครใจทำการช่วยเหลือบุคคลอื่นโดยการช่วยเหลือนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแต่เป็นการช่วยเหลือตามหน้าที่มนุษยธรรม ทั้งนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวต้องไม่เป็นการขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน เช่นเกิดเหตุเพลิงไหม้และมีบุคคลอื่นติดอยู่ในกอง
เพลิง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ระงับเหตุเพลิงไหม้และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในกองเพลิงอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ห้ามบุคคลผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ไม่เชื่อกลับเข้าช่วยเหลือจนทำให้ได้รับอันตราย เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการขัดคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน
    ถ้าผู้ใดมีกรณีที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนตามกฎหมายซึ่งการจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและกรณีผู้ประสบภัยถึงแก่ความตายก็เป็นหลักประกันแก่ทายาทผู้ประสบภัยอีกประการหนึ่งด้วย และกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นลำดับ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ประสบภัยซึ่งสูญเสียอวัยวะอื่นๆ  นอกจากแขน ขา หูหนวกทั้งสองข้าง หรือตาบอด ได้รับการสงเคราะห์ และในกรณีที่ผู้ประสบภัยต้องพิการทุพพลภาพขนาดหนักจนเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการประกอบอาชีพหรือการดำรงชีพ สมควรให้ได้รับเงินดำรงชีพเป็นรายเดือนด้วย
2.บุคคลที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์
          ตามพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการสงเคราะห์และจ่ายเงินสงเคราะห์ไว้ ดังนี้
1. ผู้ซึ่งถูกประทุษร้ายหรือป่วยเจ็บ
2. ผู้ซึ่งได้รับอันตรายถึงสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไป
3. ผู้ซึ่งทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บจนไม่สามารถใช้กำลังกายหรือความคิดประกอบอาชีพได้ตามปกติ
4. ผู้ซึ่งถึงแก่ความตาย
                                ทั้งนี้เพราะได้กระทำการอันใดอันหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ช่วยเหลือราชการ
2. ปฏิบัติงานของชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ
3. ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
4. การปฏิบัติการตามหน้าที่มนุษยธรรม ซึ่งพลเมืองดีพึงปฏิบัติและการปฏิบัติการนั้น ไม่ขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน เว้นแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจากความผิดของตนเอง
3. หลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะได้รับการสงเคราะห์ตามกรณี ดังนี้
    3.1 กรณีได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาล
    3.2 กรณีได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะและพิการทุพพลภาพ จะได้รับ
  3.2.1 ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ
  3.2.2 เงินชดเชย กรณีสูญเสียอวัยวะ ซึ่งเป็นเงินก้อนจ่ายตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดตาม
          ความสูญเสียของอวัยวะ เช่น แขนขาดข้างหนึ่งได้รับ 24.5 เท่าของอัตราเงินเดือน, ขาขาดข้างหนึ่งได้รับ 22.5 เท่าของอัตราเงินเดือน, มือขาดข้างหนึ่งได้รับ 18.5 เท่าของอัตราเงินเดือน
   3.3 กรณีทุพพลภาพขนาดหนักจนไม่สามารถใช้กำลังกาย หรือความคิดประกอบอาชีพได้ตามปกติ จะได้รับ
 3.3.1 ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ
 3.3.2 เงินชดเชย เป็นเงินก้อนที่จ่ายให้ผู้ประสบภัย  โดยจ่ายให้ 30 เท่าของอัตราเงินเดือน
 3.3.3 เงินดำรงชีพซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน คือ จะคิดเป็นร้อยละห้าสิบของอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ ณ วันประสบภัย
   3.4 กรณีถึงแก่ความตาย
-  เงินชดเชย จ่ายให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยจะได้รับเงินชดเชย 30 เท่าของอัตราเงินเดือนของ
   ข้าราชการพลเรือน ที่ใช้อยู่ ณ วันประสบภัย
-  เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ ให้แก่ทายาทผู้ซึ่งจัดการศพ หรือผู้จัดการศพ ได้รายละ 20,000.- บาท
หมายเหตุ
1. อัตราเงินเดือน หมายถึง อัตราเงินเดือนขั้นต่ำของบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการที่ใช้อยู่ขณะประสบภัย
2. ค่ารักษาพยาบาลให้นำบทบัญญัติว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
3. เงินชดเชยและเงินดำรงชีพ คือ เงินสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยฯ ซึ่งต้องนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ ฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติจ่าย สำหรับค่ารักษาพยาบาลและค่าจัดการศพผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มีอำนาจอนุมัติให้จ่ายได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการ ฯ
4. สถานที่ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ
    4.1 สถานที่ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ
 4.1.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร - ให้ยื่นแบบคำขอรับตามแบบคำขอรับความช่วยเหลือที่กำหนด พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบต่อผู้อำนวยการเขต ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ
4.1.2 สำหรับต่างจังหวัด - ให้ยื่นแบบคำขอรับตามแบบคำขอรับความช่วยเหลือที่กำหนด พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบต่อนายอำเภอ ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ  
5. แนวทางการดำเนินการและการพิจารณาอนุมัติ
     5.1 ประสบภัยหรือทายาท ยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์ ต่อผู้อำนวยการเขต / นายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุ
     5.2 ผู้อำนวยการเขต / นายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุสอบสวนข้อเท็จจริง และช่วยเหลือในการหา
      เอกสารหลักฐานประกอบคำขอ ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำขอ หรือขอขยายได้อีก 15 วัน  
      ก่อนส่งเรื่องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
     5.3 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาคำขอรับพร้อมหลักฐานภายใน  15      วันนับแต่ได้รับเรื่อง กรณีหลักฐานถูกต้องครบถ้วนจะส่งคำขอรับไปยังเลขานุการคณะกรรมการ
      สงเคราะห์ผู้ประสบภัย (อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ)
     5.4 เลขานุการคณะกรรมการฯ โดยอธิบดีกรมบัญชีกลาง หากเห็นว่าเข้าข่ายที่จะพิจารณาให้นำเสนอ  ต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 30 วัน นับแต่เอกสารหลักฐานครบถ้วน
     5.5 คณะกรรมการฯ พิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติจ่าย หรือไม่จ่าย ตามแต่กรณี
     5.6 ฝ่ายเลขานุการฯแจ้งให้กระทรวงการคลังสั่งจ่ายตามมติ ภายใน 15 วันนับจากวันที่คณะกรรมการมีมติ

ที่มาข้อมูล
1. สำนักบริหารการรับ – จ่ายเงินภาครัฐ กรมบัญชีกลาง    
     เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง http://www.cgd.go.th/wps/portal/cgd/home หัวข้อ เงินช่วยเหลือพลเมืองดี
2. กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  พระราชบัญญัติ, ระเบียบกระทรวงการคลัง และประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม โดยท่านสามารถสืบค้นรายละเอียดได้ทางคิวอาร์โค้ด