ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางพูนทรัพย์ บวรนีรนาถ
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางนวลจันทร์ วงศ์ทศพร
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานการคลังชำนาญงาน
สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ
ความรู้ที่แบ่งปัน : เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วจะได้รับอะไรบ้าง
เรื่องประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของข้าราชการเมื่อเกษียณอายุราชการ ขอแยกอธิบายเป็น 2 ประเภท คือ
1) ผู้เป็นสมาชิก กบข.
2) ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข
กรณีผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับบำนาญรายเดือน คือ ผู้ที่ยังไม่ต้องการตัดขาดจากระบบราชการยังประสงค์จะเป็นข้าราชการบำนาญและรัฐยังอุดหนุนจุนเจือในด้านสวัสดิการต่างๆ อยู่ต่อไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร สำหรับประโยชน์ที่ได้ คือ
1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินชดเชย เงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข. จัดให้ ท่านสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปีพร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปีของท่าน
2. เงินบำนาญรายเดือน คำนวณโดยการนำเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ และหารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70 % ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ตัวอย่าง เช่น ท่านมีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และอายุราชการ 35 ปี คำนวณได้ ดังนี้ = 30,000 x 35 = 21,000
50
** เงินบำนาญที่จะได้รับต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือน และอายุราชการต้องไม่เกิน 35 ปี กรณีอายุราชการเกิน 35 ปี จะคิดให้แค่ 35 ปี เท่านั้น **
3. เงินบำเหน็จดำรงชีพ ท่านจะได้รับบำเหน็จดำรงชีพ 15 เท่า ของบำนาญรายเดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดยแบ่งจ่าย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปลดเกษียณได้รับไม่เกิน 200,000 บาท และครั้งที่ 2 จะได้รับส่วนที่เหลือตามสิทธิเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์
จากกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น ท่านได้รับบำนาญรายเดือนๆ ละ 21,000 บาท ได้รับบำเหน็จดำรงชีพ 15 เท่า ของ 21,000 บาท เป็นเงิน 315,000 บาท จ่ายเมื่อปลดเกษียณ 200,000 บาท และเมื่ออายุครบ 65 ปี จะจ่ายส่วนที่เหลือให้อีก 115,000 บาท
4. เงินบำเหน็จตกทอด จะจ่ายให้เมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม โดยจะจ่ายบำเหน็จตกทอด 30 เท่า ของบำนาญรายเดือนให้แก่ทายาทตามกฎหมาย ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร
จากกรณีตัวอย่าง บำนาญรายเดือน 21,000 บาท คูณ 30 เท่า = 630,000 บาท หักบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่ได้รับไปแล้ว 315,000 บาท ดังนั้น ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด จำนวน 315,000 บาท (คำนวณได้เท่าไรก็รับไปทั้งหมดโดยไม่แบ่งจ่าย) กรณีไม่มีทายาทตามกฎหมายดังกล่าว จะจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้กับผู้ที่ ผู้ถึงแก่กรรมได้แสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้
กรณีผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับบำเหน็จ คือ ผู้ที่ต้องการรับเงินก้อนไปในคราวเดียว โดยประโยชน์ ที่จะได้รับ คือ
1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข. จัดให้ โดยสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปี
2. เงินบําเหน็จ คํานวณโดยนําเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ เช่น เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และมีอายุราชการ 35 ปี จะคํานวณบำเหน็จที่ได้รับได้เท่ากับ 30,000 x 35 = 1,050,000 บาท
กรณีผู้ไม่เป็นสมาชิก กบข. คิดง่ายๆ ดังนี้
บำนาญ ให้นำเงินเดือนๆ สุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50
ตัวอย่าง เช่น ท่านมีเงินเดือน ๆ สุดท้าย 36,020 บาท และมีอายุราชการ 35 ปี
คํานวณได้ ดังนี้ = 36,020 x 35 = 25,214
50
สำหรับผู้ที่เลือกรับบํานาญจะได้เงินบําเหน็จดํารงชีพและเงินบําเหน็จตกทอดเช่นเดียวกับสมาชิก กบข.
บําเหน็จ ให้นําเงินเดือนๆ สุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ
ตัวอย่าง เช่น ท่านมีเงินเดือน 36,020 บาท อายุราชการ 35 ปี
คํานวณได้ ดังนี้ = 36,020 x 35 = 1,260,700
เงินบำเหน็จคำนวณได้เท่าไรก็จะได้รับไปทั้งหมดในคราวเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น