วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)



ความรู้ที่แบ่งปัน  :  กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวพิชญาภา  ภมรมานพ >>>>>
ตำแหน่ง : นิติกร

คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางสาวศิริพร  บานใจ >>>>>
ตำแหน่ง : นิติกร

หน่วยงาน   สำนักกฎหมาย
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (4) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อดำรงชีพในยามชราภาพแก่ประชาชนให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในวัยชราและเป็นการสร้างวินัยการออมให้แก่ประชาชนในวัยทำงาน จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขึ้น
1. ผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช. บุคคลผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก
กอช. จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุระหว่าง 15 ปี
บริบูรณ์ ถึงไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และจะต้องไม่เป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสมาชิกในระบบบำเหน็จบำนาญอื่นตามที่ประกาศไว้ในกฎกระทรวง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปีแรกของการรับสมัครสมาชิก ได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้สูงสุดเป็นระยะเวลา 10 ปี รวมถึงบุคคลที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปด้วย
2. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. บุคคลผู้มีสิทธิสามารถยื่นคำร้องสมัครสมาชิกผ่านทางธนาคารทั้ง 3 แห่ง ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนติดต่อได้ทุกสาขาของธนาคารดังกล่าวทั่วประเทศ
 
3. เกณฑ์การส่งเงินสะสมและการได้รับเงินสมทบ สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุน กอช. ไม่ต่ำกว่า 50 บาท และไม่เกิน 1,100 บาท (สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี) ผ่านช่องทางธนาคารดังกล่าวข้างต้นโดยรัฐจะทำการสมทบเข้าให้สมาชิกตามสัดส่วน ดังนี้
3.1 สมาชิกมีอายุระหว่าง 15 – 30 ปี รัฐจะสมทบเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
3.2 สมาชิกมีอายุระหว่าง 30 – 50 ปี รัฐจะสมทบเป็นจำนวนร้อยละ 80 ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
3.3 สมาชิกมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี รัฐจะสมทบเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท
 อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกเปลี่ยนงานและทำให้สมาชิกได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางรายได้
เพื่อการชราภาพตามกฎหมายที่รัฐหรือนายจ้างทำการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน หรืออยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถคงเงินไว้ในกองทุน กอช. ได้และคงการเป็นสมาชิกภาพต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนและรัฐจะไม่สมทบให้เช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลจะรับประกันให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสะสมและเงินสมทบที่นำไปลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน โดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป   โดยจะคำนวณเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวในวันที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือกรณีเสียชีวิต

4. เงื่อนไขการจ่ายเงินให้แก่สมาชิก กองทุนจะจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
 4.1 สมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว จนกว่าจะเสียชีวิตและจะทำการคืนเงินให้แก่ทายาทผูู้มีสิทธิรับผลประโยชน์ของสมาชิก  หากมีเงินคงเหลือในบัญชีกองทุนของสมาชิกผู้นั้น
 4.2 สมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สมาชิกจะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ
และผลประโยชน์ของเงินสะสมทั้งหมดหรือบางส่วนจากกองทุนก็ได้ โดยให้ขอรับเพียงครั้งเดียว ส่วนเงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบจะจ่ายเป็นบำนาญให้แก่สมาชิก เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งหากสมาชิกได้มีการคงเงินไว้ในกองทุนทั้งหมดหรือบางส่วน ก็จะนำเงินที่คงไว้มาคำนวณเพื่อจ่ายบำนาญด้วย

4.3 สมาชิกลาออกจากกองทุนก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม
 4.4 สมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินตามจำนวนที่คงเหลืออยู่ในบัญชีกองทุนของสมาชิกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับผลประโยชน์
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยังมีประชากรวัยทำงานจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญหรือกฎหมายประกันสังคมใดๆ ผู้แบ่งปันจึงใคร่ขอประชาสัมพันธ์ให้กับบุคคลากรซึ่งมีบุตรหลานหรือญาติมิตรที่ประกอบอาชีพดังกล่าว ให้ทำการสมัครสมาชิกกองทุนและเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมวินัยการออมเงินเพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นการสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น