วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

วิธีการจัดการเวลา

แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวศุภลักษณ์  มูลสมบัติ  >>>>>
ตำแหน่ง :  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางนภัทร  จันทราวดี  >>>>>
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานการคลังชำนาญงาน
ความรู้เกี่ยวกับ  :วิธีการจัดการเวลา

การบริหารเวลา คือ การรู้จักวางแผนและจัดสรรเวลาในการทำงานอย่างถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักบริหารเท่านั้นที่จะสามารถบริหารเวลา ทุกคนก็สามารถทำได้เพียงแต่ต้องรู้จักที่จะแบ่งเวลา โดยจัดสรรเวลา    ของตนเองให้ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นทุกนาทีอย่าปล่อยไปโดยเปล่า

ประโยชน์ ลองมาจัดสรรเวลาด้วยวิธีการจัดการเวลา ดังนี้
1.ควรตั้งนาฬิกาในตำแหน่งที่มองเห็นง่าย เช่น วางบนโต๊ะหรือติดกำแพงด้านที่เรานั่งหันไปหา เพื่อให้มองเห็นเวลาได้ชัดเจน และจัดการกับเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม รวมถึงหัดสวมนาฬิกาติดตัวไว้ด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อดูเวลาอย่างเดียว การให้ความสำคัญกับเรื่องเวลายังช่วยให้มีความรับผิดชอบตรงต่อเวลาขึ้นด้วย
2.จัดลำดับความสำคัญของงานให้ถูก งานไหนส่งก่อน งานไหนส่งทีหลัง แยกความสำคัญให้ออก ช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น และไม่เครียดด้วย
3.จำเดดไลน์ให้ขึ้นใจ เมื่อรู้กำหนดเวลาส่งงานแล้ว ควรจำให้ได้ว่าชิ้นไหนส่งเมื่อไหร่ จะได้ไม่เป็นดินพอกหางหมูและไม่ลนตอนก่อนส่ง เผื่ออาทิตย์ไหนมีกิจกรรมเสริมจะได้จัดการเวลาทำงานให้ดีขึ้น ถ้าจำไม่ได้ให้จดไว้
4.ใช้มือถือในทางที่เป็นประโยชน์ ลองเปลี่ยนแนวจากเล่นเกมส์เป็นหลักมาใช้ในทางที่มีประโยชน์บ้าง เช่น หาแอพฯ เรียนภาษาอังกฤษดีๆ หรือใช้แอพฯ ช่วยจัดการเวลาก็ได้ เช่น แอพฯ สมุดจดบันทึก ออกาไนเซอร์ ปฏิทินจดงานน่ารักๆ จะได้ไม่พลาดงานสำคัญ
5.หักห้ามใจเรื่องการเล่นโซเชียลมีเดียบ้าง หากโซเชียลมีเดียที่ว่าเล่นเพื่อความบันเทิงล้วน ๆ ลองหักห้ามใจ ลด ละ เลิกบ้าง เพราะสื่อพวกนี้กินเวลาชีวิตเราไปมหาศาล ถ้ามันยากจริง ๆ ลองค่อย ๆ ลดเวลาเล่นลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีสมาธิพอที่จะไม่สนใจ รับรองว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นแน่ๆ
6.กำหนดแผนงาน To-Do-List ในแต่ละวัน เขียนสิ่งที่ต้องทำในบันทึก พร้อมกับจัดสรรเวลาแล้วก็จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมไปด้วย และระบุเวลาไปว่าจะทำอะไร เท่าไหร่ อาจจะเป็นในช่วงแรก ๆ ของคนที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการบริหารเวลา แต่ถ้าใครที่คุ้นเคยแล้วอาจจะไม่ต้องบันทึกก็ได้ แต่ถ้างานเยอะมากก็น่าจะบันทึกว่าวันนี้เราจะต้องทำอะไรบ้าง จะช่วยให้เราทำงานในเวลาที่มีจำกัดได้ดีขึ้น และเมื่อผ่านวันไปแล้วให้กลับมาเช็คด้วยว่าทำสำเร็จ  ตรงตามที่วางแผนหรือเปล่า หากวางแผนแล้วไม่เคยทำสำเร็จเลย ต้องลองพิจารณาตัวเองถึงสาเหตุที่ทำไม่ได้ตามแผน  เราขี้เกียจหรือแผนแน่นไป
7.ระหว่างทำงานพยายามเรียนรู้งานนั้นๆ ไปในตัว เผื่ออนาคตข้างหน้าที่งานแบบเดียวกันอีกจะได้คล่องขึ้น คล้าย ๆ กับการทำโจทย์เลขทำหลาย ๆ ข้อ เราจะชินและทำโจทย์ประเภทเดียวกันได้คล่องขึ้น
8.รู้ขีดความสามารถตัวเองและวางแผนให้เหมาะสม ต้องรู้แนวตัวเองก่อนว่าเราเป็นแบบไหน ทำงานเร็วหรือช้า ช่วงไหนมีสมาธิในการทำงานมากที่สุด สไตล์ใคร สไตล์มัน รู้จักตัวเองดีที่สุด
9.ทำงานด้วยความรอบคอบ จะได้ไม่เสียเวลาแก้งานเดิม เพราะทำงานผิด 1 ครั้งจะต้องเสียเวลาเพิ่มอีก1 เท่า
10.ลดจำนวนครั้งในการประชุม เรื่องประชุมนี่เป็นเรื่องที่จริง ๆ แล้วหลีกเลี่ยงยาก แล้วเป็นเรื่องที่บางครั้งเสียเวลามาก ถ้าประธานที่ประชุมไม่คุมเวลาให้ดีท่านที่เป็นหัวหน้างานต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ว่ามันไม่ได้กินเวลาเฉพาะของท่านมันกินเวลาผู้ร่วมประชุมของลูกน้องท่านด้วย ต้องพยายามใช้เวลาประชุมให้น้อยที่สุด แต่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ถ้าประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการประชุมต้องไม่เอามาพูด
11.ออกจากบ้านให้เช้าขึ้น จะทำให้เรามีเวลาที่จะเตรียมการอะไรได้ดี มีสมาธิที่จะทำอะไรได้ดีขึ้น แล้วก็ได้เวลาที่ทำงานมากขึ้นด้วย
12.จำกัดเวลาหากมีกิจกรรมเพิ่มเติมจากแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้รบกวนเวลาอื่น ๆ เช่น มีธุระต้องไปซื้อของ ต้องกำหนดเวลาเลือกซื้อของเฉพาะที่จำเป็น  เพื่อไม่ให้แผนที่วางไว้ล้มเหลว
13.จัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ ความเป็นระเบียบมีส่วนช่วยเรื่องเวลา ถ้าวางเอกสารถูกที่ถูกทาง แยกเป็นระเบียบ ก็ง่ายต่อการหยิบมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว รู้ว่าของอยู่ตรงตำแหน่งนี้หยิบปั๊บได้เลย
14.อย่ามองข้ามเศษเวลา หมายถึง ช่วงเวลาที่เหลือเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 3 นาที 5 นาที 15 นาที เช่นทานข้าวกลางวันเสร็จเร็ว เหลืออีก 10 นาที ลองเอาเวลาเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ดู เช่น หยิบงานชิ้นต่อไปมาทำก่อนเวลาเข้าทำงาน

วิทยากรมือใหม่โครงการระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ


 
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวอนินทิศา  ไทยบัณฑิตย์
ตำแหน่ง  :  นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ
คุณลิขิต  (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นายกิติคุณ  จงเสรีกิจ
ตำแหน่ง  :  นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ
ความรู้เกี่ยวกับ  :   วิทยากรมือใหม่โครงการระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ

ทุกคนคงเคยเข้ารับการอบรมหรือสัมมนา และแน่นอนในการอบรมหรือสัมมนานั้น คนสำคัญที่สุดในห้องอบรม ก็คือ วิทยากรนั่นเอง เป็นบุคคลที่กุมชะตาชีวิตของผู้เข้ารับการอบรมเอาไว้ ทำไมนะเหรอ เพราะวิทยากรสามารถทำให้  ผู้เข้ารับการอบรมรู้สึกสุข สนุก เศร้า เบื่อ และง่วงนอน ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถและความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของวิทยากร ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมวิทยากรมืออาชีพจึงไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้ นั่นก็เพราะวิทยากรต้องทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ตามเนื้อหาที่บรรยายอย่างไม่น่าเบื่อ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่วิทยากรนอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะบรรยายอย่างถ่องแท้แล้ว ที่สำคัญจะต้องมีทักษะในการสื่อสารอย่างดีเยี่ยม และที่ขาดไม่ได้คือ มนุษยสัมพันธ์   ที่ดี วิทยากรมืออาชีพจึงต้องมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง
และวันหนึ่งภาระอันยิ่งใหญ่กับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งก็มาเยือน เมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งของทีมวิทยากรสำหรับการฝึกอบรม

โครงการระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ซึ่งมีทั้งการบรรยายและฝึกปฏิบัติระบบงานคอมพิวเตอร์ ช่วงแรกให้ฝึกโดยการเป็นผู้ช่วยวิทยากรไปก่อน แต่ผู้ช่วยก็คือผู้ช่วยแหละนะ ถึงจะช่วยได้บ้างไม่ได้บ้างก็ยังไม่ค่อยเป็นอะไร หากแต่เมื่อต้องเป็นวิทยากร นั่นคือ นางเอกพระเอกของห้องอบรมที่ทุกคนจับจ้อง ไว้ใจ เชื่อใจ ดังนั้นเราจึงไม่รู้ไม่ได้ ถ้าวิทยากรตกม้าตายการอบรมก็ไปไม่รอด สิ่งที่ต้องทำก็คือการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการเป็นวิทยากรมือใหม่
1.วิเคราะห์ตนเองว่ามีความรู้ในหัวข้อที่ได้รับมอบหมายเพียงพอหรือยัง หากพบว่ายัง ต้องหาความรู้เพิ่มเติม อาจจะเป็นเอกสารหรือผู้รู้ในทีมงาน การสืบค้นข้อมูลจาก Internet 
2.ทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ และเนื้อหาของหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย ต้องเข้าใจให้ชัดเจนในทุกประเด็น
3.ศึกษาข้อมูลของผู้เข้ารับการอบรม เป็นกลุ่มใด หรือเป็นใคร เพื่อจะได้เน้นความรู้ได้ชัดเจนขึ้น
4.จัดทำและเตรียมข้อมูล/สื่อประกอบการอบรม โดยจัดทำ PowerPoint ให้ชัดเจน เข้าใจง่าย สอดคล้องกับเนื้อหา
5.ซักซ้อมขั้นตอนกระบวนการนำเสนอให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน จะทำให้ไม่เกิดการติดขัด เนื่องจากโจทย์ที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติต่อเนื่องจากหัวข้อบรรยายที่ต่อเนื่องกัน เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการเชื่อมโยงระบบงานทั้งหมด (ควรฝึกซ้ำหลายๆ รอบ)
6.ซักซ้อมพูดคุยและสร้างความเข้าใจกับวิทยากรผู้ช่วยให้ชัดเจน
7.ต้องไปถึงสถานที่อบรมก่อนเวลา เพื่อทดลองใช้อุปกรณ์ในห้องอบรมให้ใช้งานได้อย่างไม่ติดขัด
8.สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่ชื่นชอบการพูดต่อหน้าสาธารณชน นั่นคือ ต้องมั่นใจในตัวเอง ซึ่งหากเราเตรียมตัวมาพร้อมจะมีความมั่นใจในระดับหนึ่งแล้ว ต่อมาก็เสื้อผ้า หน้า ผม จัดให้พอเหมาะ เยอะไปก็ไม่ดี แต่หากยังรู้สึกตื่นเต้น การทำสมาธิก็สามารถช่วยได้อย่างดี
หลังจากการเป็นวิทยากรมือใหม่ (ครั้งแรก) ผ่านไป ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร หากมีการเตรียมตัวให้พร้อม     จะสามารถช่วยลดความผิดพลาด และความตื่นเต้นลงได้ รวมถึงการตั้งใจฝึกซ้อมก็สามารถใช้ทดแทนพรสวรรค์ที่ไม่ได้มีกันทุกคนได้ ที่สำคัญรอยยิ้มก็ช่วยคุณได้เช่นกัน ทุกคนชอบให้คนยิ้มให้มากกว่าตีหน้าขรึมหรือทำหน้าบึ้งใส่แน่นอน ส่วนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ใช้เป็นข้อมูลนำมาปรับปรุงสำหรับการบรรยายในครั้งต่อไป เก็บสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เผื่อว่าสักวันจะได้เป็นวิทยากรมืออาชีพกับเขาบ้าง