ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาวอินทิรา ฉัตรมงคล >>>>>
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางปรีดาภรณ์ รักษ์เลิศวงศ์ >>>>>
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
ความรู้เกี่ยวกับ : อัลไซเมอร์” โรคใกล้ตัวคนสูงวัย
แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์ จะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงสนทนาต่างๆ แต่เอาเข้าจริงๆ เมื่อถามว่า อัลไซเมอร์เป็นอย่างไร อาการแบบไหน ใช่ ไม่ใช่...อัลไซเมอร์ ฯลฯ ก็มักจะเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ ดังนั้นคำอธิบายจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด
พญ.อุมามน พวงทอง จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของกลุ่มอาการสมองเสื่อม (dementia) ในประเทศไทย มีการศึกษาถึงความชุกของภาวะสมองเสื่อม โดยพบว่าคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 75 จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2 เท่า ตามอายุของผู้ป่วยในทุกๆ 5 ปี เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคได้เท่าๆ กัน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่จากการวิจัยซึ่งก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมบางตัว ความผิดปกติทางชีววิทยาในสมองที่เกิดจากการรวมตัวของโปรตีนที่ผิดปกติและถูกล้อมรอบด้วยเซลล์ประสาทที่เสื่อม และเส้นใยฝอย (Fibril) ของโปรตีนที่มาพันรวมตัวกันผิดปกติก่อให้เกิดการพันกันยุ่งเหยิงของเซลล์ประสาท นำไปสู่การล่มสลายของโครงสร้างเครือข่ายเซลล์ประสาทในการที่จะติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน
พญ.อุมามน แจงถึงลำดับการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ให้ฟังว่า เป็นการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทอย่างช้าแต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีความแตกต่างระหว่างบุคคล หมายความว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีอาการแบบเดียวกันเสมอไป อาการอาจมีการขึ้นๆ ลงๆ ได้ และการดำเนินโรคช้าเร็วต่างกันได้ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 3-20 ปี โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 8 ปี ขึ้นกับระยะเมื่อได้รับการวินิจฉัยและภาวะสุขภาพทางกายโดยรวมของผู้ป่วยนั้นๆ ด้วย สำหรับอาการหลักที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น จิตแพทย์กล่าวว่า เป็นอาการหลงลืมที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลงลืมเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไปจนถึงไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ถามคำถามเดิมซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ นึกคำพูดหรือประโยคไม่ออก เรียกชื่อสิ่งของผิด สับสนเรื่องเวลา สถานที่ รวมถึงอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ซึมเศร้า วิตกกังวล ระแวง เห็นภาพหลอน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวัน โดยสรุปแล้วผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความบกพร่องในด้านต่างๆ 4 ด้าน
1. ความบกพร่องด้านความจำ โดยเฉพาะความระยะสั้น คือ ความจำหลังจากรับรู้สิ่งเร้าแล้วเพื่อนำมาใช้งาน ความจำนี้จำได้นาน 20-30 วินาที ความจำระยะสั้นนี้จะสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลาจึงจะรักษาไว้ได้ ทำโดยการท่องซ้ำๆ เช่น เรากำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนเพื่อขอเบอร์ของเพื่อนอีกคน เมื่อเพื่อนบอกหมายเลขโทรศัพท์แต่เราไม่มีสมุดจด ก็ท่องไว้ในใจ และรีบวางสายเพื่อต่อสายถึงเพื่อนคนนั้น แต่ในขณะที่เรากำลังกดเบอร์โทรศัพท์นั้นอยู่ ปรากฏว่า มีใครพูดแทรกขึ้นมา หรือชวนคุย ก็อาจทำให้เราลืมหมายเลขโทรศัพท์นั้นไปได้ทั้งๆ ที่ยังกดหมายเลขไม่จบ
2. ความบกพร่องด้านการใช้ภาษา การใช้เหตุผล รวมถึงอาจสับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่
3.บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น มีพฤติกรรมซ้ำๆ หรือพูดซ้ำๆ ตลอด มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายที่ไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้ป่วยอาจจะจำใครไม่ได้เลย หรือจำเรื่องราวบางสิ่งได้เป็นนาที และลืมภายในไม่กี่นาที
4.ความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น การรับประทาน อาจเคี้ยว หรือกลืนอาหารเองไม่ได้ หรือการขับถ่าย รวมไปถึงเรื่องการดูแลความสะอาดของร่างกาย
15 สัญญาณเตือน อัลไซเมอร์ กำลังมาเยือน
คุณเป็นคนขี้ลืมหรือเปล่า? เช่น ลืมว่าวางกุญแจรถไว้ที่ไหน ลืมว่าจะต้องทำอะไร ทั้งที่เตือนตัวเองมาตลอดทั้งวันแล้ว ลืมว่าจะพูดอะไร ทั้งที่เพิ่งคิดได้เมื่อกี้ หรืออะไรที่เคยทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ ๆ กลับลืมวิธีทำ หรือทำแล้วรู้สึกว่าทำไมมันถึงได้ยากกว่าเมื่อก่อน บางทีนี่อาจจะไม่ใช่อาการขี้ลืมธรรมดาแล้วก็ได้ จริง ๆ แล้วอาการขี้หลงขี้ลืมก็มีกันอยู่ทุกคน แต่ส่วนใหญ่สาเหตุจะมาจากการที่เราไม่มีสมาธิกับการทำสิ่งนั้น ๆ จึงไม่ได้สนใจจดจำ หรือคิดทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ทำให้สมาธิในการจดจำสั้นลง แต่ในปัจจุบันมีการสำรวจพบว่าเพราะความเครียด มลพิษ ปัญหาต่าง ๆ ที่เร่งเร้า และอายุที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรากลายเป็นคนขี้ลืม และนำไปสู่โรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ได้เช่นกัน
เพื่อให้คุณ ๆ ตั้งตัวรับโรคนี้ได้ทัน เรามาสำรวจตัวเองและคนรอบข้างจาก 15 สัญญาณที่เตือนว่าคุณอาจจะกำลังเข้าข่ายการเป็นอัลไซเมอร์ ดังนี้
1. หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
2. การตัดสินใจแย่ลง เปลี่ยนใจง่าย เช่น ถ้ามีเซลล์แมนมาขายของที่หน้าบ้านก็จะซื้อทันที ซึ่งจะต่างจากแต่ก่อนที่จะไม่ซื้อของพวกนี้เลยหรือ ไม่ใช้จ่ายอะไรง่าย ๆ ซึ่งข้อนี้มักจะนำไปสู่ปัญหาด้านการเงินด้วย คือใช้จ่ายแบบไม่คิด ใช้เงินโดยไม่คำนวณ ไม่มีการออมไว้เหมือนแต่ก่อน
3. งานหรือกิจกรรมอะไรที่เคยทำอยู่ประจำ จะกลายเป็นงานที่ทำได้ยากขึ้น เช่น ลืมวิธีผูกเนคไท ลืมวิธีผูกเชือกรองเท้า หรือถ้าจะทำไข่เจียวก็แตกไข่แตกเละคามือ ลืมปรุง หรือทอดโดยไม่ใส่น้ำมัน เป็นต้น
4. วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอากระเป๋าสตางค์ไปใส่ไว้ในตู้เย็น เอาช้อนส้อมไปใส่ไว้ในลิ้นชักตู้เสื้อผ้า โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องผิด และยังใช้ชีวิตปกติทั้งที่ข้าวของยังวางผิดที่
5. สับสนเรื่องเวลา โดยมักจะคิดว่าเวลาผ่านไปนานกว่าปกติ เช่น นั่งรอห้านาทีก็จะคิดว่านั่งรอมาห้าชั่วโมงหรือเพิ่งใส่เสื้อตัวเก่งไปแล้วเมื่อวาน แต่คิดใส่เสื้อตัวนั้นไปเมื่ออาทิตย์ก่อน เดือนก่อน เป็นต้น
6. สื่อสารกับคนอื่นยากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการพูด มักจะเรียงลำดับคำผิด ใช้คำผิด พูดผิด หรือคิดไม่ออกว่าจะใช้คำว่าอะไร จะพูดว่าอะไร
7. เดินออกไปข้างนอกอย่างไม่มีจุดหมาย มักจะเดินออกไปที่ไหนซักที่โดยไม่รู้ว่าจะไปทำไมไปทำอะไร
8. ทำกิจกรรมบางอย่างแบบมีเหตุผลและซ้ำ ๆ เช่น เดินไปเปิดตู้เย็นแล้วก็ปิดทันที โดยที่ไม่ได้อยากหยิบอะไรพอเดินกลับมานั่งก็จะลุกขึ้นไปเปิดและปิดแบบเดิมอีกซ้ำ ๆ
9. ไม่ค่อยดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องการตัดผม ตัดเล็บ หวีผม หรือลืมแม้กระทั่งว่าตื่นมาจะต้องล้างหน้าแปรงฟัน
10. แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พูดหรือทำในสิ่งที่โดยปกติจะไม่พูด เช่น พูดว่าคนอื่นว่าอ้วนออกมา ตรง ๆ เพราะขาดความคิดในการชั่งใจ หรือตัดสินใจว่าอะไรถูกหรือผิดเหมือนตอนที่ยังไม่เริ่มมีอาการ
11. รู้สึกหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา หรือมักจะชอบคิดว่าตัวเองเห็นใคร หรืออะไรคอยซุ่มดูตัวเองอยู่ หรือกลัวคนจะมาทำร้ายตลอดเวลา
12. นอนหลับยาก กระสับกระส่ายในตอนกลางคืนมากกว่าแต่ก่อน
13. ถอยห่างออกมาจากครอบครัว เพื่อน รวมไปถึงกิจกรรมเดิม ๆ ที่เคยทำ เช่น ไม่พูดคุยกับใคร ไม่เล่นกีฬาที่เคยเล่นประจำทุกวัน เป็นต้น
14. ชอบทำพฤติกรรมเหมือนเด็ก ๆ เช่น งอแงเมื่อไม่ได้ดั่งใจ หรือดีใจเกินกว่าเหตุถ้าได้ของที่ต้องการ
15. พูดจาและแสดงอาการก้าวร้าว เช่น พูดว่าหรือด่าทอคนอื่น ทั้งที่แต่ก่อนไม่มีพฤติกรรมอย่างนี้มาก่อน
นี่เป็นเพียงวิธีสังเกตอาการเพียงเบื้องต้น ที่เราสามารถสำรวจได้ด้วยตัวเอง แล้วถ้าใครมีอาการข้างต้นเกินกว่า 5 ข้อขึ้นไปก็ต้องพิจารณาตัวเองได้แล้วว่าอาจจะเข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์ และทางที่ดีคือลองไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติมจะดีที่สุด เพราะโรคนี้ไม่มีทางรักษา และเราสามารถป้องกัน หรือชะลอให้มันเกิดช้าลงได้
แนะ 9 วิธีป้องกัน “อัลไซเมอร์”
นอกจากนี้ ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการสมองเสื่อมที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จิตแพทย์แนะนำ 9 ข้อสำคัญ ดังนี้
1. ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมอง
2. ควรระวังเรื่องการใช้ยา ไม่ควรรับประทานยาสุ่มสี่สุ่มห้า ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาทุกครั้งและ ควรนำยา ที่รับประทานเป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งยาซ้ำซ้อน
3. ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนศีรษะ
4. สำหรับผู้สูงอายุที่เดินลำบากควรมีคนดูแล เช่น เวลาเข้าห้องน้ำควรมีคนไปเป็นเพื่อน เพราะอาจเกิด การลื่นหกล้มหัวฟาดในห้องน้ำได้
5. เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และไม่ควรลืมเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง
6. ตรวจเช็คความดันเลือดสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องปฏิบัติตน ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมได้
7. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้สูงอายุไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดโทษได้
8. ควรหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หมั่นเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามสมควร
9. เมื่อสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ มากผิดปกติ หรือมีอาการบ่งชี้อื่นๆ ที่น่าสงสัยก็ควรรีบไป พบประสาทแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุทันที
จะเห็นว่า เรื่องราวของโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงการดูแล การรักษา การป้องกันนั้นซับซ้อน และยากต่อความเข้าใจทีเดียว ซึ่งทางที่ดีที่สุด ก็คือ การหาโอกาสปรึกษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง.