วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี ทำงานอย่างไรให้มีความสุข

ความรู้เกี่ยวกับ : ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี ทำงานอย่างไรให้มีความสุข
โดย : นางสาวแสงหล้า ปิ่นซ้อน
หน่วยงาน สำนักงานคลังเขต ๕

ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี ทำงานอย่างไรให้มีความสุข
ศิลปะการทำงานให้มีความสุขหัวข้อทำงานอย่างไรให้มีความสุข ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ทำงานที่ใจรัก เพราะถ้าเราทำงานที่ใจรักทุก ๆ วันจะเป็นวันแห่งความสุข เราไม่ต้องรอว่าความสุขจะมาถึงเราวันเสาร์-อาทิตย์แต่ทุกวันที่เราทำงานจะเป็นวันแห่งความสุขของเราเพราะว่าเราทำด้วยความรัก
2. ทำงานทุกชิ้นให้เต็มที่ให้ดี เพราะเมื่อเราสร้างงาน งานจะย้อนกลับมาสร้างคน งานคือเวทีแสดงออกซึ่งศักยภาพในการทำงานของเราทุกครั้งที่เราทำงานให้เต็มที่และทำอย่างดีที่สุด คนก็จะเห็นคุณค่าของเราว่ามีมากน้อยเพียงไร
3. ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสเพราะเมื่อเราทำงานด้วยความสุจริตก็ไม่ต้องมานั่งระแวงภัยที่จะตามมาในอนาคตซึ่งเกิดจากการตามจับผิด โดยหน่วยงานของทางการต่างๆ ถ้าเราทำวันนี้ให้ถูกต้องก็ไม่ต้องนั่งกังวลว่าวันวานมันจะผิด
4. เป็นนักประสานสิบทิศ อย่ามัวแต่ทำงานจนหลงลืมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีใครเก่งอยู่ได้คนเดียว แท้ที่จริงเราจะต้องอาศัยผู้ร่วมงานจากทุกฝ่ายอยู่เสมอ ดังนั้นอย่ามัวแต่ทำงานแต่จงทำคนด้วย เพื่อก่อให้เกิดสภาวะงานก็สำเร็จ ชีวิตก็รื่นรมย์ คนก็สำราญ งานก็สำเร็จ ใครทำงานได้อย่างนี้คน ๆ นั้นจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน จนกล่าวได้ว่า งานก็สำเร็จ ชีวิตก็รื่นรมย์

ถ้าไม่ได้ทำงานที่เรารักจะมีความสุขหรือเปล่า
ตอบได้อย่างนี้ ถ้าไม่ได้ทำงานที่เรารัก วิธีคิดที่ดีคือการมองเชิงบวก เวลาเจองานหนักก็ให้บอกตัวเองว่านี้คือการฝึกตัวเอง เวลาเจอปัญหาซับซ้อนก็บอกตัวเองว่ายิ่งปัญหาซับซ้อนเราก็ยิ่งได้เรียนรู้มากขึ้น
เวลาเจอเจ้านายที่ละเมียดละไมเหลือเกินก็ให้บอกตัวเองว่า นายที่รอบคอบแบบนี้จะฝึกเราให้สมบูรณ์แบบ ฉะนั้นถ้าเรามองเชิงบวกให้เป็นถึงแม้เราจะไม่ได้ทำงานที่เรารักแต่เราก็จะมีความสุขเสมอ ในเมื่อไม่มีสิ่งที่เราชอบ เราก็ควรชอบสิ่งที่เรามี เพราะในโลกนี้ไม่มีใครได้อะไรอย่างใจหวัง และจะไม่มีใครพลาดหวังทุกอย่างไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำมีแง่ดีแง่งามอยู่เสมอขอให้เรามองให้เห็น ถ้ามองเห็นเราก็จะเป็นสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ทำงานที่ชอบแต่เงินเดือนน้อยมองอย่างไรให้เป็นสุข
ถ้าเงินเดือนน้อยก็ต้องลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของเราทิ้งไป แทนที่จะไปเรียกร้องเงินเดือนให้สูงขึ้นกว่าจะได้ก็ช้ามาก ก็ใช้วิธีปรับวิธีในการบริโภคของเราลง ที่จะบริโภคต่างความอยาก ซึ่งเติมอย่างไรก็ไม่เต็มมาบริโภคตามความจำเป็น ดีกว่ามุ่งประโยชน์ใช้สอยอย่างมุ่งประโยชน์ใช้สวย ถ้าเราจับจ่ายใช้สอยในการถือหลักประโยชน์ใช้สวยมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่ถ้าเราถือหลักจับจ่ายใช้สอย คือจำเป็นแค่ไหนก็จับจ่ายใช้สอยแค่นั้น พอกินพอใช้ ถึงแม้ไม่รวยแต่ก็ไม่ถึงขั้นตกต่ำย่ำแย่ แทนที่เราจะเรียกร้องเงินเยอะ ๆ ทำไมเราไม่ลดหรือเปลี่ยนวิธีในการบริโภคของเราแทน บริโภคต่างตัณหาทำให้เรามีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ แต่บริโภคตามปัญญาถึงเงินไม่มากมายอะไรแต่เราก็มีความสุขตามสมควร...

วิธีการแก้ปัญหาในที่ทำงาน ทั้งโดนนินทา โดนแกล้ง
1. มารไม่มีบารมีไม่เกิด
2. สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นกำไรเสมอ
3. อยู่ใต้ฟ้าอย่ากลัวฝน เกิดเป็นคนอย่ากลัวคำนินทา
4. ถูกชมก็เข้าท่าถูกด่าก็ไม่เลว เหล่านี้เป็นคติที่พระอาจารย์ใช้ทำงานอยู่เสมอ จึงสามารถรับมือได้ทุกกระบวนท่ากว่าจะผ่านปัญหาไปได้ต้องฝึกฝนตัวเองอย่างไร
จะต้องทำตัวให้หนักแน่นดังแผ่นภูผา ลมมาพัดก็ไม่ปลิวไปตามลม ฝนสาดก็ไม่เปื่อยสลาย แดดส่องก็ไม่ละลายไปกับแสงแดด ฉะนั้นทำตัวให้หนักแน่นดั่งแผ่นภูผาเราก็จะอยู่ในทุกสภาวะของชีวิต

น้อยใจทำงานมานานแล้วไม่มีโบนัส มีวิธีคิดอย่างไร...?
ถ้าโบนัสไม่มาเอาเท่าที่มีก่อนก็ได้ มีคนอีกมากที่ตกงานแต่เรายังมีงานทำ มองเป็นก็จะเห็นธรรม แต่ถ้ามองไม่เป็นก็จะมาน้อยใจ เวลาที่เรารู้สึกแย่มองคนที่แย่กว่าเรา แล้วเราจะรู้สึกว่าเรายังได้เปรียบอยู่

วิธีผ่อนคลายในการทำงานของพวกมนุษย์เงินเดือน
ถ้าเราทำงานแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดีแสดงว่าเรากำลังเดินผิดทางมันกำลังสุดโต่ง ฉะนั้นเวลาทำงานอย่ามัวแต่ทำงานให้สังเกตคุณภาพชีวิตของตัวเองด้วย เมื่อเราทำงาน มีเวลากินข้าวกับครอบครัวไหม เรามีเวลาพักผ่อนวันเสาร์วันอาทิตย์ไหม เรามีเวลาอยู่กับลูกและภรรยาไหม เรามีเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้างหรือเปล่า ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้หายไปในชีวิตแสดงว่าคุณได้เสียสมดุลย์ชีวิตไปแล้ว ถ้าไม่ปรับมาสู่ทางสายกลางแสดงว่าอนาคตอันใกล้คุณกำลังป่วย เอาเงินที่หามาทั้งชีวิตมาใช้ในโรงพยาบาล นี่เป็น "โรคอารยธรรม" ที่กำลังเกิดขึ้นกับมนุษย์ในยุคทุนนิยมทั่วโลก ที่อเมริกา ที่ญี่ปุ่นป่วยด้วยโรค Workaholic เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศไทยอันดับต้นๆของเอเชีย เพราะเราเครียดจากการเมือง เครียดจากเศรษฐกิจ เครียดจากแข่งขันในระบบทุนนิยมด้วย ดังนั้นใครที่เป็นโรคบ้างานจะต้องระมัดระวังถามตัวเองด้วยว่า เรามีภาวะสมดุลย์งานสมดุลย์ชีวิตแล้วหรือยัง อย่าทำงานจนป่วยตาย อย่าหลงเสน่ห์อบายมุข อย่ามีความสุขจนลืมศีลธรรม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น