วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

คนคิดนอกกรอบเป็นอย่างไร



ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางฐิตาภา  แจ่มศรี
ตำแหน่ง :  เจ้าพนักงานการคลังชำนาญงาน
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นางสาวนภาวรรณ  ศานติ์สุทธิกุล
ตำแหน่ง: นักวิชาการคลังชำนาญการ
ความรู้เกี่ยวกับ  :    คนคิดนอกกรอบเป็นอย่างไร
หน่วยงาน  ส่วนบริหารการจ่ายเงิน ๔  สำนักบริหารการับ-จ่ายเงินภาครัฐ
การทำงานของสมอง
การทำงานของสมองเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ทั้งการกระทำของร่างกายทางประสาทสัมผัสทางการรับรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งทางการมองเห็น การได้ยิน การรับความรู้สึกทางผิวหนัง การเรียนรู้ทางด้านภาษาหรือการพูด ความจำ รวมทั้งการคิด
การคิด
การคิดเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมากับมนุษย์  เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกายและสมองตามการวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  การคิดจึงเป็นเครื่องมือพิจารณาตัดสินในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตมนุษย์
โดยการคิด  คือ การรวบรวมและเชื่อมโยงเอาประสบการณ์การเรียนรู้สิ่งรอบตัวมาวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดผลทางความคิดในเรื่องนั้น ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตของมนุษย์

กระบวนการคิดเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การคิดเปรียบเสมือนช่องทางแห่งการเอาชนะปัญหาในการดำรงชีวิตในทุกสถานการณ์ ซึ่งมีกระบวนการคิดได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัญหาและองค์ประกอบชี้วัดต่าง ๆ ในการคิด จึงควรเลือกกระบวนการคิดที่เหมาะสมในการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสร้างนวัตกรรมขึ้นมา


การคิดนอกกรอบ
การคิดนอกกรอบ หมายถึง การคิดอย่างแตกต่าง อย่างไม่เป็นไปตามแบบแผน หรือการคิดเพื่อสร้างมุมมองใหม่
ทำไมต้องคิดนอกกรอบ
ในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยี มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นเสมอ จึงทำให้สังคมและหน่วยต่าง ๆ ในสังคม ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันอยู่เสมอ การคิดจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาและเรียนรู้กับทักษะเทคโนโลยีใหม่
ลักษณะของบุคคลที่คิดนอกกรอบ
เมื่อความคิดนอกกรอบ หมายถึง แนวความคิดใหม่อย่างสร้างสรรค์ที่แปลกแตกต่างจากความคิดเดิม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นแนวทางใหม่ ลักษณะของบุคคลที่มีความคิดนอกกรอบ หรือแนวทางปฏิบัติพัฒนาความคิดนอกกรอบ จึงแบ่งเป็น 7 ขั้น ดังนี้
1.  รักการเรียนรู้
ความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ เพราะส่วนหนึ่งที่เกิดการพัฒนาทางความคิดในทุก ๆ ด้าน
การได้มาซึ่งความรู้นั้นสามารถได้จากประสบการณ์  โดยแบ่งเป็น 2 วิธี ดังนี้
1.1  ประสบการณ์โดยตรง
การเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง  เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองในประสบการณ์และความรู้ด้านต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรียนรู้จากชีวิตประจำวัน เช่น การรับรู้เรื่องไฟมีความร้อน ประสบการณ์ตรง คือ เมื่อเอามือไปใกล้ไฟมาก ๆ จะร้อน และเมื่อเอามือเข้าใกล้มาก จนสัมผัสเปลวไฟจะสามารถเรียนรู้ได้ว่า นอกจากความร้อนจะมีความปวดแสบ ปวดร้อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่สามารถเรียนรู้ได้เองจากประสบการณ์
1.2  ประสบการณ์โดยอ้อม
การเรียนรู้จากประสบการณ์โดยอ้อม  เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่ได้สัมผัสด้วยตนเอง แต่เกิดจากการเรียนทั้งในระบบและนอกระบบที่เกิดจากผู้สั่งสอนหรือบอกเล่า เกิดจากการรับสื่อต่าง ๆ ทั้งทางด้านการรับโดยการฟัง อ่าน และการชม ซึ่งเป็นประสบการณ์หรือความรู้ที่มีการกลั่นกรองมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่สามารถสร้างสรรค์พัฒนาการเรียนรู้ได้เช่นกัน
ฝึกตนในการรับรู้เรียนรู้ทั้งประสบการณ์โดยตรงและประสบการณ์โดยอ้อม ข่าวสาร
หาข้อมูลในทุกด้านและทุกมิติให้เป็นนิสัย เพราะความรู้และข้อมูลมีมากมาย และสามารถปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
ตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การฝึกพัฒนาตนเพื่อให้เป็นผู้รอบรู้จึงเป็นพื้นฐานสำหรับกระบวนการคิด
2.  ฝึกการสังเกต
การสังเกต เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ได้มากมาย จากการรับรู้ จากประสาทสัมผัส
ทั้งการดู การฟัง การรับรสชาติ การรับรู้กลิ่น การสัมผัสทางกายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเกิดการบันทึก เพื่อเป็นข้อมูล เช่น การดูนก เป็นการสังเกตนกจากการมองผ่านกล้องส่องทางไกล และจดบันทึกถึงลักษณะและอาจวาดลักษณะนก เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ลักษณะของนกชนิดนั้นว่า มีลักษณะอย่างไร เพื่อการนำไปพัฒนาสู่ความรู้ด้านต่าง ๆ ของนกต่อไป
การสังเกตจึงเป็นสิ่งที่พัฒนาประสบการณ์ให้เกิดเป็นความรู้ การฝึกตนให้เป็นคนช่างสังเกตและจดจำ  นอกจากการศึกษาหาข้อมูลความรู้ ข้อมูลข่าวสารแล้วนั้น การฝึก การสังเกตและจดจำจึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเป็นการเสริมกระบวนการด้านความรู้ เพื่อนำไปพัฒนากระบวนการคิด การสังเกตและการจดจำสามารถนำไปใช้ควบคู่กับการหาความรู้ หรือข้อมูลการสังเกตในทุก ๆ สิ่ง ฝึกจนเป็นนิสัยเพื่อสร้างลักษณะอันดีของนักคิด การจดจำในสิ่งที่เรียนรู้มาแล้ว เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางความคิดในอนาคต
3.  มองรอบด้าน
การมองรอบด้าน คือ การมองในทุกด้านและทุกมิติ ในเรื่องราวและเหตุการณ์หรือประสบการณ์ เช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 1 แห่ง จะต้องมีการศึกในทุก ๆ ด้าน ดังนี้
- งบประมาณในการสร้างเขื่อน ในการสร้างเขื่อนต้องใช้งบประมาณเท่าไร มีความคุ้มค่าในระยะยาวคุ้มกับการสร้างหรือไม่
- ด้านการผลิตไฟฟ้า จากกระแสน้ำที่เขื่อนกักเก็บสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่าไหม
- ด้านการกักเก็บน้ำ การกักเก็บน้ำของเขื่อนเป็นผลประโยชน์รอง แต่สามารถส่งผลกระทบได้ เพราะการสร้างเขื่อนต้องคู่กับการจัดการน้ำที่ดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อาศัยด้านใต้เขื่อนทั้งทางด้านการเกษตร อุปโภคและบริโภคว่า เกิดผลกระทบมากน้อยอย่างไร
- ด้านผลกระทบกับระบบนิเวศ ทั้งระบบนิเวศของป่าในบริเวณที่สร้างเขื่อน ผลกระทบต่อสัตว์ป่าในบริเวณที่สร้างเขื่อน เป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
แสดงให้เห็นถึงการมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านดีและไม่ดีที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน เป็นตัวอย่างในการมองแบบรอบด้านของกระบวนการคิดหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการคิด
การนำความรู้ที่ผ่านการสังเกตและจดจำไปใช้นั้น เป็นขั้นตอนในการเริ่มของกระบวนการคิด
แต่ในการนำข้อมูลความรู้ไปใช้หรือนำเสนอเพียงแค่ด้านเดียว หรือเพียงมิติเดียว จึงเป็นเพียงการใช้ความคิดเพียงมิติเดียว เพื่อให้ระบบความคิดรอบด้านหลายมิติ จึงควรใช้ความรู้รอบด้านมาใช้ในการคิด เพื่อให้ได้ความคิดแบบรอบด้าน ซึ่งจะได้ความคิดที่น่าเชื่อถือและเป็นเหตุเป็นผลมากที่สุด
4.  ตั้งคำถาม
การตั้งคำถาม คือ การตั้งคำถามถึงกระบวนการคิดถึงความถูกต้องหรือความเก่าไม่ร่วมสมัย หรือการคิดยังไม่ส่งประโยชน์สูงสุดต่อผลในด้านต่าง ๆ คิดทบทวนตั้งคำถามต่อความรู้หรือกระบวนการคิดไปทุก ๆ มิติ การตั้งคำถามต่อประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นการช่วยขยายความรู้เพื่อพัฒนาความคิดเดิม ให้เกิดการก้าวหน้าทางความคิดเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ให้ส่งเสริมหรือหักล้าง เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงมากที่สุดทางความคิดและเกิดสมดุลทางความรู้
5.  ขบถกับความคิดเดิม
เมื่อการหาความรู้และเริ่มคิดรอบด้านแล้ว จึงเกิดปัญหาในการคิดแบบนอกกรอบ คือ การคิดจะเป็นแบบเดิมตามความรู้หรือข้อมูลเดิม จะไม่เกิดความคิดใหม่ ๆ ได้ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดแบบใหม่ โดยไม่ซ้ำแบบเดิม จึงควรละทิ้งกระบวนการคิดแบบเดิม  โดยทดลองการคิดแบบใหม่ โดยไม่ยึดติดกับกระบวนการคิดแบบเก่า ๆ
เมื่อละทิ้งกรอบความคิดเก่า และเปลี่ยนแนวทางความคิดใหม่ ต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนความคิดไปสู่สิ่งใหม่แนวทางใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบใหม่ ๆ เพราะความรู้และความคิดไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ ต้องพัฒนาอยู่เสมอ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าไปก่อนการเปลี่ยนแปลงโลกอยู่เสมอ
6.  ฝึกความสัมพันธ์ทางความคิด
ฝึกความสัมพันธ์ทางความคิดผ่านฟัง คิด ถาม เขียน การฝึกตนให้เป็นนักคิดที่ดี ต้องฝึกทักษะทั้งสี่ด้าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กันทางความคิด เริ่มจาก
ฟัง  ฟังผู้รู้ ความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพื่อเป็นข้อมูลทางความคิด
คิด   เมื่อได้ข้อมูลข่าวสารความรู้ต่าง ๆ ควรฝึกกระบวนการคิดเสมอ คิดถึงความเหมือน
ความต่างของความรู้ เพื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ผลของความคิดที่ใกล้เคียงหรือถูกต้องมากที่สุด
ถาม   เมื่อความคิดผ่านกระบวนการคิดจนตกตะกอนทางความคิด แล้วจึงนำสิ่งที่คิดมาย้อนถามถึง  สิ่งที่ถูกต้อง เหมือนหรือไม่เหมือนทางด้านความรู้จากผู้รู้ หรือแหล่งการเรียนรู้  เพื่อได้ความรู้ หรือกระบวนการคิดที่ถูกต้อง และได้ประโยชน์สูงสุด เขียน  การเขียนเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อเป็นการเน้นย้ำทางความรู้และความคิดถึงผลที่เกิดจากการตกตะกอนทางความคิด
7.  คิดแง่บวก
เมื่อเกิดทักษะทางความคิดจนถึงกระบวนการคิดในขั้นตอนสุดท้าย  จนได้ตะกอนทางความคิดหรือผลทางความคิดแล้ว การคิดแง่บวกเป็นกระบวนการคิดที่ครอบกระบวนการคิดในทุก ๆ ด้านของการคิด  เพราะเมื่อการคิดได้ผลแล้ว การนำไปใช้ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งไม่ดีไม่เป็นผลดีกับผู้อื่น การคิดจึงเป็นสิ่งที่ควรคู่กับการคิดเชิงบวกด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น การคิดจึงเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เพื่อเป็นการสร้างสรรค์สังคมให้พัฒนาไปในทิศทางที่ดี
ทำอย่างไรจึงจะคิดนอกกรอบ
การที่เราจะคิดนอกกรอบได้  เราต้องมีความคิดที่จะหลุดจากกรอบความคิดเดิม ๆ เสียก่อน โดยไม่ให้มีเค้าความคิดเดิมอยู่เลย คน ๆ นั้น ต้องเป็นคนที่มองแบบรอบด้าน ไม่มองอะไรเพียงด้านเดียว จะต้องลงมือทำตามที่ตนเองมีความคิด ความเชื่อที่จะทำ และต้องเตรียมใจพร้อมที่จะรับผลจากการกระทำนั้น ๆ และต้องตรวจสอบความคิดและการกระทำได้ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นความคิดนอกกรอบจริงหรือไม่
“คิดนอกกรอบ” คือ คิดไม่เหมือนเดิม มี 3 ลักษณะ คือ
1.  คิดเพิ่มจากเดิม เช่น เคยทำงานในมุมมองเดียว ก็เพิ่มมุมมองในการทำงานมากขึ้นจากเดิม อาทิ  เคยขายก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียว ก็เพิ่มขายข้าวแกงด้วย ขนมด้วย เพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า กิจการก็จะดีขึ้น
2.  เปลี่ยนกรอบคิด เช่น เป้าหมายการศึกษาเดิม คือ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ก็เปลี่ยนกรอบคิดและเปลี่ยนเป้าหมายเป็น เก่ง ดี มีสุข เดี๋ยวนี้เปลี่ยนกรอบคิดเป็นคุณธรรมนำความรู้
3.  เปลี่ยนมุมมอง คือ ไม่มองในมุมเดิม ๆ เช่น นิทานเรื่องเซลแมนขายรองเท้าที่ไปบนเกาะ ๆ เดียวกัน แต่คนแรกเห็น ชาวเกาะไม่สวมรองเท้า ก็โทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านายว่า คงขายรองเท้าไม่ได้ แล้วก็จากไป แต่เซลแมนคนที่สองที่มองเห็นอย่างเดียวกัน โทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านายว่า  เราจะรวยกันใหญ่แล้ว เพราะชาวเกาะไม่มีใครสวมรองเท้าเลย เราต้องขายรองเท้าดีแน่ ๆ
จากข้อเสนอแนะการคิดนอกกรอบทั้ง 3 ข้อ เป็นการเสนอมุมมองของการคิดที่คน ๆ หนึ่ง มีความต้องการ
ที่จะทำในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม เป็นการต่อยอดความคิดด้วยความเชื่อมั่น ไม่ลังเลที่จะลงมือทำให้เห็นผลว่า สิ่งที่คิดนั้น สามารถเป็นความจริงได้หรือไม่
ผลดีในการคิดนอกกรอบ
-  สร้างบุคลากรในอนาคต ซึ่งเป็นกำลังของประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ในการพัฒนาสังคมให้เกิดสังคมในการคิดในสิ่งใหม่ ๆ และยั่งยืน
-  ได้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากกระบวนการคิดนอกกรอบ
-  สร้างสังคมแห่งความแตกต่างทางความคิด ให้เกิดการเรียนรู้อยู่ร่วมกัน ระหว่างความแตกต่างทางด้านความคิดของการคิดรูปแบบเก่า และการคิดรูปแบบใหม่ให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น