วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณี เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดลาออกหรือโอนย้ายไปหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น



ความรู้เกี่ยวกับ : การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกรณี  เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดลาออกหรือโอนย้ายไปหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น
โดย : นางสาวพัชรี  เพชรสัมฤทธิ์  นิติกร กลุ่มงานพัฒนาและบริหารงานละเมิดและแพ่ง
  นายอนันต์  สุวรรณเตมีย์  นิติกร  กลุ่มงานพัฒนาและบริหารงานละเมิดและแพ่ง    สำนักความรับผิดทางแพ่ง


กรณีการละเมิด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายคนและจากหลายหน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดบางคนได้ลาออกจากราชการไปแล้ว และบางคนย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นแล้ว กรณีเช่นนี้ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้แก่ผู้ใด ตามข้อ ๑๑ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กรณีความเสียหายเกิดจากผลการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหาย หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายสังกัด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับแจ้งความเสียหายจากเจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายตามระเบียบนี้ บรรดาเกี่ยวข้องร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด


หากเหตุละเมิดทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความ เสียหาย และมีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุละเมิดดังกล่าว ดังนั้น ผู้มีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง  ความรับผิดทางละเมิดจึงได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหาย หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำให้เกิดความเสียหายสังกัด
สำหรับการที่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลาออกจากราชการไปแล้วหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น ไม่มีผลกระทบต่อผู้มีอำนาจร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด การโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นภายหลังเมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นแล้วไม่ทำให้อำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้สิ้นไป และไม่ทำให้หน่วยงานของรัฐแห่งอื่นนั้นเข้ามาเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรกมารสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ “การคิดเชิงระบบ System Thinking”



ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
นางสาวจารุวรรณ   โชติวัชรมัย  
นักบัญชีชำนาญการ
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  เทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ “การคิดเชิงระบบ System Thinking”

คำนิยาม
การคิดเชิงระบบ หมายถึง การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบย่อยๆ เป็นการคิดที่มีความเข้าใจ เชื่อมโยง มีในทฤษฎีระบบ
วิธีคิดเชิงระบบ แบ่งเป็น 3 ประเภท
1.Systematic Thinking มุ่งเน้นที่วิธีการหรือระเบียบแบบแผนการคิด
2.Systems Thinking มุ่งเน้นที่องค์ประกอบหรือระบบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระบบ มีความสัมพันธ์ต่อกัน
3.Systemic Thinking การผนวกรวมกันระหว่างการคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสังเคราะห์ มองเห็นภาพในระบบรวมทั้งหมดของสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อน
คุณสมบัติของการคิดเชิงระบบ
1.คิดแบบมีความเป็นองค์รวม (Holistic หรือ Wholeness) ผลที่ได้จากระบบจะไม่ใช่ผลบวก  หรือเพียงแค่มารวมกันของส่วนประกอบเหล่านั้น แค่จะได้คุณสมบัติใหม่ด้วย
2.คิดเป็นเครือข่าย (Networks) คิดเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นเครือข่ายของระบบ
3.คิดเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) ระบบหนึ่ง ๆ อาจจะมาจากระบบย่อย ๆ หลายระบบที่ประกอบกันขึ้นมา และในระบบย่อยเองก็มีความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบ
4.คิดแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (Interaction) ระหว่างระบบด้วยกันทั้งระบบย่อยกับระบบย่อยด้วยกัน ระบบย่อยกับระบบใหญ่ ระบบใหญ่กับสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยจะมีผลต่อระบบใหญ่ด้วย
5.คิดอย่างมีขอบเขต (Boundary) ระบบหนึ่ง ๆ มาจากระบบย่อย ๆ และระหว่างระบบย่อยกับระบบใหญ่ ต่างมีขอบเขตของระบบที่แสดงให้เห็นเขตแดนว่า ระบบนั้น ๆ ครอบคลุมอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่อยู่นอกเขตแดน ซึ่งก็ถือว่าอยู่นอกระบบแต่ในหลายระบบนั้นก็ไม่ได้แยกเขตแดนกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการซ้อนทับ (Overlap) กันอยู่ เช่น ระบบที่เป็นนามธรรม ระบบธรรมชาติ   ระบบทางสังคม
6.คิดอย่างมีแบบแผน (Pattern) ระบบมีความคงที่แน่นอน เพื่อเป็นหลักประกันว่า กระบวนการทำงานทุกอย่างในทุก ๆ ขั้นตอน จะไม่มีการเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของระบบโดยรวม
7.คิดอย่างมีโครงสร้าง (System Structure) แต่ละส่วนที่ประกอบเป็นระบบ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ และทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ประกอบกันอาจมีลักษณะ รูปร่าง หน้าที่หรือแบบแผน     การทำงานที่ต่างกัน แต่ก็มีการเชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสม ทำหน้าที่อย่างสัมพันธ์กัน ทำงานเสริมประสานกันกับส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบโดยรวม
8.คิดอย่างมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptation) ระบบต่าง ๆ จะมีการปรับตัวและพยายามสร้างสภาวะสมดุล และคงความสมดุลนั้นไว้ ด้วยการจัดระบบภายในตนเอง (Self Organize)
9.คิดเป็นวงจรป้อนกลับ (Feedback - Loops) การคิดเชิงระบบ เป็นการคิดในลักษณะ เป็นวง (Loops) มากกว่าจะเป็นเส้นตรง ทุกส่วนต่างมีการเชื่อมต่อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
การคิดเชิงระบบจะทำให้ “เห็นผลกระทบ” มองเห็นและตระหนักได้ว่า การทำงานของส่วนย่อยของระบบทำงานอย่างไร หากไม่ทำงานหรือผิดพลาด จะมีผลกระทบต่อระบบโดยรวมอย่างไร และเห็นว่าระบบไม่ใช่เป็นการนำส่วนประกอบต่าง ๆ มารวมเข้าด้วยกัน หรือ “สะสม” (Collection) รวมกันไว้
การคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองได้ชัดเจนเพียงพอ” มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบนั้นว่า มีอิทธิพลต่อแบบแผนพฤติกรรม (Pattern of Behavior) และเหตุการณ์ของระบบได้
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง” มีความเข้าใจต่อระบบของการดำเนินชีวิตนั้น มีการเคลื่อนไหว และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ความคิดของเราเองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
การคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองอย่างไม่ประมาท” เข้าใจว่าเหตุการณ์หนึ่งจะมีอิทธิพลที่จะส่งผลกระทบหรือสะเทือนต่ออีกเหตุการณ์หนึ่งได้ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่สองจะเกิดหลังจากเหตุการณ์แรกได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และอยู่ไกลจากเหตุการณ์แรกก็ตาม
การคิดเชิงระบบจะทำให้ ทำในสิ่งที่ควรทำ “เป็นในสิ่งที่ควรจะเป็น” รู้ว่า “อะไร” ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานั้น ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับ “ตำแหน่งของเรา” ที่อยู่ในระบบขณะนั้น ๆ
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองในมุมที่ไม่เคยมอง” เกิดการท้าทายสมมติฐานเดิมของเราที่พยายามเข้าถึงความเป็นจริงในมุมมองใหม่ ๆ คิดแบบที่ไม่เคยคิด ไม่สรุปอะไร อย่างที่เคยสรุป
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองเห็นสิ่งที่คุณทำมีผลต่อคนอื่นและระบบ” และสิ่งที่คนอื่นทำก็มีผลต่อคุณและระบบ ตระหนักว่าการกระทำของเราหรือการกระทำของคนอื่นว่ามีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อระบบโดยรวม
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “เลิกกล่าวโทษใคร.....ซะที” วิธีคิดกระบวนการระบบไม่สนับสนุนให้เราหา “แพะรับบาป” เมื่อสิ่งที่กระทำนั้นผิดพลาดหรือดำเนินต่อไปไม่ได้ตามที่วางแผนไว้  แต่จะสนับสนุนให้เราสนใจ “มอง” และ “เห็น” ต่างออกไปด้วยการ “ทดลองตั้งคำถามใหม่” เมื่อบางอย่างไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้

ผู้แบ่งปันหวังว่า เทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ “การคิดเชิงระบบ” ที่นำเสนอนี้ สามารถนำไปประยุกต์กับองค์กรได้ทุกองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในงานตรวจสอบขององค์กร

แหล่งที่มาของข้อมูล  : วิชาเทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ   โดย ผศ.ดร.วัลภา สบายยิ่ง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

10 วิธีง่ายๆ ในการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์

ความรู้เกี่ยวกับ  :  10 วิธีง่ายๆ ในการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์
โดย : นางสาวอัจฉราพรรณ  อารยพันธุ์  นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
หน่วยงาน สำนักการเงินการคลัง

10 วิธี ง่ายๆ ในการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการทำงาน เราจึงต้องดูแลเอาใจใส่ทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันก็ต้องคอยตรวจเช็คกัน ดังนี้
คอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันบางทีเราอาจเคยสงสัยว่า แต่ละส่วน หรือองค์ประกอบหลักของคอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง สำหรับคอมพิวเตอร์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) และ ซอฟต์แวร์ (Software)
ฮาร์ดแวร์ (Hardware) คือ ส่วนที่เราสามารถจับต้องได้ทุกชิ้นครับไม่ว่าจะเป็น จอ  เคส  เมาส์  คีย์บอร์ด   หูฟัง  ซีพียู  เมนบอร์ด เป็นต้น
ซอฟต์แวร์ (Software) คือ ส่วนที่เราใช้งานและควบคุมโดยการสั่งการจากฮาร์ดแวร์ นั่นคือระบบปฏิบัติการ หรือที่เรารู้จักกันเช่น วินโดวส์ (Windows) รวมถึงโปรแกรม แอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Office  Winamp  MSN เป็นต้น

วิธีการดูแลรักษาคอมพิวเตอร์ง่ายๆ 10 วิธี ดังนี้
1. ทำความสะอาดคอมพิวเตอร์บ้าง : วิธีการทำความสะอาดคอมพิวเตอร์นั้นไม่ยากเริ่มจากการถอดปลั๊กไฟก่อน และทำความสะอาดโดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเปล่า หรือน้ำยาทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ เช็ดส่วนต่างๆที่เป็นตัวเครื่องหรือกรอบหน้าจอ เมาส์ คีย์บอร์ด รวมถึงสายไฟคอมพิวเตอร์
2. เป่าฝุ่นหรือกำจัดฝุ่นที่อยู่บนตัวเครื่อง : สำหรับวิธีนี้แนะนำให้ใช้แปลงทาสีที่มีขนอ่อนๆ อาจจะเป็นแปรงด้ามไม้ไผ่    หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้าง เพราะหน้าจอหรือตัวเครื่องบางรุ่น หากใช้แปรงที่มีขนหนาอาจทำให้เป็นรอยได้ อย่าลืมใส่ผ้าปิดจมูกก่อนทำความสะอาด หากมีเครื่องเป่าฝุ่นหรือเป่าลม สามารถเป่าเครื่องได้เพื่อไล่ฝุ่นออกจากคอมพิวเตอร์
3. ตรวจเช็คความเรียบร้อยภายในตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ : วิธีนี้อาจยุ่งยากหน่อยสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดในด้านช่าง เพราะต้องทำการเปิดฝาเครื่องคอมพิวเตอร์ ควรตรวจเช็คพัดลมระบายความร้อนและสายไฟที่อยู่ภายในว่ายังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่เพราะความร้อนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คอมพิวเตอร์เสียได้
4. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้ถูกหลัก : สำหรับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ การจัดวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรวางให้ห่างจากกำแพง หรือมีช่องว่างด้านหลังจอประมาณ 1 ไม้บรรทัด เพราะความร้อนที่กระจายออกมาจะได้มีการระบายที่โล่งและไม่เกิดอุณหภูมิสูง รวมถึงตัวเคสคอมพิวเตอร์ก็ควรตั้งในที่มีช่องระบายความร้อนให้ลมสามารถพัดเข้า-ออกได้  ผู้ที่ใช้โน้ตบุ้คก็เช่นเดียวกัน ควรยกระดับด้านล่างของโน้ตบุ้คให้มีช่องว่างระบายอากาศด้านล่างด้วย เนื่องจากโน้ตบุ้คจะมีความร้อนที่สูงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป แนะนำให้หาพัดลมตัวเล็กๆ หรือพัดลมตั้งพื้นเป่า
5. เข้าศูนย์หรือร้านซ่อมคอมใกล้บ้าน : วิธีนี้สำหรับคนที่ไม่สะดวกในการจัดการคอมพิวเตอร์ ให้ช่างคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจสอบว่าอุปกรณ์ต่างๆยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ก่อนตรวจเช็คสอบถามราคาในการดำเนินการก่อน
6. จัดการไฟล์ที่ไม่ได้ใช้แล้วหรือไม่สำคัญ : ไฟล์ต่างๆที่ดาวน์โหลดมาหรือเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หากไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือไม่สำคัญก็ควรลบทิ้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะจะทำให้ไม่หนักเครื่องในส่วนของหน่วยความจำ และพร้อมที่จะรับข้อมูลใหม่
7. จัดระเบียบโฟลเดอร์ต่างๆ : ในส่วนนี้จะช่วยประหยัดทั้งเวลาและช่วยในเรื่องการทำงาน เพราะหากเราจัดการไฟล์และโฟลเดอร์ต่างๆให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เวลาที่หาไฟล์ต่างๆก็จะสะดวกมากขึ้น เครื่องก็จะทำงานไม่หนัก
8. กำจัดและสแกนไวรัสในคอมพิวเตอร์ : วิธีนี้อาจต้องใช้เวลาเล็กน้อยเพราะการใช้งานคอมพิวเตอร์นานๆข้อมูล เช่น รูปภาพ ไฟล์เพลง งานต่างๆ มากมายที่อยู่ในเครื่องมาจากหลากหลายที่ อาจทำให้มีไวรัสแฝงตัวอยู่ในโฟลเดอร์ต่างๆ ลองหาโปรแกรมสแกนไวรัส เช่น nod32 เพื่อให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่มีปัญหา
9. ลบโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้งานทิ้ง : หากเราทราบว่าโปรแกรมไหนที่เราไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือเกมส์ต่างๆที่ลงไว้ในคอมพิวเตอร์ไม่ได้เล่นแล้ว ควรจะลบออกเช่นเดียวกับโฟลเดอร์และไฟล์ เพราะจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานหนักที่ต้องเตรียมโปรแกรมต่างๆคอยเสิร์ฟเวลาที่เราจะใช้งาน
10. หมั่นหาวิธีหรือการใช้งานที่ถูกต้อง : คือการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ถูกต้องตามพื้นฐาน เพราะหากไม่รู้หลักในการใช้งานแล้ว ตั้งแต่ข้อ ๑ จนถึง ๙ ที่กล่าวมาก็อาจทำให้เราละเลยในการดูแลรักษาคอมพิวเตอร์จากการใช้งานที่ไม่ถูกต้องได้

12 ข้อคิด เพื่อชีวิตที่ดีของการทำงาน



ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)                            
จ.ส.อ.นที  ฟักเพชร
นักวิชาการคลังปฏิบัติการ  กลุ่มตรวจสอบภายใน
ความรู้เกี่ยวกับ  :  12 ข้อคิด เพื่อชีวิตที่ดีของการทำงาน


1. มนุษย์สัมพันธ์
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เพื่อนๆที่ทำงานไม่ชอบ ไม่อยากคุยด้วย หรือ เข้ากับเพื่อนในที่ทำงานไม่ได้เลย คงต้องถึงเวลาพิจารณา และ ปรับปรุง ทักษะด้านสัมพันธ์กันเร่งด่วนแล้วละคะ อย่ามัวแต่หลอกตัวเองว่า เราดีแล้ว เป็นไปไม่ได้หรอกเพราะถ้าเราดีจริงแล้วเราจะไม่มีเพื่อนเอาเลยหรือคะ มนุษย์สัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คุณไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ถ้ามนุษย์สัมพันธ์คุณแย่มากๆ ต่อให้คุณเก่งแค่ไหนก็ตาม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และ แน่นอนคุณเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องติดต่อกับคนอื่น
2. ทีม
คุณทำงานเป็นทีมได้หรือเปล่า คุณทำงานเป็นทีมได้ดีแค่ไหน หรือว่า ต้องทำงานคนเดียวถึงจะดี?  ในอนาคต การทำงานจะเน้นบุคคลที่ทำงานเป็นทีมได้ดีมากกว่าคนที่ชอบทำงานคนเดียว คุณทราบหรือไม่ว่า ในขณะนี้ทุกมหาวิทยาลัยในอเมริกา มีคอร์สฝึกสอนการทำงานเป็นทีมเพื่อรองรับความต้องการตลาดแรงงานในอนาคต            
ต่อไปโลกเราก็จะแคบลงเพราะการพัฒนาในด้านต่างๆ มีมากขึ้น การทำงานก็ต้องเป็นทีมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผู้มีทักษะในการทำงานเป็นทีม และ เป็นผู้ร่วมทีมที่ดีจะเป็นข้อจำเป็นในการทำงานทุกที่
3. Committed: หรือ ข้อตกลงในการทำงานระหว่างคุณกันคนอื่นๆ
พึงนึกไว้เสมอว่า อะไรที่คุณรับปากกับใครก็แล้วแต่ คุณต้องรับผิดชอบ และ ทำให้ได้ตามที่รับปาก ถ้าไม่ได้ หรือว่าล่าช้ากว่าที่เรารับปาก จะต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่บุคคลที่คุณรับปากอย่างน้อยสองหรือสามวัน อันนี้เป็นมารยาทการทำงานที่ดี เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะรับปากใครในเรื่องของการทำงาน ต้องคิดให้รอบคอบเสียก่อน
4. ฉันเป็นฉันเอง
ประเภทสาวมั่น หนุ่มมั่น ที่เราอาจจะเห็นจากทีวี หรือ ภาพยนตร์ ถ้าจะนำมาใช้คุณต้องดูเวลา และ สถานที่ให้ดีก่อน มิฉะนั้นแทนที่จะช่วยเสริมให้คุณดูดี มีภาพพจน์ กลับจะทำลายอนาคต ทางการทำงานของคุณไปเลย หลักการที่ดี ก็คือ ดูบุคคลที่เราติดต่อด้วย และ จะมั่นใจอะไร ก็ควรกระทำอย่างพอดี และเราจะเป็นที่ชื่นชมว่าเป็นคนมีมารยาท และประสบความสำเร็จในการติดต่อทางธุรกิจ
5. ขออยู่เงียบๆ คนเดียว
ข้อนี้สำคัญมาก อย่าพยายามทำตัวไม่แคร์ใคร ไม่รู้จักใคร เพราะสุดท้ายคุณจะเวียนไปหัวข้อแรก และ แน่นอน คุณจะเป็นคนแรกที่ทุกคนลืม อย่าเป็นคนที่เครียดง่าย สนุกยาก ใครๆ เข้าหายากคงจะดีกว่า ถ้าคุณจะทำตัวเป็นคนที่ยิ้มง่าย และ เป็นมิตรกับทุกคน เวลาเศร้า เก็บไว้กับคนสนิท และรู้ใจดีกว่า
6. ธุระส่วนตัว
ธุระทุกประเภทที่เป็นส่วนตัวของคุณ คุณอย่าใช้เวลาทำงานมาทำเป็นอันขาด เบอร์โทรศัพท์เอาไว้ให้เฉพาะลูกค้าที่จะโทรติดต่อเรื่องงาน อย่าให้เบอร์ที่ทำงานกับเพื่อนหรือแฟน แล้วก็คุยกันนอกเรื่องกันเป็นวันๆ รับรองได้ว่า อนาคตทางการงานคงจะไม่รุ่งแน่นอน เพื่อให้ประสบความสำเร็จทางการทำงานบางท่านถึงกับตั้งกฎไว้กับตัวเองเลยก็มี ว่าในชั่วโมงการทำงาน เขาจะไม่ทำอะไรที่ไม่ใช่งาน เช่น ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่คุยโทรศัพท์ส่วนตัว ไม่ไปธนาคาร สำหรับธุระส่วนตัวก็จะใช้เวลาที่ไม่ใช่เวลางานเท่านั้น
7. ความรัก
สำหรับความคิดที่จะมีความรักในที่ทำงานเดียวกัน จริงๆ ก็ทำได้ แต่รับรองได้ว่า มันจะทำลายอนาคตการทำงานของคุณ เพราะทุกคนจะมองเหมือนจับผิดว่าคุณใช้เวลาในการทำงาน มาสร้างตำนานรักมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงจะดีกว่า
8. เป้าหมาย
เป้าหมาย  เป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าคุณทำงานแบบมีเป้าหมายว่า งานแต่ละอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณมีแผนการเสร็จเมื่อไหร่ มีเป้าหมายในการทำงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ถึงคุณจะทำไม่ได้จริง แต่คุณต้องพยายามอย่างเต็มที่ รับรองได้ว่าหัวหน้าคุณคงมองคุณแบบไม่ธรรมดา และจะเป็นโอกาสที่ดีของคุณในการทำตัวให้น่าเชื่อถือ แต่ระวังอย่าใช้เป้าหมายมาพูดและทำไม่เคยได้เลย เพราะจะกลายเป็นการคุยอวดมากกว่า                                    
9. บุคลิกภาพ
สุภาษิตที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ยังคงใช้ได้ดีเสมอ บุคลิก และ การแต่งกาย เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จะช่วยกำหนดความสำเร็จทางการทำงานของคุณ อย่าพยายามแต่งกายมากเกินไป หรือ น้อยเกินไป และที่สำคัญ อย่าแต่งกายแบบที่ไม่ใช่คุณ คุณอาจจะเห็นดารา นางแบบ ใส่เสื้อตัวหนึ่งสวย แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะสวยเหมือนนางแบบถ้าคุณเอามาใส่  การแต่งกายที่ดี สำหรับการทำงาน ก็คือ สุภาพ และ โชว์บุคลิกเฉพาะของคุณออกมา
10. หัวหน้า
หัวหน้าก็คือหัวหน้า อันนี้คุณต้องระวังอย่างมาก อย่าทำตัวสนิทกับหัวหน้า จนคุณเผลอ ทำตัวไม่เคารพ หรือ เผลอเล่นจนเกินงาม สำหรับหัวหน้า สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด ก็คือ การให้เกียรติ และ แน่นอน ทุกครั้งที่คุณอยู่กับหัวหน้า หน้าที่หลักของคุณคือ การทำให้หัวหน้าของคุณ ดูดี อยู่เสมอในสายตาผู้อื่น จะด้วยคำพูด     การกระทำ คุณก็ไม่มีสิทธ์ทำให้หัวหน้าของคุณกลายเป็นตัวตลก เสียหน้า หรือ ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น โดยเด็ดขาด
11. นินทา
อย่าได้เผลอตัวไปอยู่ในกลุ่มของการนินทาใดๆ ในที่ทำงานโดยเด็ดขาด เพราะสุดท้ายคุณจะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด หรือดีไม่ดี กลายเป็นผู้เริ่มการนินทา โดยคุณไม่ได้ทำ ถ้าคุณต้องเจอภาวะการณ์คุยแบบไม่ได้ประโยชน์ หรือ การนินทาขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางออกที่ดีของคุณก็คือ อย่าพูดเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย โดยเด็ดขาด คุณทำได้แค่ นั่งฟัง โดยไม่ออกความคิด ให้บอกว่าไม่แน่ใจ หรือ ไม่รู้ หรือขอตัวออกจากวงสนทนา อ้างว่าไปห้องน้ำหรือมีธุระต้องทำที่นี้คุณก็ไม่เสียเพื่อน และก็ไม่เสียงานอีกต่างหาก
12. สร้างสรรค์
หัวใจของความสำเร็จทางการทำงาน คือ ความคิดสร้างสรรค์ อย่าพยายามเป็นคน ใครว่าอะไร ฉันก็เห็นด้วยไปเสียทุกอย่าง คุณไม่จำเป็นต้องเถียง หรือ โต้แย้ง ถ้าคุณยังไม่มีข้อมูล หรือ ยังไม่กล้าพูด แต่ คุณต้องพยายามฝึกสมองของคุณให้คิดในแบบของคุณอยู่เสมอ ทุกการทำงานของคุณ คุณต้องพยายามคิดว่า คุณจะทำอะไรเพิ่มเติมให้งานที่ทำอยู่ปัจจุบันดีขึ้น สะดวกขึ้นกว่าเดิม หลักของการเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ง่ายๆ ก็คือ กล้าคิด คิดให้บ่อย คิดให้มาก และคุณก็จะเป็นคนคิดสร้างสรรค์

ทั้งหมด 12 ข้อ เป็นสิ่งที่เราจะต้องระลึกอยู่เสมอในการทำงาน เพื่อส่งเสริมการทำงานของเราให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ที่นี้เราก็สามารถมั่นใจได้ว่า นอกจากเราจะเก่งงานที่รับผิดชอบ เรายังเก่งในการเป็นเพื่อน และ ผู้ทำงานที่ดีขององค์กรด้วย

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

อ่านอย่างไร ให้ถูกวิธี

ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวอัจฉราพรรณ  อารยพันธุ์
ตำแหน่ง :  นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

อ่านอย่างไร ให้ถูกวิธี
การอ่านทำให้คนฉลาด รอบรู้ข่าวสาร ทันยุค ทันเหตุการณ์ ตื่นเช้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านหนังสือที่ชอบ ได้คิดแต่เรื่องดี ๆ สมองก็จะปลอดโปร่ง ชีวิตก็จะยืนยาว เพราะไม่เครียด ถ้าได้อ่านเรื่องดี ๆ สนุก ๆ จะได้เก็บไปคิด การอ่านทำให้มีโลกทัศน์กว้าง เพราะอ่านมาก ทำให้รู้มาก รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโลกตลอดเวลา
การอ่านที่ดีต้องมีพื้นฐาน
1. รู้ภาษา สามารถใช้ถ้อยคำ และสำนวนภาษา
2. รู้หนังสือ รู้ว่าส่วนประกอบของหนังสือมีอะไรบ้าง
3. รู้จักเลือกหนังสืออ่านให้เหมาะสมกับวัย
4. รู้วิธีอ่านหนังสือ
5. รู้จักแหล่งที่จะหาหนังสืออ่าน
การอ่านมี 2 วิธี คือ
1. การอ่านออกเสียง คือ ผู้อ่านต้องเปล่งเสียงออกมาให้ได้ยินเป็นถ้อยคำ เป็นข้อความ เป็นเรื่องต่าง ๆให้ชัดถ้อย ชัดคำ การอ่านออกเสียงต้องรู้จักการอ่านคำพ้องรูป การอ่านอักษรนำ การอ่านอักษรควบ การอ่านคำสมาส การอ่านตามคำนิยม การอ่านออกเสียงที่ดี ดูจากอะไรบ้าง
- อัตราความเร็วในการออกเสียง ต้องมีจังหวะ ลีลา ความเร็วพอเหมาะ
- ความดังของเสียง
- ถูกต้องอักขระ วิธีตามหลักภาษา
- ระดับเสียงสูง ต่ำ และน้ำหนักของคำ
- แบ่งวรรคตอน ได้เหมาะสม
- ออกเสียงและเอื้อนเสียงให้เหมาะสม
2. การอ่านในใจ คือ การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่องหรือเรียกว่า อ่านเอาเรื่อง อ่านอย่างไรถึงจะจับใจความสำคัญได้
- อ่านข้อความให้เข้าใจ พยายามจับใจความสำคัญของเรื่องแต่ละย่อหน้า
- ตั้งคำถาม ถามในใจว่าอะไร คือ จุดสำคัญหรือใจความสำคัญของเรื่อง
- ร่างข้อความที่อ่านสรุปไว้เป็นตอน ๆ
- เรียบเรียงข้อความให้เป็นภาษาของตนเอง
รู้ได้อย่างไร ว่าใครคิดวิเคราะห์เป็น  การคิดกับการวิเคราะห์เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ยาก เพราะขณะที่วิเคราะห์ก็ต้องคิดไปด้วย
การคิด หมายถึง นึก คำนึง ระลึก ดำริ คำนวณ ตรึกตรอง ไตร่ตรอง
การวิเคราะห์ หมายถึง ใคร่ครวญ แยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้
การคิดวิเคราะห์ คือ การนึก คำนึง ระลึก ฯลฯ แล้วจึงใคร่ครวญ แยกเป็นส่วนๆ เพื่อศึกษาเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
การคิดต้องมีทักษะการฟัง อ่าน บรรยาย เขียน แสดงออก นอกจากนั้น ยังต้องฝึกสังเกต สำรวจ ตั้งคำถาม ตีความ เปรียบเทียบ เหล่านี้เรียกว่า เป็นทักษะพื้นฐานของการคิด คนที่อยากคิดเก่งๆ ต้องมีการฝึกฝนทักษะการคิดระดับสูง เช่น การนิยมการตั้งสมมติฐาน การจัดระบบการวิเคราะห์ เป็นต้น
การวิเคราะห์เป็นการคิดระดับสูง มีทักษะย่อยที่เป็นแนวทางฝึกฝน ให้เกิดการวิเคราะห์ได้ ดังนี้
1. การรวบรวมข้อมูลมาจัดระบบ เรียบเรียงให้ง่ายกับความเข้าใจ
2. การกำหนดมิติ หรือแง่มุมที่จะวิเคราะห์ โดยอาศัยความรู้เดิม ประสบการณ์
3. การกำหนดหมวดหมู่ในมิติหรือแง่มุมที่จะวิเคราะห์
4. การแจกแจงข้อมูลที่มีอยู่ลงในแต่ละหมวดหมู่
5. การนำข้อมูลที่แจกแจงแล้วมาจัดลำดับ เรียงลำดับจัดระบบให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
6. การเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละหมวดหมู่ในแง่ความสอดคล้อง ความขัดแย้ง ความมากน้อย ผลบวกลบ ความเป็นเหตุเป็นผล  
การคิดเป็นกิจกรรมทางสมองที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นความสามารถอย่างหนึ่งทางสมองและเป็นนามธรรมที่ลักษณะซับซ้อนมองไม่เห็น ไม่สามารถสังเกตหรือสัมผัสได้ การวัดความสามารถในการคิด ผู้สร้างเครื่องมือวัดต้องมีความรอบรู้ในทฤษฎี โครงสร้าง องค์ประกอบของการคิด เพื่อนำมากำหนดจุดมุ่งหมาย นิยามเชิงปฏิบัติการ แล้วจึงสร้างผังของแบบวัดที่มีคุณภาพได้