วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติ

ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวปนัสยา  เสียงก้อง
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลัง

คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางสาวศศิธร  ตันติพงศ์ 
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
ความรู้เกี่ยวกับ  : การเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติ
หน่วยงาน : กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร


การเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติ
ภัยจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ น้ำท่วม ไฟป่า พายุ หรือโรคระบาด เป็นสิ่ง
ที่มนุษย์เราต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งภัยคุกครามจากผู้ก่อการร้าย เช่น ระเบิดพลีชีพ ตึกถล่ม อาวุธเคมี อาวุธเชื้อโรค อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ โดยไม่เลือก วัน เวลา สถานที่ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในแต่ละครั้งยังผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราทำได้เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบานั่นคือการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติไว้ล่วงหน้า ก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วการเตรียมการรับมือภัยธรรมชาติและภัยจากผู้ก่อการร้ายจะไม่แตกต่างกันนัก เริ่มจาก
1. วางแผนสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ในแต่ละประเภท
•ศึกษาลักษณะ ข้อควรปฏิบัติ และข้อหลีกเลี่ยง ของภัยพิบัติแต่ละประเภท ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดไฟป่า ควรสวมหน้ากากกันควันไฟและอพยพไปในทิศเหนือลม หรือ เมื่อเกิดพายุ ควรอยู่ห่างจากหน้าต่างหรือหนีหลบลงไปห้องใต้ดิน เป็นต้น
•ให้ความรู้แก่ เพื่อน ญาติพี่น้อง ครอบครัว
•เตรียมพร้อมประเมินสถานการณ์ เพื่อตัดสินใจที่จะอพยพหรืออยู่หลบภัยในที่พัก
•ในบางสถานการณ์ การอยู่หลบภัยในที่พักจะปลอดภัยกว่า เช่น เมื่อเกิดพายุหรืออากาศภายนอกเป็นพิษ ให้พิจารณาเลือกห้องภายในตัวอาคารที่มั่นคงแข็งแรง ปิดมิดชิด มีเสบียงเพียงพอ
•ในกรณีที่ต้องอพยพ ให้กำหนดจุดนัดพบไว้หลายแห่ง ทั้งในระยะใกล้ที่สามารถเดินไปได้ จนถึงระยะไกล โดยกำหนดไว้ในทุกทิศทาง คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก สำหรับคนที่มีรถยนต์ ควรเติมน้ำมันให้เหลืออย่างน้อยครึ่งถังอยู่เสมอ
•วางแผนที่จะติดต่อสื่อสารถึง เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือครอบครัว เผื่อไว้หลายๆ รูปแบบ    หากโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือใช้การไม่ได้ ก็อาจใช้อีเมลแทน อนึ่งการติดต่อข้ามเมืองอาจทำได้สะดวกกว่าการติดต่อในเมืองที่พักอยู่เพราะอาจไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
•ควรวางแผนเผื่อไว้ กรณีเกิดเหตุการณ์ขณะที่อยู่ที่สถานศึกษาหรือที่ทำงาน
•หมั่นซักซ้อมและปรับปรุงแผนที่วางไว้อยู่เสมอ
 2. เตรียมรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉิน
•เอกสารสำคัญประจำตัว เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ และอื่นๆ
ควรเก็บไว้ในถุงพลาสติกหรือแฟ้มที่กันน้ำได้
•อุปกรณ์กรองอากาศ เช่น หน้ากากกันแก๊สพิษหรือเชื้อโรค
•น้ำสะอาดสำหรับใช้ดื่ม อย่างน้อย 3 วัน
•อาหารแห้ง สำเร็จรูป เครื่องกระป๋อง ให้เพียงพอ อย่างน้อย 3 วัน
•เครื่องนุ่งห่ม เสื้อกันฝน เสื้อกันหนาว ถุงมือ ถุงนอน
•ไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉายสำรอง
•วิทยุที่ใช้ถ่านไฟฉาย
•เงินสด หรือเช็คเดินทาง
•ผ้าพันแผล ยาฆ่าเชื้อโรค ยารักษาโรคทั่วไป ยาประจำตัว
•ไม้ขีดไฟแบบกันน้ำ
•เข็มทิศ
•นกหวีด สำหรับเป่าเรียกความช่วยเหลือ
•รองเท้าที่คงทนและสวมใส่สบาย
•กระดาษชำระ

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)



ความรู้ที่แบ่งปัน  :  กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวพิชญาภา  ภมรมานพ >>>>>
ตำแหน่ง : นิติกร

คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางสาวศิริพร  บานใจ >>>>>
ตำแหน่ง : นิติกร

หน่วยงาน   สำนักกฎหมาย
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (4) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อดำรงชีพในยามชราภาพแก่ประชาชนให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในวัยชราและเป็นการสร้างวินัยการออมให้แก่ประชาชนในวัยทำงาน จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขึ้น
1. ผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช. บุคคลผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก
กอช. จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุระหว่าง 15 ปี
บริบูรณ์ ถึงไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และจะต้องไม่เป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสมาชิกในระบบบำเหน็จบำนาญอื่นตามที่ประกาศไว้ในกฎกระทรวง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปีแรกของการรับสมัครสมาชิก ได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้สูงสุดเป็นระยะเวลา 10 ปี รวมถึงบุคคลที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปด้วย
2. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. บุคคลผู้มีสิทธิสามารถยื่นคำร้องสมัครสมาชิกผ่านทางธนาคารทั้ง 3 แห่ง ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนติดต่อได้ทุกสาขาของธนาคารดังกล่าวทั่วประเทศ
 
3. เกณฑ์การส่งเงินสะสมและการได้รับเงินสมทบ สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุน กอช. ไม่ต่ำกว่า 50 บาท และไม่เกิน 1,100 บาท (สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี) ผ่านช่องทางธนาคารดังกล่าวข้างต้นโดยรัฐจะทำการสมทบเข้าให้สมาชิกตามสัดส่วน ดังนี้
3.1 สมาชิกมีอายุระหว่าง 15 – 30 ปี รัฐจะสมทบเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
3.2 สมาชิกมีอายุระหว่าง 30 – 50 ปี รัฐจะสมทบเป็นจำนวนร้อยละ 80 ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
3.3 สมาชิกมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐจะสมทบเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท
 อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกเปลี่ยนงานและทำให้สมาชิกได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางรายได้
เพื่อการชราภาพตามกฎหมายที่รัฐหรือนายจ้างทำการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน หรืออยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถคงเงินไว้ในกองทุน กอช. ได้และคงการเป็นสมาชิกภาพต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนและรัฐจะไม่สมทบให้เช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลจะรับประกันให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสะสมและเงินสมทบที่นำไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน โดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป   โดยจะคำนวณเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวในวันที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือกรณีเสียชีวิต

4. เงื่อนไขการจ่ายเงินให้แก่สมาชิก กองทุนจะจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
 4.1 สมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว จนกว่าจะเสียชีวิตและจะทำการคืนเงินให้แก่ทายาทผูู้มีสิทธิรับผลประโยชน์ของสมาชิก  หากมีเงินคงเหลือในบัญชีกองทุนของสมาชิกผู้นั้น
 4.2 สมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สมาชิกจะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ
และผลประโยชน์ของเงินสะสมทั้งหมดหรือบางส่วนจากกองทุนก็ได้ โดยให้ขอรับเพียงครั้งเดียว ส่วนเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบจะจ่ายเป็นบำนาญให้แก่สมาชิก เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งหากสมาชิกได้มีการคงเงินไว้ในกองทุนทั้งหมดหรือบางส่วน ก็จะนำเงินที่คงไว้มาคำนวณเพื่อจ่ายบำนาญด้วย

4.3 สมาชิกลาออกจากกองทุนก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม
 4.4 สมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินตามจำนวนที่คงเหลืออยู่ในบัญชีกองทุนของสมาชิกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับผลประโยชน์
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยังมีประชากรวัยทำงานจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญหรือกฎหมายประกันสังคมใดๆ ผู้แบ่งปันจึงใคร่ขอประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลากรซึ่งมีบุตรหลานหรือญาติมิตรที่ประกอบอาชีพดังกล่าว ให้ทำการสมัครสมาชิกกองทุนและเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมวินัยการออมเงินเพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นการสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุอีกด้วย