ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
.....นางสุจิรา บัวขาว.....>>>>>
ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
....นายวสันต์ นาคมูล...... >>>>>
ตำแหน่ง : นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ
ความรู้ที่แบ่งปัน : หลักเกณฑ์การเบิกค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม
กระทรวงการคลังได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายากลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม ที่ออกฤทธิ์ช้า (Symptomatic slow acting drugs for osteoarthritis: SYSADOA) ประกอบด้วย กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) ประกอบด้วย
การเบิกจ่ายค่ายากลูโคซามีน ให้เป็นไปตามแนวทางกำกับการใช้ยาของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แห่งประเทศไทย ดังนี้
1. ใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจากความชราเท่านั้น ไม่รวมภาวะหรือโรค ข้อเข่าเสื่อมจากการบาดเจ็บ โรคอื่น ๆ รวมทั้งโรคติดเชื้อและความพิการแต่กำเนิด โดยมีความมุ่งหมายบรรเทาอาการปวด และการลดการใช้ยาต้านการอักเสบทุกชนิดลงให้ได้ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้
2. ผู้ป่วยต้องมีพยาธิสภาพข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลาง กระดูกอ่อนของข้อถูกทำลายบางส่วน แต่ยังไม่หมด โดยพิจารณาจากการตรวจร่างกายและภาพถ่ายรังสีข้อเข่าตามแนวปฏิบัติของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
3. ผู้ป่วยต้องผ่านการรักษาอย่างอนุรักษ์นิยมอย่างเต็มที่ตามแนวเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน แต่อาการปวดไม่ทุเลา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาด้านการอักเสบ หรือมีข้อห้ามการใช้ยาด้านการอักเสบ โดยเฉพาะผู้ป่วยมีการทำงานของไตหรือตับบกพร่อง
4. การรักษาอย่างอนุรักษ์นิยมที่กล่าวถึงในข้อ 3 ได้แก่ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคข้อเสื่อมจากความชรา การลดความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหรือพยาธิสภาพมากขึ้น การบริหารร่างกาย การควบคุมน้ำหนัก และการใช้เครื่องรัดตัดพยุงรวมทั้งอาจใช้เครื่องช่วยเดิน
5. ผู้ป่วยต้องมีอายุตั้งแต่ 56 ปีขึ้นไป
6. การใช้ยากลุ่มนี้ต้องไม่ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า (Symptomatic slow acting drugs for osteoarthritis: SYSADOA) ชนิดอื่น
7. ระหว่างการให้ยากลุ่มนี้ผู้ป่วยต้องไม่ใช้ยาต้านการอักเสบขนานใดอย่างต่อเนื่อง อาจใช้ยาต้าน การอักเสบหรือยาควบคุมอาการปวดได้เป็นครั้งคราว และให้ยาต้านการอักเสบช่วงละไม่เกิน 2 สัปดาห์ หากต้องใช้ยาต้านการอักเสบต่อเนื่อง ให้ถือว่ายากลูโคซามีนไม่ได้ผลในผู้ป่วยนั้น และต้องระงับการใช้ยาขนานนั้น
8. ให้ใช้ยากลุ่มนี้ ติดต่อกันได้โดยมีข้อจำกัดคือเมื่อผู้ป่วยได้รับยาแล้วต้องมรการประเมินอาการภายใน 3 เดือน หากอาการของผู้ป่วยไม่ทุเลาหรือกลับต้องการยาต้านการอักเสบและ/หรือยาควบคุมอาการปวดดังเดิมโดยตลอด ให้ถือว่ายานั้นไม่ได้ผลต้องระงับการใช้ยา หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอาจให้ยาขนานนั้นต่อได้และหยุดการใช้ยานั้นในเดือนที่ 6 และเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยต่อ เป็นการประเมินประสิทธิผลต่อเนื่องของยา เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน หากผู้ป่วยกลับมีอาการมากขึ้นเหมือนกับก่อนการใช้ยากลุ่มนี้ จึงอาจพิจารณากลับใช้ยากลุ่มนี้ได้อีกหลังระยะเวลา 3 เดือนที่หยุดการใช้ยาไปแล้ว และต้องประเมินผลการใช้ใหม่เหมือนเมื่อเริ่มต้นใช้ยากลุ่มนี้
9. แพทย์ผู้สามารถสั่งการรักษาให้ยากลุ่มนี้ได้ต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรแพทย์โรคข้อ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือสาขาออร์โธปิดิกส์ เท่านั้น ไม่รวมแพทย์ผู้ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน หรือแพทย์ฝึกหัดที่ทำงานอยู่ในภาควิชา กลุ่มงาน หรือกอง ของสาขาวิชาทั้งสามนี้
10. แพทย์ผู้รักษาต้องบันทึกอาการ อาการแสดง การดำเนินโรคและภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ของผู้ป่วยอย่างชัดเจนทุกครั้งที่ผู้ป่วยมารับการรักษา
11. การสั่งการใช้ยาแต่ละครั้งต้องไม่เกินช่วงละ 6 สัปดาห์
การเบิกจ่ายค่ายาคอนดรอยตินซัลเฟต ไดอะเซอเรน และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 111 ลงวันที่ 24 กันยายน 2555 เรื่อง การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่าย
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป
อนึ่ง การเบิกจ่ายค่ายาข้างต้น ให้ดำเนินการผ่านระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลทั้งกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
สำหรับกรณีที่สถานพยาบาลไม่มียาจำหน่าย โดยในการเบิกค่ายากลูโคซามีนประเภทผู้ป่วยนอก ให้แพทย์ผู้ทำการรักษาที่สามารถสั่งใช้ยาตามแนวทางกำกับการใช้ยาของราชวิทยาลัยฯ ออกใบรับรองการใช้ยากลูโคซามีน เพื่อให้ผู้มีสิทธินำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายจากส่วนราชการต้นสังกัดด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น