วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปฏิบัติในสำนักงาน

การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปฏิบัติในสำนักงาน
โดย : นายวสันต์  นาคมูล  นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ
หน่วยงาน สำนักงานคลังเขต 6 พิษณุโลก

ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันในรูปแบบต่างๆ และในสำนักงาน เช่น ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้ในการพิมพ์เขียนและบันทึกข้อความ เป็นต้นซึ่งจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีการใช้กระดาษประมาณ 34 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือ 2 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นปีละ 15% กระบวนการผลิตกระดาษ 1  ตัน  จะตองใช้ทรัพยากรดังนี้   ต้นไม้ 17 ตัน กระแสไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง น้ำมันเตา 300 ลิตร  น้ำสะอาด 100 ตัน และคลอรีน  5 กิโลกรัม
การใช้กระดาษให้คุ้มค่าจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วัสดุใช้แล้วจากสำนักงานโดยเฉพาะกระดาษ มีการปนเปื้อนน้อยจึงอาจนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก หรือแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษใหม่ แต่สำนักงานส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์เศษกระดาษและมักทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปทำให้เศษกระดาษจากสำนักงานแทบหมดคุณค่าไป


เพราะฉะนั้น การนำเศษกระดาษกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมจะสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น เป็นการลดการใช้กระดาษดีได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งลดการผลิตกระดาษและเป็นการประหยัดงบประมาณในการซื้อวัสดุสำนักงานได้ด้วย
ทำอย่างไรจึงลดการใช้กระดาษในสำนักงานได้
1. ปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดขยะกระดาษน้อยลงเช่น
1.1 ควรตรวจทาน หนังสือที่ร่างหรือเขียนขึ้น บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ถูกต้องก่อนสั่งพิมพ์ ด้วยการตรวจทานหลายๆ ครั้ง จนมั่นใจว่าถูกต้องครบถ้วนจึงสั่งพิมพ์
1.2 เอกสารที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ในรูปแบบของ PDF หรือ Word ให้อ่านในคอมพิวเตอร์ หากจำเป็นจึงค่อยพิมพ์ด้วยกระดาษ
2. นำกระดาษที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดงบประมาณในการซื้อกระดาษ เช่น โดยการคัดแยกกระดาษที่ใช้หน้าเดียวออกจากระดาษที่ใช้งานแล้วสองหน้า ด้วยการจัดทำกล่องกระดาษรียูสเพื่อเก็บกระดาษที่ใช้งานหน้าเดียว หรือ รียูส เพื่อรวบรวม นำกลับมาใช้งานใหม่ และกล่องกระดาษรีไซเคิล เพื่อรวบรวมชั่งขายหรือจำหน่าย
การนำกระดาษหน้าเดียวกลับมาใช้ประโยชน์ ได้แก่
2.1 ใช้หน้าว่าง ในการพิมพ์หนังสือ
2.2 ใช้เป็นกระดาษบันทึกข้อความ หรือ ใช้บันทึก หรือ ร่างหนังสือ
2.3 ซองจดหมายต่างๆ ที่ใช้แล้ว : สามารถนำกลับมาใช้ส่งเอกสารภายในสำนักงาน หรือ ตัดมุมทั้ง 4 ใช้ หนีบกระดาษ สำหรับใช้บันทึกข้อความได้
2.4 หนังสือเก่า/นิตยสารต่างๆ : สามารถนำไปบริจาคห้องสมุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป นอกจากนั้นยังทำเป็นการ์ดอวยพร ประดิษฐ์เป็นดอกไม้ใช้ตกแต่งสถานที่ได้
2.5 หนังสือพิมพ์เก่า : ใช้ห่อของขวัญ ประดิษฐ์ดอกไม้ เช็ดกระจก ชั่งขายได้
2.6 กระดาษห่อของ/ห่อของขวัญ : นำมาห่อของอีกครั้งและประดิษฐ์เป็นดอกไม้กระดาษ
2.7 กระดาษฉีก / กระดาษบันทึกข้อความ : นำส่วนที่เหลือนำมาทำกระดาษบันทึกข้อความที่มีขนาดเล็ก ว่าเดิม
2.8 กระดาษปฏิทิน/โปสเตอร์ : ใช้ประดิษฐ์เป็นการ์ดอวยพร หรือ คั่นหนังสือ
2.9 กล่องกระดาษต่างๆ : นำมาหุ้มด้วยกระดาษห่อของเหลือใช้ ใช้ใส่ของ หรือ ทำเป็นถังขยะ
2.10 ขยะกระดาษอื่นๆ เช่นการ์ดเชิญ การ์ดอวยพร : ทำเป็นที่คั่นหนังสือกระดาษบันทึก หรือ ดัดแปลง เป็นการ์ดอวยพรได้อีก
3. กระดาษที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว เก็บรวบรวมให้กับผู้รับซื้อ เพื่อนำกลับไปใช้เป็น วัตถุดิบในการผลิตกระดาษใหม่ (RECYCLE)

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)


ความรู้เกี่ยวกับ  :โรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)
โดย : นางสำอาง  สงสุแก
หน่วยงาน สำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น

ระวัง! เจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลม อาจอันตรายถึงชีวิต

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคหัวใจที่ร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ  จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปี พ.ศ. 2553   คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง  39,459  คน  และในรอบ 10  ปี ผู้ป่วยเพิ่มจาก 100 คน เป็น 400 คน ต่อประชากร  แสนคน ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันพบว่าคนไทยเป็นโรคหัวใจกว่า 2.5 แสนราย และพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่
โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากการมีเนื้อเยื่อไขมันผสมพังผืดจับตัวเป็นแผ่นนูน ตามผนังชั้นในของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่เลี้ยงด้วยหลอดเลือดนั้นได้รับไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะเกิดอาการแน่น เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย สาเหตุมาจากไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน บุหรี่ ความเครียด อ้วน ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยความเสี่ยงมีมากในเพศชายและมีอายุมากกว่า 45 ปี ส่วนเพศหญิงมากกว่า 55 ปี แต่ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจและมีปัจจัยเสี่ยงอาจต้องระมัดระวัง และตรวจหัวใจในอายุที่น้อยกว่านั้น
อาการเตือนที่ผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์หัวใจโดยด่วน เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต
เบื้องต้นมีอาการแน่นหน้าอก ขณะออกแรงเมื่อมีการตีบมากขึ้น  จะมีอาการเจ็บหน้าอกแม้นขณะพัก และเมื่อเกิดการตันสนิท กล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน จะทำให้เจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลมหน้ามืด หัวใจวาย และเสียชีวิตเฉียบพลันได้ แต่บางรายจะมีอาการไม่เป็นไปตามลำดับ คือ อาจเกิดการตันสนิททันทีโดยไม่มีอาการเตือน ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้  เพราะกล้ามเนื้อหัวใจ หากตายแล้ว ตายเลยไม่สามารถสร้างใหม่ได้ เพราะฉะนั้น หากมีอาการเจ็บอกรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งถ้าโรงพยาบาลนั้นมีเครื่องสวนหัวใจ ก็จะสามารถสวนหัวใจได้ทันที หรือโทรเรียกรถพยาบาลมารับซึ่งปัจจุบันมีรถพยาบาล Mobile  CCU ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตและเครื่องมือทางหัวใจครบ เปรียบเสมือนยกโรงพยาบาลและแพทย์มายังที่เกิดเหตุและทำการรักษาเลย เพราะโรคหัวใจ ต้องรักษาทันที เนื่องจากอันตรายถึงชีวิต

แนวทางการรักษาและวิธีการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
การรักษามี  3  วิธี   คือ  การใช้ยากิน   การฉีดสีสวนหัวใจ  และการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ
เบื้องต้นแพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้ยา แต่หากอาการไม่ทุเลา ต้องทำการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเส้นเลือดตีบจำนวนกี่เส้นที่ตำแหน่งใด  หากมีการตีบสามารถรักษาโดยใช้บอลลูนขยาย และใส่ขดลวดค้ำยันได้ต่อเนื่องทันที
ส่วนการป้องกันโรค ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หากเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง หากมีไขมันสูง ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกิน ลดน้ำหนัก รวมถึงงดบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยให้ห่างไกลและป้องกันโรคหัวใจได้

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การอบรม e-Learning

ความรู้เกี่ยวกับ  :  การอบรม e-Learning
โดย : นางสาวเพ็ญพิชญา  ศริวิเศษชัยชาญ
หน่วยงาน   ฝ่ายบริหารทั่วไป  สำนักกฎหมาย


สืบเนื่องจากนโยบายของกรมบัญชีกลางได้กำหนดตัวชี้วัด  มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร  ต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร  โดยวัดจากร้อยละของบุคลากรของหน่วยงานที่ได้รับการพัฒนา  สำหรับข้าราชการ  ต้องมีวันอบรมไม่ต่ำกว่า  5  วันต่อคนต่อปี  แต่ข้าราชการบางส่วนไม่สามารถเข้ารับการอบรมตามจำนวนที่กำหนดได้  เนื่องจากข้อจำกัดของจำนวนผู้เข้าอบรม  ช่วงเวลาที่มีการอบรมตรงกับเวลาที่ต้องไปราชการหรือมีงานเร่งด่วน  การยกเลิกการอบรมเนื่องจากการปิดกรมฯ  และสถานการณ์ทางการเมือง เป็นต้น
การอบรม e-Learning  ของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งกรมฯ ให้นับเป็นวันอบรมได้  จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ที่ข้าราชการสามารถสะสมวันอบรมได้ครบตามจำนวนที่กรมฯ  กำหนด  โดยข้าราชการที่ต้องการอบรม e-Learning สามารถเข้าไปตรวจสอบหัวข้อวิชา  วันที่เปิดรับสมัคร  และเปิดอบรมในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.  ซึ่งมีวิชาที่น่าสนใจ ให้ศึกษามากมายล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันได้  



วิธีการสมัครและเข้าอบรม 
1.  เข้าเว็บไซต์ของสำนักงาน  ก.พ. www.ocsc.go.th/ocsc/th/ เมนู การพัฒนาข้าราชการ » e-Learning
2.  ผู้ที่ยังไม่เคยสมัครให้ลงทะเบียนใหม่ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบแนะนำ
3.  เมื่อได้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแล้ว ให้ login เข้าระบบ
4.  คลิกแถบสีเหลืองที่มีข้อความ หลักสูตรอบรมออนไลน์ (หลักสูตรทั่วไป) 
5.  ที่เมนูด้านบน เลือกหลักสูตรของสำนักงาน ก.พ. เพื่อดูวิชาที่เปิดอบรม
6.  คลิกสมัครอบรมวิชาที่สนใจ และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบบกำหนด
7.  เมื่อสมัครเสร็จแล้ว ที่เมนูด้านบน เลือกหลักสูตรของคุณ  จะปรากฏรายชื่อวิชาที่ได้สมัครไว้
8.  คลิกที่ชื่อวิชาเพื่อเข้าอบรมได้ทันที
การทำแบบทดสอบ
การอบรม e-Learning ของสำนักงาน ก.พ.  นั้น  โดยส่วนมากจะมีการทดสอบก่อนอบรม  ซึ่งกำหนด
ให้ทำแบบทดสอบได้เพียง 1 ครั้ง  แล้วทำการอบรมให้ครบตามเวลาที่กำหนด  เมื่ออบรมครบทุกหัวข้อแล้วจะมีการทดสอบหลังการอบรมเพื่อประเมินผล  ซึ่งกำหนดให้ทำแบบทดสอบได้ไม่เกิน 10 ครั้ง  
การพิมพ์ใบประกาศ
เมื่ออบรมครบทุกหัวข้อและทำแบบทดสอบแล้ว  สามารถพิมพ์ใบประกาศได้ในเวลาที่กำหนด  
โดยสามารถทำได้  ดังนี้
1. login เข้าระบบ
2.  คลิกแถบสีเหลืองที่มีข้อความ หลักสูตรอบรมออนไลน์ (หลักสูตรทั่วไป) 
3.  ที่เมนูด้านบน เลือกข้อมูลการอบรม  จะปรากฏวิชาที่อบรมผ่านไปแล้ว
4.  คลิกที่ไอคอนรูปปริ๊นเตอร์เพื่อพิมพ์ใบประกาศ
ทั้งนี้  ผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมจะไม่สามารถพิมพ์ใบประกาศได้  แต่สามารถสมัครและอบรมใหม่ได้
การเทียบเวลาฝึกอบรมเป็นจำนวนวัน
1.  เวลาอบรม  3  ชั่วโมง  คิดเป็น  0.5  วัน
2.  เวลาอบรม  6  ชั่วโมง  คิดเป็น     1  วัน
3.  เวลาอบรม  9  ชั่วโมง  คิดเป็น  1.5  วัน 
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้มีการพัฒนาระบบ e-Learning ของกรมฯ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ข้าราชการของกรมฯ  จะสามารถพัฒนาตนเอง และพัฒนาการทำงานให้ดีและตรงกับงานที่ปฏิบัติมากยิ่งขึ้น  โดยจะเปิดให้เข้าอบรมได้ในเร็ววันนี้
หวังว่าความรู้เกี่ยวกับการอบรม e-Learning จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและ
ทำให้ข้าราชการกรมบัญชีกลางมีวันอบรมครบ 5 วันตามที่กำหนดทุกคน