วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556
Office Syndrome คืออะไร ?
Office Syndrome คืออะไร ?
โดย : นางสาววันวิสาข์ ศิริเจริญจรรยา
สำนักกฎหมาย
Office Syndrome (ออฟฟิศซินโดรม) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกับการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตตลอดเวลามีส่วนทำให้เป็น Office syndrome เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจาก จอที่เล็ก ทำให้คนต้องห่อไหล่ ห่อตัว ก้มหน้าเพื่อมองจอ บางคนถือด้วยมือข้างเดียว และต้องใช้นิ้วจิ้มเยอะ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ร่างกายเสียการสมดุลของกล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อ และเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ส่วนบางรายที่มีอาการของโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่นหมอนรองกระดูกเคลื่อน หากทำงาน
ในอริยบถที่ผิดจะทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในเมืองไทยพบว่ากว่า ๘๐% ของพนักงานมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเบ้าตา อ่อนเพลีย สมองตื้อ นอนไม่หลับ ไปตรวจก็หาสาเหตุของอาการปวดไม่พบ โดยเฉพาะในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนจะปวดหัว ปวดบั้นเอวอยู่แล้ว เมื่อมีอาการเหล่านี้ก็จะปวดหนักจนทนไม่ไหว หรือต้องฝืนใจไปทำงาน และในต่างประเทศมีการประเมินว่าพนักงานสูญเสียประสิทธิภาพไปถึง ๑ ใน ๓ เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น คือ ผลงานของบริษัทลดลง ต้องจ้างคนเพิ่ม ฯลฯ คนที่มีอาการดังกล่าวต้องพึ่งการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า และพบว่าการนวดแบบนั้นทำให้รู้สึกผ่อนคลายแค่ชั่วคราว ไม่นานก็กลับมาปวดใหม่ ต้องไปนวดซ้ำ พอนวดแรงไปก็เกิดอาการช้ำ ยอก ผลลัพธ์แทนที่จะดีขึ้น กลับกลายเป็นแย่กว่าเก่า
Office Syndrome มี ๒ ลักษณะ คือ
๑. การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน คือ การที่เนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ มีการเกร็งตัว หรือถูกยึดในท่าเดิมนานๆ หรือเส้นประสาทถูกกด เช่น การก้มทำงานจนคอเคล็ด เป็นต้น การบาดเจ็บแบบนี้จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน แสดงออกมา นั่นคือการอักเสบ และเจ็บเวลาสัมผัส หรือขยับเขยื้อนบริเวณที่เป็น การรักษา คือ ลดการอักเสบ โดยการประคบเย็น พยายามหยุดการใช้งานของส่วนนั้น หรืออาจมีการใช้ซัปพอร์ตป้องกันการอักเสบซ้ำ
๒. การบาดเจ็บแบบสะสม คือ การทำงานในท่าหนึ่งนานๆ หรือทำกิจกรรมใดซ้ำๆกัน เช่น พิมพ์ดีดซ้ำ นั่งจ้องมองคอมพิวเตอร์ซ้ำๆ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ใช้นั่งทำงานไม่สะดวกสบาย ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้กล้ามเนื้อคงค้างอยู่นาน หรือถูกยืดอยู่นาน แต่ไม่มีการบาดเจ็บแบบทันทีทันใด การบาดเจ็บแบบสะสมแบ่งเป็น ๓ ระยะ
ระยะที่ ๑ จะเริ่มมีอาการหลังจากทำงานสักพัก เช่น เช้าไม่มีอาการ แต่ช่วงใกล้เที่ยงถึงช่วงเย็น มีอาการมากขึ้น แต่กลับบ้านนอนพักก็หาย ไม่มีอาการคงค้างใดๆ
ระยะที่ ๒ เริ่มมีอาการหลงเหลือ แม้กลับไปพักแล้ว โดยเฉพาะช่วงทำงานหนัก จะมีอาการตึงๆ เจ็บๆ เล็กน้อย
ระยะที่ ๓ จะมีอาการเหมือนระยะที่ ๒ แต่รุนแรงกว่า
นอกจากนี้ความเครียดและอารมณ์ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค Office syndrome ได้ โดยเราสามารถสังเกตภาวะความเครียดได้จากลมหายใจ โดยขณะที่โกรธ คนจะหายใจอัดแน่นขึ้นข้างบน กล้ามเนื้อท้องจะเกร็ง และกล้ามเนื้อบ่าจะทำงานหนักขึ้น หากอยากทราบว่ามีอาการ Office syndrome เพราะการบาดเจ็บทางกาย หรือเพราะความเครียด ต้องลองจัดโต๊ะที่บ้านให้เหมือนกับที่ทำงาน แล้วลองกลับไปเล่นเกมหรือทำอย่างอื่น เพื่อสังเกตว่า
มีอาการเหมือนกันหรือเปล่า เพราะบางคนมีอาการหนักมากระหว่างทำงาน แต่พอไปเที่ยวกลับไม่มีอาการ
แนวทางในการรักษาและดูแลตนเอง ขึ้นกับระยะที่เป็น
ระยะที่ ๑ ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนสถานที่หรือวิธีการทำงานให้เหมาะสม
ระยะที่ ๒ นอกจากปรับเปลี่ยนการทำงาน อาจต้องรับการรักษาด้วย
ระยะที่ ๓ อาจต้องพักงานนั้นไปเลย เพราะแค่ทำเบาๆก็กระตุ้นอาการแล้ว
การนำศาสตร์อื่นๆมาประยุกต์ใช้ในการรักษา ดังนี้
ศาสตร์กายภาพบำบัด ได้แก่ การออกกำลังกาย การดูแลตนเอง การปรับเวิร์ก สเตชั่น และการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น คลื่นเสียง คลื่นความร้อน
ศาสตร์แพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การกินยา การจัดกระดูก (Chiropractor)
ศาสตร์แพทย์แผนไทย ได้แก่ การนวด การประคบ
ศาสตร์แพทย์แผนจีน ได้แก่ การฝังเข็ม การนวดทุยหนา และการกัวซา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น