วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่


ความรู้ที่แบ่งปัน : โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นางสาวนัจนันท์  ธนลาภไพรินทร์
เจ้าพนักงานการคลังชำนาญงาน 
หน่วยงานกองแผนงาน

มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร ?
มะเร็งลำไส้ใหญ่หมายถึงเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่เกิดพยาธิสภาพร้ายแรงภายใต้ปัจจัยต่างๆเช่นสภาพแวดล้อมหรือพันธุกรรมเป็นต้น ตำแหน่งที่เกิดโรคง่ายคือลำไส้ใหญ่และส่วนที่อยู่ระหว่างลำไส้ใหญ่
กับลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์ (sigmoidcolon) มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอัตราพบ รองลงมาจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งท่ออาหาร มีอัตรา พบสูงในบุคคลอายุระหว่าง 40 ถึง 50ปี ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุต่ำกว่า 40ปี มีประมาณ 15% อัตราพบระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง 2:1
สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอะไร ?
1. อาหาร:อาหารที่มีโปรตีนสูงและไขมันสูงและขาดใยอาหารเป็นปัจจัย เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
2. พันธุกรรม:หากพ่อแม่พี่น้องเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนในครอบครัว เดียวกันจะมีอัตราการพบสูงกว่าบุคคลปกติ
3. เนื้อโพลิบ (Polyp) :เนื้อโพลิบมักเกิดอยู่ที่ผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ ตรง เนื้อโพลิบที่ก่อให้เกิดมะเร็งเรียกว่า เนื้อโพลิบร้าย
4.โรคโคร์น (Crohn): หรือโรคแผลลำไส้ใหญ่อักเสบ: ผู้ป่วย โรคโคร์น หรือโรคแผลลำไส้ใหญ่อักเสบจะมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 30 เท่า
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงคือกลุ่มบุคคลไหน ?
1. ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเนื้อโพลิบ (Polyp)
2. ครอบครัวมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
3. กลุ่มบุคคลที่ตรวจเลือดพบมีเลือดแฝงกับอุจจาระตลอดเวลา
4. ผู้ป่วยแผลลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
5. กลุ่มบุคคลที่ท้องร่วงเรื้อรังหรือท้องผูกเรื้อรังบ่อย
อาการแสดงออกของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอะไร ?
1.อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสีแดงสดหรือสีแดงเข้ม
2.ท้องอืด ปวดท้อง การย่อยอาหารไม่ดี การอยากอาหารลดลง
3.การเปลี่ยนในพฤติกรรมการถ่ายอุจจาระ มีอาการอยากถ่ายตลอดเวลา หรือมีอาการท้องร่วงสลับกับท้องผูก
4.ลักษณะของอุจจาระไม่เหมือนปกติ เล็กลง หรือมีร่อง
5.มีอาการน้ำหนักลดและโลหิตจางโดยไม่รู้สาเหตุ
6.การมีแผลในทวารหนักและหายช้า ทวารหนักเจ็บอย่างต่อเนื่อง
7.เกิดอาการดีซ่าน ท้องบวม ตัวร่างกายบวมซึ่งอาการทั้งหมดเป็น อาการที่แสดงว่ามีการมะเร็งแพร่กระจายไปยังตับ


6 อาหารบำรุงสมองคนทำงาน


ความรู้เกี่ยวกับ  :  6 อาหารบำรุงสมองคนทำงาน 
โดย : นางสาวจรุวรรณ ทิมเมือง
หน่วยงาน  : สำนักงานคลังเขต 8
6 อาหารบำรุงสมองคนทำงาน

เพราะสมองเราทำงานหนักทุกวัน เราจึงต้องบำรุงรักษาสมองของเราให้ว่องไว ฉลาดปราดเปรื่องไปนาน ๆ ใครที่เริ่มหลง ๆ ลืม ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังหนุ่มยังสาว ต้องรีบดูแลสมองของคุณโดยด่วน ส่วนวิธีการก็ไม่ยากเย็นแต่อย่างใด เพียงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง ดังต่อไปนี้
1.สร้างเซลส์สมองด้วยโอเมก้า-3 
เซลส์สมองของเราส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยไขมันจำเป็นที่เรียกว่า โอเมก้า-3 ช่วยในการสร้างเสริมและซ่อมแซมเซลส์สมอง โดยเราสามารถหาโอเมก้า-3 ได้จากอาหารต่อไปนี้ 
-แซลมอน
-ปลาทูน่า
-น้ำมันแฟลกซีด
-น้ำมันคาโนลา
-วอลนัท
-จมูกข้าวสาลี
-ไข่
2.ปกป้องสมองด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ 
เมื่อเราอายุมากขึ้น อนุมูลอิสระในกระแสเลือดจะทำลายเซลส์สมองของเรา ถ้าเราไม่ต่อสู้กับมัน ความจำของเราก็จะค่อย ๆ เสื่อมลงไปตามกาลเวลา เราจึงต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจำพวก 
-บลูเบอร์รี่และผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่
-บร็อคโคลี่
-แครอท
-กระเทียม
-องุ่นแดง
-ปวยเล้ง
-ถั่วเหลือง
-ชา
-มะเขือเทศ
-โฮลเกรน
3.เพิ่มพลังสมองด้วยโปรตีนและไทโรซีน 
สมองของเราไม่ได้มีแค่เซลส์ประสาท แต่ยังมีสารสื่อประสาททำหน้าที่เหมือนแมสเซนเจอร์ส่งสัญญาณจากเซลล์ประสาทเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง หากเรามีสารสื่อประสาทน้อยเกินไป สมองเราก็จะทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เรามาเพิ่มสารสื่อประสาทด้วยการกินอาหารต่อไปนี้กันดีกว่า 
-ผลิตภัณฑ์จากนม 
-ไข่
-อาหารทะเล
-ถั่วเหลือง
4.หล่อเลี้ยงสมองด้วยน้ำ 
น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่แค่ร่างกายที่ต้องการน้ำ แต่รวมถึงสมองของเราด้วย เพราะการขาดน้ำมีผลต่อสมองทำให้ความสามารถในการจดจำลดลง ถ้าอยากสมองดีเราต้องดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตร หรือ 6 – 8 แก้วต่อวัน
5.บำรุงสมองด้วยวิตามินและเกลือแร่ 
ยังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง อาทิ 
-วิตามินบี 6 
-วิตามินบี 12
-วิตามินซี
-ธาตุเหล็ก
-แคลเซียม
6.ควบคุมการทำงานของสมองด้วยไฟเบอร์ 
ไฟเบอร์มีความสำคัญต่อสมองของเราอย่างมาก เพราะไฟเบอร์ช่วยในการทำงานของสมอง ควบคุมการดูดซึมน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ และในปริมาณที่เหมาะสม อาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่จะช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือดของเราได้ดี ได้แก่ 
-ผลไม้แห้ง เช่น แอพริคอต ลูกพรุน ลูกเกด
-ผัก เช่น บล็อคโคลี่ ถั่วเขียว ปวยเล้ง
-ถั่วต่าง ๆ 
-อัลมอนด์ และแฟลกซ์ซีด
-ผลไม้ เช่น อโวคาโด กีวี ส้ม ลูกแพร์ แอปเปิล 
-ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง
วิตามินและเกลือแร่เหล่านี้สามารถหาได้จากอาหารที่เรากินเข้าไปอยู่แล้ว แต่ก็สามารถเสริมได้ด้วยการกินวิตามินรวมพร้อมอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดี ทำให้ร่างกายและสมองนำวิตามินเหล่านี้ไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : www.pickthebrain.com



Project Audit การตรวจสอบโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อองค์กร


ความรู้เกี่ยวกับ  :  Project  Audit การตรวจสอบโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อองค์กร
โดย : นางสาวดวงกมล  ดวงงามยิ่ง  
หน่วยงาน  : กลุ่มตรวจสอบภายใน

Project  Audit การตรวจสอบโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อองค์กร
โครงการที่ดำเนินการในกิจการต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐจะมีขนาดของโครงการใหญ่ขึ้นและมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น  การทำความเข้าใจและกำหนดกระบวนการบริหารโครงการได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของการบริหารงานในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะการมีการตระหนักและระมัดระวังในการกำหนดวิธีการและขั้นตอนการบริหารโครงการอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีการคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐาน และแนวพึงปฏิบัติที่ดีเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการพัฒนา
ผลการดำเนินงานของโครงการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การรับรู้ว่าโครงการประสบความล้มเหลวหรือความสำเร็จอย่างเดียว ไม่ได้สร้างมูลค่าแก่องค์กรแต่อย่างใด หากไม่สามารถสรุปได้ว่าองค์กรได้บทเรียนอะไรบ้างจากโครงการที่ได้ดำเนินไป และจะแปลงบทเรียนเป็นพารามิเตอร์หรือปัจจัยหรือองค์กรความรู้ที่จะช่วยพัฒนาการบริหารโครงการต่อไปได้อย่างไร
การเลือกรูปแบบตรวจสอบ
รูปแบบของการตรวจสอบโครงการ (Project Audit) อาจจะเลือกทำได้ถึง 4 รูปแบบขึ้นอยู่กับวัฏจักรของโครงการ ดังนี้
(1)Pre-Audit  เป็นการตรวจสอบในระหว่างที่มีการกำหนดรายละเอียด ขอบเขตของการดำเนินงานโครงการเพื่อช่วยประกันว่า จะพิจารณาและเตรียมการนำมาตรฐานมาใช้ในการควบคุมโครงการและกระบวนการรายงานผลการดำเนินงานโครงการก่อนการนำเสนอขออนุมัติโครงการ นอกจากนั้นการตรวจสอบประเภทนี้ จะมุ่งเน้นการพิจารณาความพร้อมและความพอเพียงของกิจกรรม/แผนงานการถ่ายโอนความเสี่ยง การกำหนดขอบเขตโครงการที่เหมาะสมและแผนบริหารความเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น
(2)Mini-Audit เป็นการตรวจเพื่อประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ตลอดระยะเวลาการบริหารงานโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะดำเนินไปเรื่อย ๆ มีความก้าวหน้าตามที่คาดหมายเอาไว้
(3)Full-Audit  เป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามที่ได้รับการร้องขอ เพื่อทำการทบทวนอย่างละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และตรวจสอบปัญหาที่แท้จริงและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และนำเสนอกิจกรรมการแก้ไข
(4)Post Project Audit  เป็นการตรวจสอบเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสรุปให้เห็นว่า มีการดำเนินการใดบ้างในระหว่างที่ทำโครงการ และมีแนวทางในการพัฒนาโครงการที่จะเกิดใหม่ในอนาคตอย่างไร
ประโยชน์จากการตรวจสอบโครงการ
(1)  ได้มีการประเมินอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านการบริหารโครงการเทียบกับแนวทางพึงปฏิบัติ
(2)  ระบุประเด็นความเสี่ยงในการบริหารโครงการสำหรับโครงการใหม่หรือโครงการที่มีการดำเนินการจริง
(3)  ระบุแผนปฏิบัติการในแต่ละโครงการที่ผ่านการตรวจสอบ
(4)  ช่วยปรับปรุงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
หลักการโดยทั่วไปของการกำกับงานตรวจสอบโครงการ
งานตรวจสอบเป็นงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ กิจกรรมในแต่ละโครงการ ผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง กรอบการตรวจสอบโครงการจึงอาจจะเป็น
(1)การตรวจสอบสถานะงบการเงินของโครงการ หรือการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการ (Financial Statement Audit) วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบสถานะงบการเงินของโครงการ คือ พิจารณาว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ หรือต้นทุนของการจัดทำไว้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมและ/หรือผลผลิตของโครงการที่เกิดขึ้นตลอดจนกระบวนการเบิกจ่ายเงินมีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์
(2)การตรวจสอบการกำกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์  (Compliance Audit)
เป็นการตรวจสอบเพื่อทบทวนและทดสอบ (Review, Testing) รวมถึงประเมินระบบการควบคุมและขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในโครงการ รวมทั้งการกำกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่เป็นคำสั่งระเบียบปฏิบัติ 
การปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาและข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
(3) การตรวจสอบกิจกรรมและการปฏิบัติงานในโครงการ (Operational Audit) เป็นการตรวจสอบการดำเนินงานและเทคนิคการบริหารโครงการ โดยใช้มิติของการปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน



Office Syndrome คืออะไร ?


Office Syndrome คืออะไร ?
โดย : นางสาววันวิสาข์ ศิริเจริญจรรยา
สำนักกฎหมาย

Office Syndrome (ออฟฟิศซินโดรม) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ   หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกับการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตตลอดเวลามีส่วนทำให้เป็น Office syndrome  เพิ่มขึ้นมาก  เนื่องจาก  จอที่เล็ก ทำให้คนต้องห่อไหล่ ห่อตัว ก้มหน้าเพื่อมองจอ บางคนถือด้วยมือข้างเดียว และต้องใช้นิ้วจิ้มเยอะ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ร่างกายเสียการสมดุลของกล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อ และเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ  อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ส่วนบางรายที่มีอาการของโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่นหมอนรองกระดูกเคลื่อน  หากทำงาน
ในอริยบถที่ผิดจะทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในเมืองไทยพบว่ากว่า ๘๐% ของพนักงานมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเบ้าตา อ่อนเพลีย สมองตื้อ นอนไม่หลับ ไปตรวจก็หาสาเหตุของอาการปวดไม่พบ โดยเฉพาะในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนจะปวดหัว ปวดบั้นเอวอยู่แล้ว เมื่อมีอาการเหล่านี้ก็จะปวดหนักจนทนไม่ไหว หรือต้องฝืนใจไปทำงาน และในต่างประเทศมีการประเมินว่าพนักงานสูญเสียประสิทธิภาพไปถึง ๑ ใน ๓ เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น คือ ผลงานของบริษัทลดลง ต้องจ้างคนเพิ่ม ฯลฯ  คนที่มีอาการดังกล่าวต้องพึ่งการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า และพบว่าการนวดแบบนั้นทำให้รู้สึกผ่อนคลายแค่ชั่วคราว ไม่นานก็กลับมาปวดใหม่ ต้องไปนวดซ้ำ พอนวดแรงไปก็เกิดอาการช้ำ ยอก ผลลัพธ์แทนที่จะดีขึ้น กลับกลายเป็นแย่กว่าเก่า
Office Syndrome มี ๒ ลักษณะ คือ
๑. การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน คือ การที่เนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ มีการเกร็งตัว หรือถูกยึดในท่าเดิมนานๆ  หรือเส้นประสาทถูกกด เช่น การก้มทำงานจนคอเคล็ด เป็นต้น การบาดเจ็บแบบนี้จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน  แสดงออกมา นั่นคือการอักเสบ และเจ็บเวลาสัมผัส หรือขยับเขยื้อนบริเวณที่เป็น การรักษา คือ ลดการอักเสบ โดยการประคบเย็น พยายามหยุดการใช้งานของส่วนนั้น หรืออาจมีการใช้ซัปพอร์ตป้องกันการอักเสบซ้ำ
๒. การบาดเจ็บแบบสะสม คือ การทำงานในท่าหนึ่งนานๆ หรือทำกิจกรรมใดซ้ำๆกัน เช่น พิมพ์ดีดซ้ำ นั่งจ้องมองคอมพิวเตอร์ซ้ำๆ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ใช้นั่งทำงานไม่สะดวกสบาย ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้กล้ามเนื้อคงค้างอยู่นาน หรือถูกยืดอยู่นาน แต่ไม่มีการบาดเจ็บแบบทันทีทันใด การบาดเจ็บแบบสะสมแบ่งเป็น ๓ ระยะ 
ระยะที่ ๑ จะเริ่มมีอาการหลังจากทำงานสักพัก เช่น เช้าไม่มีอาการ แต่ช่วงใกล้เที่ยงถึงช่วงเย็น มีอาการมากขึ้น แต่กลับบ้านนอนพักก็หาย ไม่มีอาการคงค้างใดๆ
ระยะที่ ๒ เริ่มมีอาการหลงเหลือ แม้กลับไปพักแล้ว โดยเฉพาะช่วงทำงานหนัก จะมีอาการตึงๆ เจ็บๆ เล็กน้อย
ระยะที่ ๓ จะมีอาการเหมือนระยะที่ ๒ แต่รุนแรงกว่า
นอกจากนี้ความเครียดและอารมณ์ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค  Office syndrome  ได้  โดยเราสามารถสังเกตภาวะความเครียดได้จากลมหายใจ โดยขณะที่โกรธ คนจะหายใจอัดแน่นขึ้นข้างบน กล้ามเนื้อท้องจะเกร็ง และกล้ามเนื้อบ่าจะทำงานหนักขึ้น  หากอยากทราบว่ามีอาการ  Office syndrome เพราะการบาดเจ็บทางกาย  หรือเพราะความเครียด  ต้องลองจัดโต๊ะที่บ้านให้เหมือนกับที่ทำงาน แล้วลองกลับไปเล่นเกมหรือทำอย่างอื่น เพื่อสังเกตว่า
มีอาการเหมือนกันหรือเปล่า เพราะบางคนมีอาการหนักมากระหว่างทำงาน แต่พอไปเที่ยวกลับไม่มีอาการ
แนวทางในการรักษาและดูแลตนเอง ขึ้นกับระยะที่เป็น
ระยะที่ ๑ ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนสถานที่หรือวิธีการทำงานให้เหมาะสม
ระยะที่ ๒ นอกจากปรับเปลี่ยนการทำงาน อาจต้องรับการรักษาด้วย
ระยะที่ ๓ อาจต้องพักงานนั้นไปเลย เพราะแค่ทำเบาๆก็กระตุ้นอาการแล้ว
การนำศาสตร์อื่นๆมาประยุกต์ใช้ในการรักษา ดังนี้ 
ศาสตร์กายภาพบำบัด ได้แก่ การออกกำลังกาย การดูแลตนเอง การปรับเวิร์ก สเตชั่น และการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น คลื่นเสียง คลื่นความร้อน
ศาสตร์แพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การกินยา การจัดกระดูก (Chiropractor)
ศาสตร์แพทย์แผนไทย ได้แก่ การนวด การประคบ
ศาสตร์แพทย์แผนจีน ได้แก่ การฝังเข็ม การนวดทุยหนา และการกัวซา

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

แนวคำวินิจฉัยศาลปกครองที่น่าสนใจ


ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)                        
นายปิยะพงษ์  กรเกษม นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานวิเคราะห์และประเมินผลคดีปกครอง
หน่วยงาน   สำนักความรับผิดทางแพ่ง

แนวคำวินิจฉัยศาลปกครองที่น่าสนใจ
การดำเนินตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานของรัฐที่ส่งมาให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ มีข้อควรระวังคือ เรื่องกำหนดอายุความที่จะสามารถออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐตลอดจนผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยมีบางกรณีที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น กรณีการจ่ายเงินตามคำพิพากษา ที่จะต้องพิจารณาออกคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้จ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาล หรือกรณีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐเสียชีวิต จะต้องพิจารณาออกคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุความ   ๑ ปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต เป็นต้น โดยมีคำพิพากษาที่น่าสนใจคือ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๙๑/๒๕๕๑ มีหลักกฎหมายที่สำคัญโดยสรุปว่า ตามมาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้   ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า ๑ ปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งหมายถึงแม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่า ๑ ปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องร้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกร้อง   ต่อเจ้ามรดกในขณะที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก อายุความ ๑ ปี ก็ยังไม่เริ่มนับ แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าประการใดก็ตาม หน่วยงานของรัฐที่เสียหายก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้อง    ค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดเมื่อพ้นกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดซึ่งเป็นอายุความยาวที่สุดที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กระทำละเมิดตนได้ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานวิเคราะห์   และประเมินผลคดีปกครองใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกำหนดอายุความตามแนวทางคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๙๑/๒๕๕๑

15 วิธี ขับรถให้ประหยัดทั้งน้ำมัน และเงินในกระเป๋า


ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
นายทองใจ  ปัญญาราช พนักงานขับรถยนต์ ส.2
หน่วยงาน     สำนักงานคลังเขต 5
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  15 วิธี ขับรถให้ประหยัดทั้งน้ำมัน และเงินในกระเป๋า 

15 วิธี ขับรถให้ประหยัดทั้งน้ำมัน และเงินในกระเป๋า
1. ควรวางแผนก่อนเดินทาง จะช่วยให้ระยะทางสั้นลง และเดินทางได้เร็วขึ้นกว่าเดิม และยังประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
2. ควรเติมน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน 9 โมงเช้าเสมอ เพราะว่าอุณหภูมิเย็นน้ำมันเชื้อเพลิงจะหดตัวจึงได้ปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 2%
3. ควรเติมน้ำมัน แค่หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว ถ้าเติมจนเต็มปรี่ พอร้อนๆน้ำมันเชื้อเพลิงจะขยายตัวแล้วระเหยทิ้งที่รูระบาย
4. ควรอุ่นเครื่องยนต์สัก 1 นาที ในหน้าร้อน และ 3 นาที ในหน้าหนาว ซึ่งเครื่องยนต์จะได้ไม่ใช้กำลังฉุดมากและการหล่อลื่นจะสมบูรณ์ขึ้น
5. ค่อยๆ ออกตัวเมื่อรถจอดนิ่ง ที่ 1,000-2,000 รอบ จะได้ความนิ่มนวล ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการสึกหรอของเครื่องยนต์
6. ควรใช้เกียร์สูงขึ้นเมื่อรถวิ่งได้ 2,500 รอบ ขึ้นไป เพราะการลากเกียร์จะทำให้ชุดเกียร์ทำงานหนักจนอายุการใช้งาน สั้นและทำให้สิ้น เปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
7. ความเร็วคงที่ของเครื่องยนต์ 2,000 cc. ขึ้นไป ความเร็วคงที่ๆประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงคือ 110 Km./h. ซึ่งการรักษาเสถียรภาพความเร็วทำให้รถยนต์กินน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุดขณะรถวิ่ง
8. ความเร็วคงที่ของเครื่องยนต์ ต่ำกว่า 1,600 cc. ความเร็วคงที่ๆประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงคือ 90 Km./h. ซึ่งการรักษาเสถียรภาพความเร็ว ทำให้รถยนต์กินน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุดขณะรถวิ่ง
9. ควรพักรถสัก 15 นาที เมื่อขับรถเกิน 4 ชั่วโมง เพื่อให้ความร้อนของเครื่องยนต์ลดลง ซึ่งจะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นในระบบคลายความร้อนลงและกลับมามีคุณสมบัติที่ดีอีกครั้ง
10. เกียร์ถอยหลังจะกินน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด ควรค่อยๆ ถอยหลังไม่ต้องเร่งเครื่องยนต์มากเกินไป โดยเกียร์ถอยหลังจะใช้อัตราทด และใช้แรงฉุดมากกว่าทุกเกียร์
11. ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้เหมาะสม และไม่ควรหยุดรถหรือเบรกรถโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและ ทำให้ไม่สิ้นเปลืองผ้าเบรกโดยไม่จำเป็น
12. ปิดแอร์ก่อนถึงปลายทางสัก 500 เมตร เพื่อลดภาระของเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และพัดลมจะเป่าลมไล่ความชื้นในตู้แอร์ ไล่เชื้อราที่สะสมอยู่ในความชื้นด้วย
13. ตรวจสอบลมยางให้สม่ำเสมอ ทุกๆ 2 อาทิตย์ และหากลมยางอ่อนรถจะวิ่งได้ช้าลง ขอบยางจะสึกมากและยางจะหมดอายุก่อนกำหนด รวมทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย
14. ควรเก็บสัมภาระหรือของหนักๆที่ไม่จำเป็นออกจากรถเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักจะทำให้รถกินน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 20% ตามระยะทางที่วิ่ง
15. หมั่นปรับตั้งเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จะทำให้สมรรถนะของเครื่องยนต์ดีอยู่เสมอและลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง

ตลาดเงินและตลาดทุน


นางสาวศุภมาศ  ยั่งยืน  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน    กองแผนงาน 
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  ตลาดเงินและตลาดทุน

ตลาดเงิน (Financial Market)
ตลาดเงิน คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้น กิจกรรม การเงินของตลาดเงิน เช่น การโอนเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ทางการเงิน ตลอดจนการจัดหาทุนเพื่อประกอบธุรกิจ การให้สินเชื่อแก่บุคคล องค์กรธุรกิจ และรัฐบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1)  ตลาดเงินในระบบ คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้น โดยสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ธนาคารกลาง กิจกรรมทางการเงินที่สำคัญของตลาดเงินในระบบคือ การกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Inter-Bank Loan หรือ Call Loan) การกู้โดยตรง หรือเบิกเกินบัญชีโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การกู้โดยขายตราสารทางการเงิน ตราสารการค้า ตลอดจนตราสารที่ธนาคารรับรอง
2)  ตลาดเงินนอกระบบ คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้นโดยไม่มีกฎหมายรองรับสถานภาพของผู้ให้สินเชื่อ กิจกรรมทางการเงินที่สำคัญได้แก่ การเล่นแชร์ การให้กู้กันเอง เป็นต้น
ตลาดทุน (Capital market)
ตลาดทุน คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะยาว ตลาดทุนประกอบด้วยตลาดสินเชื่อทั่วไป เช่น  ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แบ่งเป็นตลาดแรก และตลาดรอง
1)  ตลาดแรก (Primary Market) เป็นตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์ออกใหม่ ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการซื้อหลักทรัพย์ที่หน่วยธุรกิจผู้ออกหลักทรัพย์ได้รับเงินทุนจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ใหม่เป็นการลงทุนที่แท้จริง
2)  ตลาดรอง (Secondary Market) เป็นตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์เก่า ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่า ไม่ใช่การลงทุน เพราะหน่วยธุรกิจผู้ออกหลักทรัพย์ไม่ได้รับเงินทุนจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์เก่าเป็นเพียงการเปลี่ยนมือระหว่างผู้ถือหลักทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามตลาดรองก็มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุน กล่าวคือ ทำให้ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรก มีความมั่นใจว่าสามารถเปลี่ยนหลักทรัพย์เป็นเงินสดได้ในเวลาที่ต้องการ ความมั่นใจทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดแรก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำให้เกิดการจูงใจในการซื้อหลักทรัพย์ตลาดแรกหรือหลักทรัพย์ออกใหม่
ความแตกต่างระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน 
1) ตลาดเงินเป็นแหล่งเงินกู้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี แต่ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาว  ที่มีอายุการกู้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป 
2)  การเป็นแหล่งเงินกู้ที่มีอายุการกู้แตกต่างกันนี้ทำให้ตลาดทั้งสองแตกต่างกัน ดังนี้
2.1 ความเสี่ยง การให้กู้ในตลาดทุนเสี่ยงกว่าการให้กู้ในตลาดเงินมาก เพราะมีอายุการกู้นานกว่า ฐานะของผู้กู้จึงอาจเปลี่ยนแปลงได้มากในระยะยาวและยากที่จะคาดคะเนได้ถูกต้องล่วงหน้า
2.2 เครื่องมือในการกู้  ในตลาดเงินได้แก่หลักทรัพย์ระยะสั้นเช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น แต่ในตลาดทุนได้แก่หลักทรัพย์ระยะยาว เช่น หุ้นทุน หุ้นกู้ เป็นต้น
2.3 ประเภทของสถาบันในตลาดเงินได้แก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง  ผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะสั้น แต่ในตลาดทุนได้แก่ตลาดหลักทรัพย์ (Stock Exchange) ผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะยาว
2.4 วัตถุประสงค์ในการกู้  ตลาดเงินส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อการค้า การพาณิชย์      แต่การกู้จากตลาดทุนเป็นการกู้เพื่อการสะสมทุน
2.5 วิธีการกู้ ในตลาดเงินใช้วิธีต่อรองราคากับผู้ให้กู้ แต่การกู้ในตลาดทุนใช้วิธีประมูลราคาด้วยการกดราคาให้ต่ำเพื่อล่อใจผู้ลงทุน
2.6 ลักษณะของผู้ค้า ผู้ค้าในตลาดเงินมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ค้าในตลาดทุน แม้ว่าจะได้มีการแยกออก เป็นตลาดเงินและตลาดทุน แต่ตลาดทั้งสองก็เกี่ยวพันกันอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดหนึ่งย่อมมีผลกระทบกระเทือนอีกตลาดหนึ่ง การถ่ายเทของเงินทุนระหว่างกันมีอยู่เสมอ เช่น การกู้ยืมจากตลาดเงินของผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะยาวโดยหวังกำไรส่วนทุน (Capital Gain) ด้วยเหตุนี้การวิเคราะห์ตลาดเงินและตลาดทุนจึงยากที่จะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
บทบาทและหน้าที่ตลาดเงินและตลาดทุน
1)  ส่งเสริมการลงทุนและการผลิต เพื่อให้นักลงทุนและนักธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่เข้ามาลงทุนได้
2)  ส่งเสริมด้านการค้าภายในและภายนอกประเทศ
3)  ส่งเสริมการบริโภค สามารถให้ผู้บริโภคกู้ยืมเงิน เพื่อการบริโภคได้
4)  ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนและการบริโภคของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

ความรู้คู่คุณธรรม

คุณ สุปรียา  นวลจริง
นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน   สำนักงานคลังเขต ๙
ความรู้ที่แบ่งปัน  :   ความรู้คู่คุณธรรม                    

วิธีสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  1.  ควรให้เกียรติผู้อื่น ยอมรับซึ่งกันและกัน
  2.  อย่าเอาเปรียบคนอื่น ต้องตอบแทนซึ่งกันและกัน
  3.  หมั่นแสดงน้ำใจ เล็กๆน้อย ๆเสมอ 
  4.  ต้องเอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่น
  5.  จะต้องให้ความสำคัญ กับความรู้สึกก่อนเหตุผล
  6.  จงเป็นผู้ที่มีหัวใจพร้อมที่จะบริการผู้อื่น
  7.  ยิ้มแย้มแจ่มใส (ไม่ถือตัว)
  8.  ทักทายผู้อื่นก่อน (ให้เกียรติผู้อื่น)
  9.  มีความจริงใจต่อกัน
  10.  มองผู้อื่นในแง่ดีไว้ก่อน
  11.  ควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้                                                                                               ทำความเข้าใจตนเองและเรียนรู้ผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
      1. อย่าตัดสินจากบุคลิกภาพภายนอก
      2. พัฒนาบุคลิกภาพภายใน 
      3. นึกถึงคนรอบข้างให้มากยิ่งขึ้น
      4. ความสุขส่วนใหญ่เกิดจาก ครอบครัว
      5. ทุกคนมีอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ถือเป็นบทเรียน และนำมาปรับปรุงแก้ไข
      6. หมั่นวิเคราะห์ตัวเอง 
เส้นทางสู่ความสำเร็จ
1.     รู้ว่าเราคือใคร มีจุดเด่น จุดด้อย อะไรบ้าง พัฒนาจุดเด่น และลดจุดด้อย
2.     มีความสามารถพิเศษอะไรบ้าง
3.     รู้จักพัฒนาความสามารถของตนเอง
4.     เมื่อมีอุปสรรคสามารถก้าวข้ามไปได้
5.     มีความคิดด้านบวก
6.     มีความหมั่นใจในตนเอง
7.     เมื่อพัฒนาความสามารถแล้วต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
คุณสมบัติ 10 ประการ (ญี่ปุ่น)
1.     ตรงต่อเวลา
2.     รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
3.     ทำงานด้วยความกระตือรือร้น
4.     สะอาดเป็นระเบียบ
5.     อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวด
6.     ประหยัด รู้คุณค่าของเงิน
7.     พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด
8.     ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง รู้จักบุญคุณผู้มีพระคุณ
9.     แยกแยะเรื่องส่วนตัว และความรับผิดชอบในหน้าที่
10.   ทำงานเป็นทีม
 การทำงานเป็นทีม
1.     เกิดความรอบคอบในการตัดสินใจ
2.     มองเห็นข้อผิดพลาด สิ่งที่แตกต่างกัน มักจะให้ประโยชน์มากกว่าสิ่งเดียว รวมกัน
ปัจจัยที่ทำให้การทำงานเป็นทีมสำเร็จ
-          ต้องทราบเป้าหมายของทีมอย่างชัดเจน
-          ทุกคนต้องทราบบทบาทและ หน้าที่ของตนเอง
-          ต้องชี้แนะแนวทางปฏิบัติ
-          มีการสื่อความหมายให้ตรงกัน
-          เมื่อเกิดความขัดแย้งต้องรีบทำความเข้าใจใหม่ทันที
-          ผลสำเร็จของทีม ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
-          มีความไว้วางใจกันและร่วมมือกัน
-          ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และให้ข้อมูลย้อนกลับซึ่งกันและกัน  

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

การบริหารความเสี่ยงขององค์กร


นางพิศมัย  บุญเทียม
                                              
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน    กองแผนงาน
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  การบริหารความเสี่ยงขององค์กร
การบริหารความเสี่ยงขององค์กร คือ การบริหารความเสี่ยงของโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้การตัดสินใจโดยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ต่างๆ จะช่วยให้มีความมั่นใจในผลสำเร็จว่าจะสามารถจัดการความเสี่ยงได้ และจะทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การดำเนินการตามโครงการก็อาจเกิดความเสี่ยงได้อีก และอาจเกิดผลกระทบกับความสำเร็จของโครงการได้
          ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอาจมีแหล่งที่มาของความเสี่ยงทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ดังนี้
                   ความเสี่ยงภายในองค์กร  เช่น
                             -  สถานที่ทำงานที่ไม่ปลอดภัย
                             -  ระบบบัญชีที่ไม่น่าเชื่อถือ
                             -  วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการสร้างประสิทธิภาพการทำงาน
                             -  การฝึกอบรมพนักงานที่ไม่เพียงพอ
                             -  ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เป็นต้น
                   ความเสี่ยงภายนอกองค์กร เช่น
                             -  การเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย
                             -  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
                             -  เสถียรภาพทางการเมือง
                             -  การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค
                             -  กระแสสังคมและสิ่งแวดล้อม
                             -  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น
ขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงอย่างง่าย แบ่งเป็น 5 ข้อ ดังนี้
                   1.  การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Establishment)
                   2.  การระบุความเสี่ยง (Risk Identification)
                   3.  การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
                   4.  การสร้างแผนการจัดการ (Risk Management Planning)
                   5.  การติดตามสอบทาน (Monitoring & Review)

 ประโยชน์ของการบริหารความเสี่ยง
                   1.  ช่วยชี้ให้เห็นถึงปัญหาขององค์กร
                   2.  ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารในด้านต่างๆ เช่น การวางแผน การกำหนดกลยุทธ์ การติดตามควบคุมและวัดผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร  
                   3.  ช่วยลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
                   4.  ช่วยในเรื่องการติดตามผล 
                   5.  ช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร
                   6.  ช่วยให้การพัฒนาการบริหารและจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงในแต่ละกิจกรรมและการเลือกใช้มาตรการในการบริหารความเสี่ยง


วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บันได 5 ขั้นสู่ชีวิตใหม่ที่มีค่าและเป็นสุข

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)

กิจกรรมที่ : กิจกรรมการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
ความรู้ที่แบ่งปัน : บันได 5 ขั้นสู่ชีวิตใหม่ที่มีค่าและเป็นสุข
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
คุณมาลัยทิพย์  ฐานิสสรณ์
ตำแหน่ง   นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
หน่วยงาน  สำนักงานเขต 8

 บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข
บันไดขั้นที่ 1 มองตัวเองว่าดีและมีค่าทุกวัน  ในแต่ละวันให้นึกถึงความดี และความโชคดีของตนเองเริ่มต้นด้วยการตื่นนอนตอนเช้า ให้ยิ้มกับตัวเองและนึกว่าโชคดีที่ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว ให้นึกถึงความดีของตนเอง ที่เคยทำมาแล้วในอดีต (ที่สามารถนึกได้ง่ายๆ) เช่น เคยทำบุญ เคยช่วยคนที่อ่อนแอกว่า เคยสงเคราะห์สัตว์ฯลฯ คิดว่าตัวเองดี และมีคุณค่าที่ได้เคยทำสิ่งดีๆ และให้นึกซ้ำๆจะได้เกิดความเชื่อตามที่นึกนั้น คุณก็จะเกิดความอิ่มเอิบใจและเชื่อว่าตัวเองมีความดี ความเก่ง ตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยคุณจะเกิดความอยากมีชีวิตอยู่ และสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตต่อไปและต้องอวยพรตัวเองเสมอๆ อย่าแช่ง หรือตำหนิตัวเอง และอย่ารอให้คนอื่นมาชื่นชมคุณซึ่งมักจะไม่ได้ดั่งใจ หรือได้มาก็ไม่สมใจ
บันไดขั้นที่ 2 มองคนอื่นดี มองโลกในแง่ดี ขั้นนี้คุณจะต้องมองว่า ทุกๆ คน มีขีดจำกัดของความสามารถ ความดีความเก่งกันทุกคน ตามความเป็นจริงของเขา ซึ่งไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกันเลยส่วนความไม่ดี หรือไม่เก่งของเขา (ซึ่งมีกันทุกคน) ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาไปให้มองเฉพาะส่วนที่ดีของเขาเท่านั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ คุณก็จะเป็นคนที่มองอนาคนและชีวิตดี มีความหวังที่ดีในชีวิตตลอดเวลา สองสิ่งนี้ ถ้าคุณทำเป็นนิสัยคุณจะพบว่า โลกนี้มีสิ่งที่ดีๆ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆและท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสุขนิยมทั้งชีวิต
บันไดขั้นที่ 3 ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คือการอยู่กับปัจจุบัน ทำกิจกรรมในวันนี้และเวลานี้ให้ดีที่สุดทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ทุกข์ร้อน หรือคาดหวังกับผลลัพธ์ของมัน ไม่ว่าจะสมใจหรือไม่สมใจก็ตาม จงชื่นชมในความตั้งใจ ทำเต็มความสามารถของตนเอง และคิดต่อว่าในอนาคตจะต้องทำให้ดีกว่านี้ นอกจากนั้น คุณต้องเลิกจดจำหรือนึกถึงเรื่องที่ไม่ดีที่เกิดกับคุณในอดีต เพราะการจดจำเรื่องราวที่ไม่ดีในอดีตเท่ากับคุณไปสะกิดแผลในใจ และจะทำให้คุณเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นจนส่งผลให้ปัจจุบันคุณไม่มีความสุข และกลัวว่าอนาคตจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีซ้ำๆ อีก
บันไดขั้นที่ 4 มีความหวังและเชื่อว่าอนาคตจะดีเสมอ ความหวัง ความเชื่อ เกิดจากความคิดถึงบ่อยๆ หรือได้ยินบ่อยๆจงนึกและบอกกับตัวเองเสมอว่า อนาคตจะดีขึ้นอีกเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดกำลังใจมากขึ้นอยากพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตโดยไม่กลัว มีอารมณ์ขันและไม่จริงจังกับชีวิตมากนัก แต่จะมีความหวังที่ดีๆ (Good Hope) อยู่เสมอแต่อย่ามีความคาดหวัง (Expectation) กับชีวิต เพราะถ้าคาดหวังกับชีวิต เรามักจะกลัวหรือกังวลว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังความคาดหวัง หรือเมื่อได้มาแล้วก็มักไม่พอใจจึงอาจทำให้เกิดทุกข์ได้

บันได้ขั้นที่ 5 ปรับปรุงตัวเองเสมอ        
โดยปรับปรุง 4 ส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิต คือ
1.การงานให้มีความขยัน อดทน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว และกล้าลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำจะทำให้มีการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้เรื่อยๆและปรากฏเป็นผลงานที่ชัดเจน
2.ครอบครัวจะต้องยึดหลักที่เป็นมงคลต่อกันคือ ไม่อิจฉา ไม่ระแวง ไม่แข่งขัน ไม่นอกใจรู้จักการให้และการอภัย มีน้ำใจ และรู้จักเกรงใจกัน
3.สังคมหมั่นสร้างมิตรเสมอ มีการให้ความสำคัญกัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและพูดจากันแบบ   ปิยะวาจา
4.ตนเองต้องมีการพัฒนาตนเองเสมอ มีความภูมิใจตนเองตามความเป็นจริงสามารถให้กำลังใจตัวเองได้ และมีกำลังใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น

การเสริมสร้างความสุข ๕ มิติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรม : พักเบรคปันความรู้ของหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลาง (CGD Coffee Talk)
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ 
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  การเสริมสร้างความสุข ๕ มิติเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) นางสาวอัจฉรา จารุเสาวภาคย์ นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน  สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ

การเสริมสร้างความสุข ๕ มิติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ
. สุขสบาย (Health)
    หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสมรรถภาพร่างกายที่คล่องแคล่วมีกำลัง สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพได้ตามสภาพที่เป็นอยู่มีเศรษฐกิจหรือปัจจัยที่จำเป็นเพียงพอ ไม่มีอุบัติเหตุหรืออันตราย มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ
     วิธีส่งเสริมให้เกิดความสุขสบายเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวไม่เกิดอุบัติเหตุง่าย
     ๑. ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ฝึกกายบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเคลื่อนไหว และควรออกกำลังกายให้ครบทุกส่วน ทุกข้อต่อของร่างกาย ทั้งนี้ การออกกำลังกายไม่ควรออกกำลังกายแบบรุนแรงและควรทำเป็นประจำทุกวัน วันละ ๑๕-๓๐ นาที        
     ๒. ขณะออกกำลังกายต้องฝึกการควบคุมการหายใจให้เป็นจังหวะตามการออกกำลังกาย โดยหายใจให้ลึกและผ่อนลมหายใจออกทางปาก ไม่กลั้นหายใจขณะออกกำลังกายเพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงได้
     ๓. หลังการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ไม่ควรหยุดแบบทันทีควรออกกำลังกายต่อ แต่ให้ช้าลงประมาณ ๕-๑๐ นาทีแล้วจึงหยุด
     ๔. ใช้แรงกายในชีวิตประจำวันและทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น กวาดบ้าน ทำสวน ซ่อมแซมเครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน
     ๕. ระมัดระวังการพลัดตกหกล้ม
๒. สุขสนุก (Recreation)
    หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการเลือกวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์ เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า
     วิธีส่งเสริมให้เกิดความสุขสนุกเพื่อคลายเครียด
     ๑. เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างความสดชื่นและมีชีวิตชีวาอย่างสร้างสรรค์และดีงาม
     ๒. เล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะหรืองานอดิเรกที่ชอบ
๓. สุขสง่า (Integrity)
    หมายถึง ความรู้สึกพอใจในชีวิต ความภาคภูมิใจในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ยอมรับนับถือตนเอง ให้กำลังใจตนเองได้ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีลักษณะเอื้อเฟื้อแบ่งปันและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
     วิธีการส่งเสริมให้เกิดความสุขสง่าเพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจและความมีคุณค่าในตนเอง
     ๑. พยายามช่วยเหลือตนเองในเรื่องง่ายๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนอื่น เช่น กิจวัตรประจำวัน งานบ้านเล็กๆ น้อยๆ การดูแลเด็ก เป็นต้น
     ๒. ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น ด้วยการไม่แทรกหรือขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นพูด ยกเว้นกรณีที่สงสัยสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด ต้องฟังอย่างตั้งใจเพื่อจะได้เก็บเรื่องราว ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูดขณะพูด เพื่อเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องที่ตนเองถนัดหรือมีประสบการณ์
     ๓. ฝึกวิธีการตั้งคำถามเพื่อจะได้ใช้เป็นหัวข้อในการพูดคุยสนทนากับผู้อื่น อาจเริ่มต้นด้วยการชวนพูดคุยเรื่องที่ลูกหลานกำลังทำอยู่ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องข่าวสารที่กำลังเป็นประเด็น เพื่อจะได้ตามทันเหตุการณ์และโลกในปัจจุบันได้
     ๔. ไม่จู้จี้ขี้บ่นและระวังการใช้คำพูดที่รุนแรงที่อาจทำให้การสนทนาไม่สร้างสรรค์
     ๕. หากิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดเดิมๆ อาจเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือกิจกรรมแปลกใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
     ๖. ช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ทั้งในครอบครัวและชุมชนตามศักยภาพที่ตนเองมี
๔. สุขสว่าง (Cognition)
    หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุผล การสื่อสาร การวางแผน และการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการคิดแบบนามธรรม รวมทั้งความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     วิธีการส่งเสริมความสุขสว่างเพื่อชะลอความเสื่อมของสมองในด้านต่างๆ
     ๑. ฝึกการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ทำกิจกรรมด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ทำกิจวัตรประจำวัน
ที่ไม่เคยทำ
     ๒. รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือกลุ่มวัยอื่นๆ เพื่อพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
     ๓. ฝึกประสานระหว่างมือ ตา และเท้า ด้วยการฝึกหยิบจับวัตถุชิ้นเล็กๆ เช่น ร้อยลูกปัด นั่งปั้นกระดาษหนังสือพิมพ์ ๑ คู่ ด้วยเท้าขณะดูทีวีให้กลมที่สุด เป็นต้น
     ๔. เล่นเกมส์ที่สามารถฝึกฝนด้านความจำหรือฝึกสมองได้ เช่น หมากรุก อักษรไขว้ ต่อคำ ต่อเพลง คิดเลข หรือการจดจำข้อมูลต่างๆ เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น
     ๕. ฝึกคิดแบบมีเหตุมีผล พยายามใช้เหตุผลตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ให้ใครหลอกได้ อาจเริ่มจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วให้บอกเหตุผล เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงมาใช้สนับสนุนหรือคัดค้าน หรือฝึกคาดคะเนความเป็นไปได้ของเหตุการณ์หรือข้อมูลโดยมีการนำข้อมูลทีเชื่อถือได้มาอ้างอิงและสรุปเป็นการคาดคะเนของตนเอง
๕. สุขสงบ (Peacefulness)
     หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการรับรู้-เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์และสามารถจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผ่อนคลายให้เกิดความสุขสงบกับตนเองได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
     วิธีการส่งเสริมความสุขสงบเพื่อปรับความคิด บริหารจิตให้เกิดสติ สมาธิ
     ๑. นั่งในท่าที่สบาย ฝึกหายใจช้าๆ ลึกๆ ใช้กล้ามเนื้อกระบังลมบริเวณท้องช่วย โดยหายใจเข้าท้องป่อง นับเลข ๑-๔ กลั้นหายใจไว้นับ ๑-๔ และหายใจออกช้าๆ นับ ๑-๘ ให้ท้องแฟบ ทำซ้ำๆ เมื่อรู้สึกเครียด หงุดหงิด โกรธ หรือไม่สบายใจ
     ๒. ฝึกคิดยืดหยุ่นให้มากขึ้น อย่าเข้มงวด จับผิดหรือตัดสินผิดถูกตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา ลดทิฐิ มานะ รู้จักให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองและปล่อยวาง ชีวิตจะได้มีความสุขมากขึ้น
     ๓. ฝึกคิดแต่เรื่องดีๆ เช่น คิดถึงประสบการณ์ที่ดี คิดถึงความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา คำชมเชยที่ได้รับ ความมีน้ำใจ  ของเพื่อนบ้าน เป็นต้น
     ๔. ฝึกคิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าคิดหมกมุ่นกับตนเองเท่านั้น เปิดใจให้กว้าง รับรู้ความเป็นไปของคนอื่น เริ่มต้นง่ายๆ   จากคนใกล้ชิดด้วยการใส่ใจช่วยเหลือ สนใจเอาใจใส่คนใกล้ชิดเราบ้าง จากนั้นหันกลับไปมองคนรอบข้างที่มีปัญหา หนักหน่วงในชีวิต
     ๕. ทำสมาธิ เจริญสติ ภาวนา 
โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรม : พักเบรคปันความรู้ของหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลาง (CGD Coffee Talk)
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  ดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะพอ ?
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางวรุณกาญจน์  รวยอารีย์
ตำแหน่ง นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วงาน สำนักบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ

การดื่มน้ำวันละ 8 แก้วจะทำให้สุขภาพดี-ช่วยลดความอ้วนจริงไหม? แท้จริงแล้วการดื่มน้ำมากเกินจำเป็นส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ หากถามนักแสดงหรือนางแบบว่าเคล็ดลับความงามคืออะไร หนึ่งในสิ่งที่เหล่าคนดังจะแนะนำให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ คือ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพราะจะทำให้สุขภาพดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ช่วยล้างสารพิษออกจากร่างกาย  การขาดน้ำจากการไดเอ็ทเป็นสาเหตุแห่งอาการท้องผูก แต่ดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะเป็นการ “ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ” ซึ่งเรามักจะได้ยินกันว่าต้องดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน ถ้าดื่มไม่ได้ตามเป้า นอกจากจะเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินหรือผิวหนังเหี่ยวย่นแล้ว ยังทำให้สมองสูญเสียน้ำ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการตั้งสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
                   จากคำเตือนให้ดื่มน้ำมากๆ นี้ส่งผลให้ขวดน้ำขายได้มากเป็นหนึ่งเท่าตัวในประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และขวดน้ำก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่คนอังกฤษส่วนใหญ่มักจะพกติดตัวออกนอกบ้าน สำคัญพอๆ กับกระเป๋าสตางค์และกุญแจบ้าน
                   อย่างไรก็ตาม แม้การขาดน้ำอาจทำให้ร่างกายได้รับความเสียหาย แต่การได้รับน้ำมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อร่ายกายเช่นกัน
                   หากร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ “ไฮโปแนทรีเมีย” ซึ่งเป็นอาการที่เกลือในร่างกายลดลง ทำให้สมองเต็มไปด้วยน้ำ ซึ่งนำไปสู่อาการชักและเสียชีวิตในที่สุด แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป อาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากร่างกายมีกระบวนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ
                   นอกจากนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าการดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารจะช่วยลดน้ำหนัก หรือการที่ร่างกายสูญเสียน้ำเล็กน้อยจะเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย

แล้วดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ?
            ความต้องการน้ำของร่างกายแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแตกต่างกันไปในแต่ละวันอีกด้วย กลุ่มที่ต้องการน้ำมากที่สุด คือ เด็กและผู้สูงวัย ส่วนผู้ใหญ่ต้องการน้ำวันละ 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม เช่น ถ้าน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ร่างกายก็จะต้องการน้ำวันละประมาณ 1 ลิตร แต่ไม่ต้องดื่มน้ำให้ครบตามจำนวนที่คำนวณก็ได้เพราะในอาหาร ผักและผลไม้ที่รับประทานก็มีน้ำเช่นกัน นอกจากนี้การดื่มชา กาแฟ น้ำส้มหรือแม้แต่น้ำอัดลมก็ช่วยเติมน้ำให้ร่างกาย
            หลายคนอาจนึกว่าการกระหายน้ำเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าร่างกายขาดน้ำ ที่จริงแล้วแค่เป็นตัวบอกว่าระดับน้ำในร่างกายน้อยลงเท่านั้น ยังไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชย แต่ถ้าป่วยต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพราะร่างกายจะขจัดความร้อนด้วยการสร้างเหงื่อ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ จึงต้องการน้ำมากกว่าปกติประมาณ 500 มิลลิลิตรต่ออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งในสภาพอากาศร้อนหรือหลังออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมาก ก็ต้องชดเชยน้ำให้ร่างกายด้วย

            วิธีสังเกตว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่ ดูได้จากสีของปัสสาวะที่ต้องใส ไม่มีสีและปัสสาวะประมาณ 3-4 ครั้งต่อวันแสดงว่าร่างกายปกติดี แต่หากปัสสาวะมีสีเข้มและปัสสาวะน้อยกว่าวันละ 3 ครั้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ เพราะแสดงว่าร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ