วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)


ความรู้เกี่ยวกับ  :โรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)
โดย : นางสำอาง  สงสุแก
หน่วยงาน สำนักงานคลังจังหวัดขอนแก่น

ระวัง! เจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลม อาจอันตรายถึงชีวิต

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคหัวใจที่ร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ  จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปี พ.ศ. 2553   คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง  39,459  คน  และในรอบ 10  ปี ผู้ป่วยเพิ่มจาก 100 คน เป็น 400 คน ต่อประชากร  แสนคน ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันพบว่าคนไทยเป็นโรคหัวใจกว่า 2.5 แสนราย และพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่
โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากการมีเนื้อเยื่อไขมันผสมพังผืดจับตัวเป็นแผ่นนูน ตามผนังชั้นในของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่เลี้ยงด้วยหลอดเลือดนั้นได้รับไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะเกิดอาการแน่น เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย สาเหตุมาจากไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน บุหรี่ ความเครียด อ้วน ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยความเสี่ยงมีมากในเพศชายและมีอายุมากกว่า 45 ปี ส่วนเพศหญิงมากกว่า 55 ปี แต่ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจและมีปัจจัยเสี่ยงอาจต้องระมัดระวัง และตรวจหัวใจในอายุที่น้อยกว่านั้น
อาการเตือนที่ผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์หัวใจโดยด่วน เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต
เบื้องต้นมีอาการแน่นหน้าอก ขณะออกแรงเมื่อมีการตีบมากขึ้น  จะมีอาการเจ็บหน้าอกแม้นขณะพัก และเมื่อเกิดการตันสนิท กล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน จะทำให้เจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลมหน้ามืด หัวใจวาย และเสียชีวิตเฉียบพลันได้ แต่บางรายจะมีอาการไม่เป็นไปตามลำดับ คือ อาจเกิดการตันสนิททันทีโดยไม่มีอาการเตือน ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้  เพราะกล้ามเนื้อหัวใจ หากตายแล้ว ตายเลยไม่สามารถสร้างใหม่ได้ เพราะฉะนั้น หากมีอาการเจ็บอกรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งถ้าโรงพยาบาลนั้นมีเครื่องสวนหัวใจ ก็จะสามารถสวนหัวใจได้ทันที หรือโทรเรียกรถพยาบาลมารับซึ่งปัจจุบันมีรถพยาบาล Mobile  CCU ที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตและเครื่องมือทางหัวใจครบ เปรียบเสมือนยกโรงพยาบาลและแพทย์มายังที่เกิดเหตุและทำการรักษาเลย เพราะโรคหัวใจ ต้องรักษาทันที เนื่องจากอันตรายถึงชีวิต

แนวทางการรักษาและวิธีการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
การรักษามี  3  วิธี   คือ  การใช้ยากิน   การฉีดสีสวนหัวใจ  และการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ
เบื้องต้นแพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้ยา แต่หากอาการไม่ทุเลา ต้องทำการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเส้นเลือดตีบจำนวนกี่เส้นที่ตำแหน่งใด  หากมีการตีบสามารถรักษาโดยใช้บอลลูนขยาย และใส่ขดลวดค้ำยันได้ต่อเนื่องทันที
ส่วนการป้องกันโรค ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หากเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง หากมีไขมันสูง ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกิน ลดน้ำหนัก รวมถึงงดบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และทำจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยให้ห่างไกลและป้องกันโรคหัวใจได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น