วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ “การคิดเชิงระบบ System Thinking”



ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
นางสาวจารุวรรณ   โชติวัชรมัย  
นักบัญชีชำนาญการ
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  เทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ “การคิดเชิงระบบ System Thinking”

คำนิยาม
การคิดเชิงระบบ หมายถึง การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบย่อยๆ เป็นการคิดที่มีความเข้าใจ เชื่อมโยง มีในทฤษฎีระบบ
วิธีคิดเชิงระบบ แบ่งเป็น 3 ประเภท
1.Systematic Thinking มุ่งเน้นที่วิธีการหรือระเบียบแบบแผนการคิด
2.Systems Thinking มุ่งเน้นที่องค์ประกอบหรือระบบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระบบ มีความสัมพันธ์ต่อกัน
3.Systemic Thinking การผนวกรวมกันระหว่างการคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสังเคราะห์ มองเห็นภาพในระบบรวมทั้งหมดของสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อน
คุณสมบัติของการคิดเชิงระบบ
1.คิดแบบมีความเป็นองค์รวม (Holistic หรือ Wholeness) ผลที่ได้จากระบบจะไม่ใช่ผลบวก  หรือเพียงแค่มารวมกันของส่วนประกอบเหล่านั้น แค่จะได้คุณสมบัติใหม่ด้วย
2.คิดเป็นเครือข่าย (Networks) คิดเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นเครือข่ายของระบบ
3.คิดเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) ระบบหนึ่ง ๆ อาจจะมาจากระบบย่อย ๆ หลายระบบที่ประกอบกันขึ้นมา และในระบบย่อยเองก็มีความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบ
4.คิดแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (Interaction) ระหว่างระบบด้วยกันทั้งระบบย่อยกับระบบย่อยด้วยกัน ระบบย่อยกับระบบใหญ่ ระบบใหญ่กับสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยจะมีผลต่อระบบใหญ่ด้วย
5.คิดอย่างมีขอบเขต (Boundary) ระบบหนึ่ง ๆ มาจากระบบย่อย ๆ และระหว่างระบบย่อยกับระบบใหญ่ ต่างมีขอบเขตของระบบที่แสดงให้เห็นเขตแดนว่า ระบบนั้น ๆ ครอบคลุมอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่อยู่นอกเขตแดน ซึ่งก็ถือว่าอยู่นอกระบบแต่ในหลายระบบนั้นก็ไม่ได้แยกเขตแดนกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการซ้อนทับ (Overlap) กันอยู่ เช่น ระบบที่เป็นนามธรรม ระบบธรรมชาติ   ระบบทางสังคม
6.คิดอย่างมีแบบแผน (Pattern) ระบบมีความคงที่แน่นอน เพื่อเป็นหลักประกันว่า กระบวนการทำงานทุกอย่างในทุก ๆ ขั้นตอน จะไม่มีการเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของระบบโดยรวม
7.คิดอย่างมีโครงสร้าง (System Structure) แต่ละส่วนที่ประกอบเป็นระบบ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ และทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ประกอบกันอาจมีลักษณะ รูปร่าง หน้าที่หรือแบบแผน     การทำงานที่ต่างกัน แต่ก็มีการเชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสม ทำหน้าที่อย่างสัมพันธ์กัน ทำงานเสริมประสานกันกับส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบโดยรวม
8.คิดอย่างมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptation) ระบบต่าง ๆ จะมีการปรับตัวและพยายามสร้างสภาวะสมดุล และคงความสมดุลนั้นไว้ ด้วยการจัดระบบภายในตนเอง (Self Organize)
9.คิดเป็นวงจรป้อนกลับ (Feedback - Loops) การคิดเชิงระบบ เป็นการคิดในลักษณะ เป็นวง (Loops) มากกว่าจะเป็นเส้นตรง ทุกส่วนต่างมีการเชื่อมต่อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
การคิดเชิงระบบจะทำให้ “เห็นผลกระทบ” มองเห็นและตระหนักได้ว่า การทำงานของส่วนย่อยของระบบทำงานอย่างไร หากไม่ทำงานหรือผิดพลาด จะมีผลกระทบต่อระบบโดยรวมอย่างไร และเห็นว่าระบบไม่ใช่เป็นการนำส่วนประกอบต่าง ๆ มารวมเข้าด้วยกัน หรือ “สะสม” (Collection) รวมกันไว้
การคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองได้ชัดเจนเพียงพอ” มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบนั้นว่า มีอิทธิพลต่อแบบแผนพฤติกรรม (Pattern of Behavior) และเหตุการณ์ของระบบได้
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง” มีความเข้าใจต่อระบบของการดำเนินชีวิตนั้น มีการเคลื่อนไหว และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ความคิดของเราเองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
การคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองอย่างไม่ประมาท” เข้าใจว่าเหตุการณ์หนึ่งจะมีอิทธิพลที่จะส่งผลกระทบหรือสะเทือนต่ออีกเหตุการณ์หนึ่งได้ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่สองจะเกิดหลังจากเหตุการณ์แรกได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และอยู่ไกลจากเหตุการณ์แรกก็ตาม
การคิดเชิงระบบจะทำให้ ทำในสิ่งที่ควรทำ “เป็นในสิ่งที่ควรจะเป็น” รู้ว่า “อะไร” ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานั้น ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับ “ตำแหน่งของเรา” ที่อยู่ในระบบขณะนั้น ๆ
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองในมุมที่ไม่เคยมอง” เกิดการท้าทายสมมติฐานเดิมของเราที่พยายามเข้าถึงความเป็นจริงในมุมมองใหม่ ๆ คิดแบบที่ไม่เคยคิด ไม่สรุปอะไร อย่างที่เคยสรุป
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “มองเห็นสิ่งที่คุณทำมีผลต่อคนอื่นและระบบ” และสิ่งที่คนอื่นทำก็มีผลต่อคุณและระบบ ตระหนักว่าการกระทำของเราหรือการกระทำของคนอื่นว่ามีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อระบบโดยรวม
ความคิดเชิงระบบจะทำให้ “เลิกกล่าวโทษใคร.....ซะที” วิธีคิดกระบวนการระบบไม่สนับสนุนให้เราหา “แพะรับบาป” เมื่อสิ่งที่กระทำนั้นผิดพลาดหรือดำเนินต่อไปไม่ได้ตามที่วางแผนไว้  แต่จะสนับสนุนให้เราสนใจ “มอง” และ “เห็น” ต่างออกไปด้วยการ “ทดลองตั้งคำถามใหม่” เมื่อบางอย่างไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้

ผู้แบ่งปันหวังว่า เทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ “การคิดเชิงระบบ” ที่นำเสนอนี้ สามารถนำไปประยุกต์กับองค์กรได้ทุกองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในงานตรวจสอบขององค์กร

แหล่งที่มาของข้อมูล  : วิชาเทคนิคการเสริมงานตรวจสอบ   โดย ผศ.ดร.วัลภา สบายยิ่ง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น