โดย : คุณ อุบล เชาว์พ้อง
ตำแหน่ง นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วยงาน สำนักงานคลังเขต 9
เรื่อง เกร็ดความรู้สำหรับคุณแม่บ้าน
การเลือกใช้น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูปลอมในบ้านเรามักใช้กรดกำมะถันหรือกรดเกลือผสมกับน้ำ แล้วเจือกรดน้ำส้มสายชูเพื่อแต่งกลิ่น ออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าวจึงควรเลือกใช้น้ำส้มสายชูชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๒ ชนิด คือ1.น้ำส้มสายชูแท้ ได้แก่ น้ำส้มสายชูหมัก และน้ำส้มสายชูกลั่น น้ำส้มสายชูหมัก ได้จากการหมักน้ำผลไม้ ส่วนน้ำส้มสายชูกลั่น ได้จากการหมักอัลกอฮอล์กลั่นเจือจาง
2.น้ำส้มสายชูเทียม ได้จากการนำกรดน้ำส้มสายชูมาเจือจางในน้ำ น้ำส้มสายชูชนิดนี้ควรไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ไม่มีสิ่งเป็นพิษเจือปน และมีความเข้มข้นประมาณ ๔ -๘%
สำหรับพวก อาซีติก แอซิล เกลเชียล เป็นน้ำส้มสายชู ที่มีความเข้มข้นสูง และไม่บริสุทธิ์ หากนำมา
บริโภคจะก่อให้เกิดอันตรายได้
การทดสอบน้ำส้มสายชู
วิธีทดสอบว่าเป็นน้ำส้มสายชูแท้ หรือน้ำส้มสายชูปลอมนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยนำน้ำส้มสายชูที่สงสัยว่าปลอมปนใส่ลงไปในภาชนะแล้วหยดน้ำยาเยนเขียนไวโอเลท หรือน้ำยาป้ายลิ้นเด็กซึ่งมีสีม่วง ลงไปในน้ำส้มสายชูดังกล่าว ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูแท้จะไม่เปลี่ยนสีม่วงของน้ำยาดังกล่าว แต่ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูที่มีกรดกำมะถัน หรือกรดเกลือเจือปนอยู่ สีม่วงของน้ำยาดังกล่าวจะเปลี่ยนไปเป็นสีเขียวหรือ สีน้ำเงิน น้ำส้มชนิดนี้จึงไม่เหมาะที่จะมาบริโภค เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
อาหารแห้งอันตราย
อาหารแห้งพวก พริกแห้ง เครื่องเทศ ปลาแห้ง ปลาเค็ม ถั่ว หรืออาหารเมล็ดแห้งต่างๆโดยเฉพาะถั่วลิสงที่เก็บในที่มีความชื่นสูง มักพบสารพิษซึ่งมีชื่อว่า “อะฟลาทอกซิน”ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง สารพิษดังกล่าวไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนจากการหุงต้มธรรมดาได้ การบริโภคอาหารที่มีสารพิษนี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะพบว่าสารพิษดังกล่าวเป็นสาเหตุของ “โรคมะเร็งในตับ”
ข้อแนะนำในการเลือกซื้ออาหารแห้ง
1. เลือกซื้ออาหารแห้งที่มีลักษณะใหม่ไม่ขึ้นรา เป็นขุย หรือจุดด่างดำ
2. อาหารพวกถั่วลิสงทุกชนิด มักตรวจพบสารพิษของเชื้อราได้มากที่สุดจึงไม่ควรซื้อมารับประทาน
อาหารกระป๋อง
อาหารกระป๋องที่เก็บไว้นานๆจนกระป๋องบวม หรือกระป๋องมีรอยถลอกภายใน หรือเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้อาหารเกิดพิษได้ ควรทิ้งเสีย ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะอาจเกิดโทษจากจุลินทรีย์ หรือโลหะที่
ละลายออกมาจากกระป๋อง สำหรับอาหารกระป๋องที่ปกติ ก่อนใช้ไม่ควรต้มทั้งกระป๋อง เพราะโลหะที่เคลือบกระป๋องอาจจะลายออกมาปนกับอาหารได้ และเมื่อรับประทานยังไม่หมอไม่ควรเก็บไว้ทั้งกระป๋องควรถ่ายใส่ภาชนะอื่นเก็บไว้ให้มิดชิด หรือเก็บไว้ในตู้เย็น
อาหารกึ่งสำเร็จรูป
ปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูป กำลังเป็นที่ต้องการของคนในเมืองใหญ่ๆผู้ประกอบอุตสาหกรรมจึงเร่งผลิต แต่คุณภาพอาหารโดยเฉพาะความปลอดภัยในการบริโภค ยังมิได้มีหลักประกันแน่นอนว่าปลอดภัย
อันตรายอันอาจเกิดจากการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูปสรุปได้คือ
1.จุลินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย แบคทีเรีย ยีสต์ รา และ หนอนพยาธิ
2.สารเคมีต่างๆ ได้แก่ วัตถุเจือปน โลหะหนัก และสารปนเปื้อน
สารตะกั่วในไข่เยี่ยวม้า
ไข่เยี่ยวม้าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของไข่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเคมี และจุลินทรีย์ ในไข่มีความเป็นด่างสูงกว่าไข่ธรรมดา จึงปลอดภัยจากจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตามได้มีการตรวจพบว่า ในไข่เยี่ยวม้ามีสารตะกั่วในปริมาณที่สูง บางครั้งสูงถึง ๕๐ ppm ซึ่งปกติในอาหารทั่วไปไม่ควรมีตะกั่วเกิน ๒ ppm สารตะกั่วในไข่เยี่ยวม้านี้ อาจเนื่องมาจากพ่อค้าใช้สารตะกั่วเป็นตัวเร่ง เพื่อให้ไข่เยี่ยวม้าแข็งตัวเป็นวุ้นเร็วขึ้น อันตรายที่อาจเกิด คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โลหิตจาง ซีด เหงือกมีสีม่วง อ่อนเพลีย เป็นต้น
อาหารผสมสี
อาหาร และขนมต่างๆที่วางขายอยู่ทั่วไป มักมีสีสดสวยงาม โดยเฉพาะสีที่เข้มจัด เช่น หมูแดง กุ้งแห้ง ลูกกวาด มักพบว่าเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งมีสารประกอบของโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
อาหารปลอดภัยควรเป็นสีธรรมชาติของอาหารเองหรือผสมสีจากสีธรรมชาติ เช่น สีจากใบเตย หรือถ้าเป็นสีสังเคราะห์ควรเป็นสีผสมอาหารที่มีเลขดัชนีสี และเลขทะเบียน อาหารระบุไว้ชัดเจน เช่น สีขององค์การเภสัชกรรมเป็นต้น