ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวอัจฉราพรรณ อารยพันธุ์
ตำแหน่ง : นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
อ่านอย่างไร ให้ถูกวิธี
การอ่านทำให้คนฉลาด รอบรู้ข่าวสาร ทันยุค ทันเหตุการณ์ ตื่นเช้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ อ่านหนังสือที่ชอบ ได้คิดแต่เรื่องดี ๆ สมองก็จะปลอดโปร่ง ชีวิตก็จะยืนยาว เพราะไม่เครียด ถ้าได้อ่านเรื่องดี ๆ สนุก ๆ จะได้เก็บไปคิด การอ่านทำให้มีโลกทัศน์กว้าง เพราะอ่านมาก ทำให้รู้มาก รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโลกตลอดเวลา
การอ่านที่ดีต้องมีพื้นฐาน
1. รู้ภาษา สามารถใช้ถ้อยคำ และสำนวนภาษา
2. รู้หนังสือ รู้ว่าส่วนประกอบของหนังสือมีอะไรบ้าง
3. รู้จักเลือกหนังสืออ่านให้เหมาะสมกับวัย
4. รู้วิธีอ่านหนังสือ
5. รู้จักแหล่งที่จะหาหนังสืออ่าน
การอ่านมี 2 วิธี คือ
1. การอ่านออกเสียง คือ ผู้อ่านต้องเปล่งเสียงออกมาให้ได้ยินเป็นถ้อยคำ เป็นข้อความ เป็นเรื่องต่าง ๆให้ชัดถ้อย ชัดคำ การอ่านออกเสียงต้องรู้จักการอ่านคำพ้องรูป การอ่านอักษรนำ การอ่านอักษรควบ การอ่านคำสมาส การอ่านตามคำนิยม การอ่านออกเสียงที่ดี ดูจากอะไรบ้าง
- อัตราความเร็วในการออกเสียง ต้องมีจังหวะ ลีลา ความเร็วพอเหมาะ
- ความดังของเสียง
- ถูกต้องอักขระ วิธีตามหลักภาษา
- ระดับเสียงสูง ต่ำ และน้ำหนักของคำ
- แบ่งวรรคตอน ได้เหมาะสม
- ออกเสียงและเอื้อนเสียงให้เหมาะสม
2. การอ่านในใจ คือ การอ่านเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่องหรือเรียกว่า อ่านเอาเรื่อง อ่านอย่างไรถึงจะจับใจความสำคัญได้
- อ่านข้อความให้เข้าใจ พยายามจับใจความสำคัญของเรื่องแต่ละย่อหน้า
- ตั้งคำถาม ถามในใจว่าอะไร คือ จุดสำคัญหรือใจความสำคัญของเรื่อง
- ร่างข้อความที่อ่านสรุปไว้เป็นตอน ๆ
- เรียบเรียงข้อความให้เป็นภาษาของตนเอง
รู้ได้อย่างไร ว่าใครคิดวิเคราะห์เป็น การคิดกับการวิเคราะห์เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ยาก เพราะขณะที่วิเคราะห์ก็ต้องคิดไปด้วย
การคิด หมายถึง นึก คำนึง ระลึก ดำริ คำนวณ ตรึกตรอง ไตร่ตรอง
การวิเคราะห์ หมายถึง ใคร่ครวญ แยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้
การคิดวิเคราะห์ คือ การนึก คำนึง ระลึก ฯลฯ แล้วจึงใคร่ครวญ แยกเป็นส่วนๆ เพื่อศึกษาเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
การคิดต้องมีทักษะการฟัง อ่าน บรรยาย เขียน แสดงออก นอกจากนั้น ยังต้องฝึกสังเกต สำรวจ ตั้งคำถาม ตีความ เปรียบเทียบ เหล่านี้เรียกว่า เป็นทักษะพื้นฐานของการคิด คนที่อยากคิดเก่งๆ ต้องมีการฝึกฝนทักษะการคิดระดับสูง เช่น การนิยมการตั้งสมมติฐาน การจัดระบบการวิเคราะห์ เป็นต้น
การวิเคราะห์เป็นการคิดระดับสูง มีทักษะย่อยที่เป็นแนวทางฝึกฝน ให้เกิดการวิเคราะห์ได้ ดังนี้
1. การรวบรวมข้อมูลมาจัดระบบ เรียบเรียงให้ง่ายกับความเข้าใจ
2. การกำหนดมิติ หรือแง่มุมที่จะวิเคราะห์ โดยอาศัยความรู้เดิม ประสบการณ์
3. การกำหนดหมวดหมู่ในมิติหรือแง่มุมที่จะวิเคราะห์
4. การแจกแจงข้อมูลที่มีอยู่ลงในแต่ละหมวดหมู่
5. การนำข้อมูลที่แจกแจงแล้วมาจัดลำดับ เรียงลำดับจัดระบบให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
6. การเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละหมวดหมู่ในแง่ความสอดคล้อง ความขัดแย้ง ความมากน้อย ผลบวกลบ ความเป็นเหตุเป็นผล
การคิดเป็นกิจกรรมทางสมองที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นความสามารถอย่างหนึ่งทางสมองและเป็นนามธรรมที่ลักษณะซับซ้อนมองไม่เห็น ไม่สามารถสังเกตหรือสัมผัสได้ การวัดความสามารถในการคิด ผู้สร้างเครื่องมือวัดต้องมีความรอบรู้ในทฤษฎี โครงสร้าง องค์ประกอบของการคิด เพื่อนำมากำหนดจุดมุ่งหมาย นิยามเชิงปฏิบัติการ แล้วจึงสร้างผังของแบบวัดที่มีคุณภาพได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น