วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การขอรับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม




ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
..............นายพิศิษฐ์ แผ่วัฒนากุล.............
ตำแหน่ง :  ...นักวิชาการคลังชำนาญการ..............
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง) 
..............นายพิศิษฐ์ แผ่วัฒนากุล.............
ตำแหน่ง :  ...นักวิชาการคลังชำนาญการ..............
ความรู้เกี่ยวกับ  : การขอรับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ 
 การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม 
บทความนี้ผู้แบ่งปันได้คัดย่อและสรุปสาระสำคัญจากคู่มือ หนังสือสั่งการ และแผ่นพับของสำนักบริหารการรับ – จ่ายเงินภาครัฐ กรมบัญชีกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภารกิจด้านกฎหมายระเบียบการคลังของกรมบัญชีกลางให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระเบื้องต้น โดยเฉพาะข้าราชการที่บรรจุใหม่ ประกอบกับกฎหมายระเบียบการขอรับและการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรมมีประโยชน์โดยตรงกับประชาชนทุกคนที่ได้รับอันตราย เจ็บป่วย หรือถูกประทุษร้าย เนื่องมาจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม นอกจากนี้ ท่านสามารถสืบค้นรายละเอียดเนื้อหาสาระ อัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ และแบบคำขอรับเงินที่เกี่ยวข้องด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code)
1.ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ฯ
การช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ มิใช่จะเป็นหน้าที่ของข้าราชการ แต่เพียงฝ่ายเดียวประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ซึ่งมิได้มีฐานะเป็นข้าราชการ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาพัฒนา ราษฎรอาสาสมัคร ฯลฯ ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการหรือปฏิบัติงานของชาติด้วยเหมือนกัน เมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับอันตราย ได้รับการเจ็บป่วยหรือถูกประทุษร้าย เนื่องมาจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติแล้ว แต่เดิมมาทางราชการไม่มีกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนให้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นการตอบแทนทางราชการได้ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตรากฎหมายว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยขึ้นเรียกว่าพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2497 เป็นครั้งแรก ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสงเคราะห์ไว้ว่า จะต้องเป็นการได้รับอันตรายจนพิการเสียแขนหรือขา หูหนวกทั้งสองข้าง ตาบอดหรือได้รับการป่วยเจ็บ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจแล้วและแสดงว่าถึงทุพพลภาพ เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ช่วยเหลือราชการ หมายความว่า ผู้ซึ่งช่วยเหลือราชการด้วยความสมัครใจของตน หรือผู้ซึ่ง  ถูกร้องขอจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งในการช่วยเหลือนั้นเป็นไปในลักษณะความยินยอมพร้อมใจของตนเองโดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ จากทางราชการ แต่ทางราชการอาจมีค่าใช้จ่ายให้เพื่อเป็นการตอบแทนการช่วยเหลือราชการนั้นได้ตามสมควร เช่น ในรูปของค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นต้นแต่มิได้ เป็นการจ่ายในลักษณะค่าตอบแทนการทำงานเป็นหลักแทนการช่วยเหลือราชการดังกล่าว
(2)ปฏิบัติงานของชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ ซึ่ง “ปฏิบัติงานของชาติ” หมายถึงการปฏิบัติงานในระดับงานที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ยกเว้นกรณีเป็นงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเพื่อความปลอดภัยของบุคคลนั้นและครอบครัว เช่นการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในด้านความมั่นคง หรือการปราบปรามผู้มีอิทธิพล จึงจำเป็นต้องปกปิดชื่อ หรือข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าวให้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ หากบุคคลดังกล่าวประสบอันตรายแล้วต้องอาศัยข้อมูลหรือหลักฐานจากบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหลักฐานในการได้รับการสงเคราะห์ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานของชาติ หมายรวมถึงการปฏิบัติงานของชาติในทุกด้านโดยมิได้หมายถึงเฉพาะในด้านความมั่นคงแต่เพียงอย่างเดียวการปฏิบัติงานของชาติอาจมีค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้ตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นไปในลักษณะของค่าตอบแทนซึ่งมีกฎหมายระเบียบ กำหนดไว้ชัดเจนให้จ่ายได้ เช่น เงินที่จ่ายเพื่อให้ไปปฏิบัติราชการลับปราบปรามผู้ก่อการร้าย เป็นต้น
(3) ช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
การปฏิบัติการตามหน้าที่ หมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ซึ่งมีกฎหมายกำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวไว้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติการตามหน้าที่ของข้าราชการ แต่เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวเมื่อได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากเหตุปฏิบัติการตามหน้าที่แล้วไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับข้าราชการจึงได้รับการสงเคราะห์ตามกฎหมายฉบับนี้
ส่วนการช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 บัญญัติไว้สรุปว่า ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเอง หรือผู้อื่น หรือตามกฎหมายอื่นที่ได้กำหนดการช่วยเหลือไว้ เป็นต้น
(4) ปฏิบัติการตามหน้าที่มนุษยธรรม ในเมื่อการนั้นไม่เป็นการขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงานหมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งสมัครใจทำการช่วยเหลือบุคคลอื่นโดยการช่วยเหลือนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแต่เป็นการช่วยเหลือตามหน้าที่มนุษยธรรม ทั้งนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวต้องไม่เป็นการขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน เช่นเกิดเหตุเพลิงไหม้และมีบุคคลอื่นติดอยู่ในกอง
เพลิง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ระงับเหตุเพลิงไหม้และให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในกองเพลิงอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ห้ามบุคคลผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ไม่เชื่อกลับเข้าช่วยเหลือจนทำให้ได้รับอันตราย เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการขัดคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน
    ถ้าผู้ใดมีกรณีที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือนตามกฎหมายซึ่งการจ่ายเงินสงเคราะห์ดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและกรณีผู้ประสบภัยถึงแก่ความตายก็เป็นหลักประกันแก่ทายาทผู้ประสบภัยอีกประการหนึ่งด้วย และกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นลำดับ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ประสบภัยซึ่งสูญเสียอวัยวะอื่นๆ  นอกจากแขน ขา หูหนวกทั้งสองข้าง หรือตาบอด ได้รับการสงเคราะห์ และในกรณีที่ผู้ประสบภัยต้องพิการทุพพลภาพขนาดหนักจนเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการประกอบอาชีพหรือการดำรงชีพ สมควรให้ได้รับเงินดำรงชีพเป็นรายเดือนด้วย
2.บุคคลที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์
          ตามพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. 2543 กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการสงเคราะห์และจ่ายเงินสงเคราะห์ไว้ ดังนี้
1. ผู้ซึ่งถูกประทุษร้ายหรือป่วยเจ็บ
2. ผู้ซึ่งได้รับอันตรายถึงสูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไป
3. ผู้ซึ่งทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บจนไม่สามารถใช้กำลังกายหรือความคิดประกอบอาชีพได้ตามปกติ
4. ผู้ซึ่งถึงแก่ความตาย
                                ทั้งนี้เพราะได้กระทำการอันใดอันหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ช่วยเหลือราชการ
2. ปฏิบัติงานของชาติตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการ
3. ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
4. การปฏิบัติการตามหน้าที่มนุษยธรรม ซึ่งพลเมืองดีพึงปฏิบัติและการปฏิบัติการนั้น ไม่ขัดกับคำสั่งโดยชอบของเจ้าพนักงาน เว้นแต่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือจากความผิดของตนเอง
3. หลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะได้รับการสงเคราะห์ตามกรณี ดังนี้
    3.1 กรณีได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาล
    3.2 กรณีได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะและพิการทุพพลภาพ จะได้รับ
  3.2.1 ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ
  3.2.2 เงินชดเชย กรณีสูญเสียอวัยวะ ซึ่งเป็นเงินก้อนจ่ายตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดตาม
          ความสูญเสียของอวัยวะ เช่น แขนขาดข้างหนึ่งได้รับ 24.5 เท่าของอัตราเงินเดือน, ขาขาดข้างหนึ่งได้รับ 22.5 เท่าของอัตราเงินเดือน, มือขาดข้างหนึ่งได้รับ 18.5 เท่าของอัตราเงินเดือน
   3.3 กรณีทุพพลภาพขนาดหนักจนไม่สามารถใช้กำลังกาย หรือความคิดประกอบอาชีพได้ตามปกติ จะได้รับ
 3.3.1 ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิเหมือนข้าราชการ
 3.3.2 เงินชดเชย เป็นเงินก้อนที่จ่ายให้ผู้ประสบภัย  โดยจ่ายให้ 30 เท่าของอัตราเงินเดือน
 3.3.3 เงินดำรงชีพซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน คือ จะคิดเป็นร้อยละห้าสิบของอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ ณ วันประสบภัย
   3.4 กรณีถึงแก่ความตาย
-  เงินชดเชย จ่ายให้แก่ทายาทผู้ประสบภัยจะได้รับเงินชดเชย 30 เท่าของอัตราเงินเดือนของ
   ข้าราชการพลเรือน ที่ใช้อยู่ ณ วันประสบภัย
-  เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ ให้แก่ทายาทผู้ซึ่งจัดการศพ หรือผู้จัดการศพ ได้รายละ 20,000.- บาท
หมายเหตุ
1. อัตราเงินเดือน หมายถึง อัตราเงินเดือนขั้นต่ำของบัญชีเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการที่ใช้อยู่ขณะประสบภัย
2. ค่ารักษาพยาบาลให้นำบทบัญญัติว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
3. เงินชดเชยและเงินดำรงชีพ คือ เงินสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยฯ ซึ่งต้องนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ ฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติจ่าย สำหรับค่ารักษาพยาบาลและค่าจัดการศพผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มีอำนาจอนุมัติให้จ่ายได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการ ฯ
4. สถานที่ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ
    4.1 สถานที่ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ
 4.1.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร - ให้ยื่นแบบคำขอรับตามแบบคำขอรับความช่วยเหลือที่กำหนด พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบต่อผู้อำนวยการเขต ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ
4.1.2 สำหรับต่างจังหวัด - ให้ยื่นแบบคำขอรับตามแบบคำขอรับความช่วยเหลือที่กำหนด พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบต่อนายอำเภอ ซึ่งเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ  
5. แนวทางการดำเนินการและการพิจารณาอนุมัติ
     5.1 ประสบภัยหรือทายาท ยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์ ต่อผู้อำนวยการเขต / นายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุ
     5.2 ผู้อำนวยการเขต / นายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุสอบสวนข้อเท็จจริง และช่วยเหลือในการหา
      เอกสารหลักฐานประกอบคำขอ ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับคำขอ หรือขอขยายได้อีก 15 วัน  
      ก่อนส่งเรื่องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
     5.3 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาคำขอรับพร้อมหลักฐานภายใน  15      วันนับแต่ได้รับเรื่อง กรณีหลักฐานถูกต้องครบถ้วนจะส่งคำขอรับไปยังเลขานุการคณะกรรมการ
      สงเคราะห์ผู้ประสบภัย (อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ)
     5.4 เลขานุการคณะกรรมการฯ โดยอธิบดีกรมบัญชีกลาง หากเห็นว่าเข้าข่ายที่จะพิจารณาให้นำเสนอ  ต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 30 วัน นับแต่เอกสารหลักฐานครบถ้วน
     5.5 คณะกรรมการฯ พิจารณาเพื่อมีมติอนุมัติจ่าย หรือไม่จ่าย ตามแต่กรณี
     5.6 ฝ่ายเลขานุการฯแจ้งให้กระทรวงการคลังสั่งจ่ายตามมติ ภายใน 15 วันนับจากวันที่คณะกรรมการมีมติ

ที่มาข้อมูล
1. สำนักบริหารการรับ – จ่ายเงินภาครัฐ กรมบัญชีกลาง    
     เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง http://www.cgd.go.th/wps/portal/cgd/home หัวข้อ เงินช่วยเหลือพลเมืองดี
2. กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  พระราชบัญญัติ, ระเบียบกระทรวงการคลัง และประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม โดยท่านสามารถสืบค้นรายละเอียดได้ทางคิวอาร์โค้ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น