วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน


ผู้แบ่งบัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวณัฐกมล  เอี่ยมโอภาส 
นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาและบริหารงานละเมิดและแพ่ง
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง) 
นางสาวพรทิพย์ ยศอินทร์
เจ้าพนักงานธุรการ กลุ่มงานพัฒนาและบริหารงานละเมิดและแพ่ง
ความรู้เกี่ยวกับ : อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ดังนี้
๑.อายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่
๒.อายุความในการเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
๓.อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ส่วนที่ ๑ อายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่
อายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ จะประกอบด้วย การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ๓ กรณี ได้แก่

กรณีที่ ๑ กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ สิทธิของหน่วยงานของรัฐที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าการละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อหน่วยงานของรัฐนั้นจะเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือมิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ก็ตามมีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 
การรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของหน่วยงานของรัฐ
การที่ผู้แทนหน่วยงานของรัฐจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้พึงจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะรู้จากสิ่งใดได้บ้างนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า หน่วยงานของรัฐอาจรู้ได้ใน  ๒ ทาง คือ
ทางที่ ๑ รู้จากรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ถือเอาวันที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐได้รับรายงานการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดที่ได้ให้ความเห็นว่า มีเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ทางที่ ๒ รู้ตามข้อเท็จจริง
การรู้ตามข้อเท็จจริงที่จะมีผลทำให้เริ่มนับอายุความนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ปรากฏชัดเจนตามรายงานผลการสอบสวนใด ๆ ที่ได้มีการรายงานให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เสียหายแห่งนั้นว่ามีเหตุละเมิดเกิดขึ้น และความเสียหายที่ได้รับจากการกระทำละเมิดนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงจะถือได้ว่าเป็นการรู้ตามข้อเท็จจริงและทำให้อายุความเริ่มนับ แต่อายุความที่เริ่มนับนี้จะมีผลเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ที่ถูกระบุว่าต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปการรู้ตามข้อเท็จจริงในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดมักจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำความผิดทางอาญาซึ่งหน่วยงานสามารถรู้ถึงความเสียหายและตัวผู้เสียหายได้จากรายงานสอบสวนข้อเท็จจริง 
-รู้จากรายงานสอบสวนข้อเท็จจริง
-รู้จากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกรณีเงินขาดบัญชี หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต
-รู้จากการแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางอาญา 

กรณีที่ ๒  กรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด 
มาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติให้กรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่นั้นไม่ต้องรับผิดแต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิดให้สิทธิเรียกร้องนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง อายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐเท่านั้นโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้นเกิดจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และเมื่อมีการสอบสวนตามระเบียบแล้วจะต้องเป็นกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีความเห็นเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แล้วส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบข้อพิจารณาที่สำคัญในการพิจารณาอายุความในกรณีนี้ คือ เมื่อหน่วยงานของรัฐส่งสำนวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๑๗ แล้ว กระทรวงการคลังมีความเห็นแตกต่างกับหน่วยงานต้นสังกัด โดยกระทรวงการคลังเห็นว่า เจ้าหน้าที่ในรายที่หน่วยงานของรัฐได้วินิจฉัยมาว่าไม่ต้องรับผิดนั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่รายดังกล่าว จึงจะมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง แต่สำหรับเจ้าหน้าที่รายอื่นที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้การพิจารณาอายุความเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐวินิจฉัยว่าต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะมีอายุความ ๒ ปี นับแต่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

กรณีที่ ๓  กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดถึงแก่ความตาย
เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตาย บรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ซึ่งเป็นกองมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในมูลละเมิดต้องเรียกให้ทายาทรับผิดในหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดนั้นด้วย โดยให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้าหน้าที่
ในกรณีที่การใช้สิทธิเรียกร้องภายใต้อายุความสองปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัว             ผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ถึงแก่ความตายและในวันเดียวกันนั้น อายุความสองปีได้เริ่มนับและเหลืออายุความสั้นกว่าหนึ่งปี ย่อมเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องเป็นโทษแก่ผู้ตาย หน่วยงานของรัฐจึงต้องใช้สิทธิ  เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ตาย
หากปรากฏว่า ในวันที่เจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตาย และขณะนั้นอายุความสองปี         ยังไม่เริ่มนับ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐยังไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่หรืออายุความสองปีได้เริ่มนับแล้วและเหลืออายุความยาวกว่าหนึ่งปี ย่อมเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่าหนึ่งปี หน่วยงานของรัฐจึงต้องให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้าหน้าที่อายุความหนึ่งปี จะใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้เดิมต้องยังไม่ขาดอายุความ 
แนวทางปฏิบัติของกรมบัญชีกลาง (หนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค ๐๕๓๐.๘/ว ๗๕ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๔ เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดตาย)
เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดถึงแก่ความตาย หน่วยงานต้นสังกัดของผู้กระทำละเมิด มีหน้าที่ต้องรีบแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และรีบส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบอย่างช้าภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ถึงแก่ความตาย และให้หน่วยงานต้นสังกัดระบุคำว่า  “กรณีเจ้าหน้าที่ตาย” ด้วยอักษรสีแดง ไว้ในที่สำนวนด้วย 

ส่วนที่ ๒ อายุความในการเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

กรณีที่ ๑ การที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกและหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก
มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ วางหลักเกี่ยวกับอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องกรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกและหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก ไว้ว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย 
จากหลักการดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่า สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมี ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑) หน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอก
เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย สิทธิของหน่วยงานของรัฐที่จะเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐมีกำหนดอายุความ ๑ ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจหรือการกระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น การที่จะพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบหรือศาล และขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละกรณีไป ซึ่งความประมาทเลินเล่อนั้นเป็นการกระทำที่มิใช่โดยเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ส่วนความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะมีลักษณะไปในทางที่บุคคลนั้นได้กระทำไปโดยขาดความระมัดระวังที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานอย่างมาก เช่น คาดเห็นได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นได้ หรือหากระมัดระวังสักเล็กน้อยก็คงได้คาดเห็นการอาจเกิดความเสียหายเช่นนั้น สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่กระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ถึงขั้นร้ายแรงหน่วยงานของรัฐไม่สามารถไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ได้อีกต่อไป เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายไปแล้วความรับผิดตกเป็นพับแก่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้นไม่สามารถไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคนหน่วยงานของรัฐซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นในฐานะที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นลูกหนี้ร่วมของตนไม่ได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดเฉพาะตนตามสัดส่วนแห่งการรับผิด
การเริ่มนับอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๙ สาระสำคัญอยู่ที่หลักฐานเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายว่า หน่วยงานของรัฐได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด อายุความ ๑ ปี ให้เริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว     
๒) เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิไล่เบี้ยจากหน่วยงานของรัฐมีกำหนดอายุความ ๑ ปีนับแต่วันที่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ทั้งนี้ต้องปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด ผู้ที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้กำหนดอายุความ ๑ ปี ซึ่งหากการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นการสมประโยชน์และเป็นไปตามประสงค์ของหน่วยงานของรัฐแล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมเรียกให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนได้ในฐานะจัดการนอกสั่ง

กรณีที่ 2 การที่บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายเรียกให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย ซึ่งบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่นั้น อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดนั้นสังกัด ได้ ๒ วิธี ดังนี้
(๑) การร้องขอให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้เสียหายสามารถร้องขอต่อหน่วยงานของรัฐให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรง และเมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้ว หากผู้เสียหายไม่พอใจคำวินิจฉัย ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้
(๒) การฟ้องคดีต่อศาล ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรง โดยไม่ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐก่อน 
ระยะเวลาการฟ้องคดี ในกรณีที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ผู้เสียหายจะต้องฟ้องต่อ
ศาลปกครองภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีหรือนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดแต่ไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีหรือนับแต่เกิดเหตุละเมิด

ส่วนที่ ๓ อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การใช้สิทธิเรียกร้องตามที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะดังกล่าวข้างต้นจะต้องกระทำภายในกำหนดอายุความทั่วไปตามมาตรา ๔๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องทดแทนอันเกิดแต่มูลละเมิด มีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิดด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๙๖/๒๕๕๒)