ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นายเทอดพงษ์ ศรีเชียงสา
ตำแหน่ง : นิติกร
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางสาววรรณพร อัคคี
ตำแหน่ง : นิติกร
ความรู้เกี่ยวกับ : การยึดใบขับขี่หรือบัตรอื่นในกรณีปฏิบัติผิดกฎหมายจราจร
หน่วยงาน กลุ่มงานกฎหมายและระเบียบด้านค่าใช้จ่ายในการบริหาร
โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
(32) “ใบอนุญาตขับขี่” หมายความว่า ใบอนุญาตขับรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ใบอนุญาตสำหรับคนขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถรับจ้าง ใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
และใบอนุญาตผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติไว้ว่า มาตรา ๑๔๐
เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ จะว่ากล่าว ตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่
ก็ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถที่ผู้ขับขี่เห็นได้ง่าย
สำหรับความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๗/๑ มาตรา ๑๕๙ มาตรา ๑๖๐ มาตรา ๑๖๐ ทวิ
และมาตรา ๑๖๐ ตรี ห้ามมิให้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบ
ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจร
หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ และเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้ไปส่งมอบพนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ออกใบสั่ง
ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกให้ตามวรรคสามให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบปรับและผู้ขับขี่ได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้คืนใบอนุญาตขับขี่ทันที
ในกรณีเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งแต่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้กระทำผิดดังกล่าว เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่
การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด
ใบสั่งและใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำตามแบบที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จากบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๐ นี้ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานซึ่งหมายถึง ตำรวจจราจรที่จะยึดใบอนุญาตขับขี่ได้เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎจราจร เช่นนี้แล้วเมื่อตำรวจจราจรมีอำนาจตามกฎหมายในการยึดใบขี่ได้เท่านั้น สำหรับการยึดบัตรต่างๆนั้น เช่นกรณีขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อคหรือขับโดยไม่พกใบอนุญาตขับขี่ ตำรวจมีอำนาจยึดบัตรประชาชน บัตรเครดิต บัตรอื่นๆหรือการยึดกุญแจรถคันนั้นได้หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น กฎหมายจราจรทางบก กฎหมายรถยนต์กฎหมายบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ปรากฏว่ามีมาตราใด ให้อำนาจตำรวจจราจรยึดบัตรประชาชน หรือ บัตรอื่น ๆ ได้ และยิ่งเป็นการยึดกุญแจ ตำรวจยิ่งไม่มีอำนาจกระทำได้ หากตำรวจทำการยึดรถหรือยึดบัตรอื่นๆอาจมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157