วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่


ความรู้ที่แบ่งปัน : โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นางสาวนัจนันท์  ธนลาภไพรินทร์
เจ้าพนักงานการคลังชำนาญงาน 
หน่วยงานกองแผนงาน

มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร ?
มะเร็งลำไส้ใหญ่หมายถึงเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่เกิดพยาธิสภาพร้ายแรงภายใต้ปัจจัยต่างๆเช่นสภาพแวดล้อมหรือพันธุกรรมเป็นต้น ตำแหน่งที่เกิดโรคง่ายคือลำไส้ใหญ่และส่วนที่อยู่ระหว่างลำไส้ใหญ่
กับลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์ (sigmoidcolon) มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอัตราพบ รองลงมาจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งท่ออาหาร มีอัตรา พบสูงในบุคคลอายุระหว่าง 40 ถึง 50ปี ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุต่ำกว่า 40ปี มีประมาณ 15% อัตราพบระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง 2:1
สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอะไร ?
1. อาหาร:อาหารที่มีโปรตีนสูงและไขมันสูงและขาดใยอาหารเป็นปัจจัย เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
2. พันธุกรรม:หากพ่อแม่พี่น้องเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนในครอบครัว เดียวกันจะมีอัตราการพบสูงกว่าบุคคลปกติ
3. เนื้อโพลิบ (Polyp) :เนื้อโพลิบมักเกิดอยู่ที่ผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ ตรง เนื้อโพลิบที่ก่อให้เกิดมะเร็งเรียกว่า เนื้อโพลิบร้าย
4.โรคโคร์น (Crohn): หรือโรคแผลลำไส้ใหญ่อักเสบ: ผู้ป่วย โรคโคร์น หรือโรคแผลลำไส้ใหญ่อักเสบจะมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 30 เท่า
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงคือกลุ่มบุคคลไหน ?
1. ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเนื้อโพลิบ (Polyp)
2. ครอบครัวมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
3. กลุ่มบุคคลที่ตรวจเลือดพบมีเลือดแฝงกับอุจจาระตลอดเวลา
4. ผู้ป่วยแผลลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
5. กลุ่มบุคคลที่ท้องร่วงเรื้อรังหรือท้องผูกเรื้อรังบ่อย
อาการแสดงออกของมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอะไร ?
1.อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสีแดงสดหรือสีแดงเข้ม
2.ท้องอืด ปวดท้อง การย่อยอาหารไม่ดี การอยากอาหารลดลง
3.การเปลี่ยนในพฤติกรรมการถ่ายอุจจาระ มีอาการอยากถ่ายตลอดเวลา หรือมีอาการท้องร่วงสลับกับท้องผูก
4.ลักษณะของอุจจาระไม่เหมือนปกติ เล็กลง หรือมีร่อง
5.มีอาการน้ำหนักลดและโลหิตจางโดยไม่รู้สาเหตุ
6.การมีแผลในทวารหนักและหายช้า ทวารหนักเจ็บอย่างต่อเนื่อง
7.เกิดอาการดีซ่าน ท้องบวม ตัวร่างกายบวมซึ่งอาการทั้งหมดเป็น อาการที่แสดงว่ามีการมะเร็งแพร่กระจายไปยังตับ


6 อาหารบำรุงสมองคนทำงาน


ความรู้เกี่ยวกับ  :  6 อาหารบำรุงสมองคนทำงาน 
โดย : นางสาวจรุวรรณ ทิมเมือง
หน่วยงาน  : สำนักงานคลังเขต 8
6 อาหารบำรุงสมองคนทำงาน

เพราะสมองเราทำงานหนักทุกวัน เราจึงต้องบำรุงรักษาสมองของเราให้ว่องไว ฉลาดปราดเปรื่องไปนาน ๆ ใครที่เริ่มหลง ๆ ลืม ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังหนุ่มยังสาว ต้องรีบดูแลสมองของคุณโดยด่วน ส่วนวิธีการก็ไม่ยากเย็นแต่อย่างใด เพียงเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง ดังต่อไปนี้
1.สร้างเซลส์สมองด้วยโอเมก้า-3 
เซลส์สมองของเราส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยไขมันจำเป็นที่เรียกว่า โอเมก้า-3 ช่วยในการสร้างเสริมและซ่อมแซมเซลส์สมอง โดยเราสามารถหาโอเมก้า-3 ได้จากอาหารต่อไปนี้ 
-แซลมอน
-ปลาทูน่า
-น้ำมันแฟลกซีด
-น้ำมันคาโนลา
-วอลนัท
-จมูกข้าวสาลี
-ไข่
2.ปกป้องสมองด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ 
เมื่อเราอายุมากขึ้น อนุมูลอิสระในกระแสเลือดจะทำลายเซลส์สมองของเรา ถ้าเราไม่ต่อสู้กับมัน ความจำของเราก็จะค่อย ๆ เสื่อมลงไปตามกาลเวลา เราจึงต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจำพวก 
-บลูเบอร์รี่และผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่
-บร็อคโคลี่
-แครอท
-กระเทียม
-องุ่นแดง
-ปวยเล้ง
-ถั่วเหลือง
-ชา
-มะเขือเทศ
-โฮลเกรน
3.เพิ่มพลังสมองด้วยโปรตีนและไทโรซีน 
สมองของเราไม่ได้มีแค่เซลส์ประสาท แต่ยังมีสารสื่อประสาททำหน้าที่เหมือนแมสเซนเจอร์ส่งสัญญาณจากเซลล์ประสาทเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง หากเรามีสารสื่อประสาทน้อยเกินไป สมองเราก็จะทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เรามาเพิ่มสารสื่อประสาทด้วยการกินอาหารต่อไปนี้กันดีกว่า 
-ผลิตภัณฑ์จากนม 
-ไข่
-อาหารทะเล
-ถั่วเหลือง
4.หล่อเลี้ยงสมองด้วยน้ำ 
น้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่แค่ร่างกายที่ต้องการน้ำ แต่รวมถึงสมองของเราด้วย เพราะการขาดน้ำมีผลต่อสมองทำให้ความสามารถในการจดจำลดลง ถ้าอยากสมองดีเราต้องดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตร หรือ 6 – 8 แก้วต่อวัน
5.บำรุงสมองด้วยวิตามินและเกลือแร่ 
ยังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง อาทิ 
-วิตามินบี 6 
-วิตามินบี 12
-วิตามินซี
-ธาตุเหล็ก
-แคลเซียม
6.ควบคุมการทำงานของสมองด้วยไฟเบอร์ 
ไฟเบอร์มีความสำคัญต่อสมองของเราอย่างมาก เพราะไฟเบอร์ช่วยในการทำงานของสมอง ควบคุมการดูดซึมน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ และในปริมาณที่เหมาะสม อาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่จะช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือดของเราได้ดี ได้แก่ 
-ผลไม้แห้ง เช่น แอพริคอต ลูกพรุน ลูกเกด
-ผัก เช่น บล็อคโคลี่ ถั่วเขียว ปวยเล้ง
-ถั่วต่าง ๆ 
-อัลมอนด์ และแฟลกซ์ซีด
-ผลไม้ เช่น อโวคาโด กีวี ส้ม ลูกแพร์ แอปเปิล 
-ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง
วิตามินและเกลือแร่เหล่านี้สามารถหาได้จากอาหารที่เรากินเข้าไปอยู่แล้ว แต่ก็สามารถเสริมได้ด้วยการกินวิตามินรวมพร้อมอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดี ทำให้ร่างกายและสมองนำวิตามินเหล่านี้ไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : www.pickthebrain.com



Project Audit การตรวจสอบโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อองค์กร


ความรู้เกี่ยวกับ  :  Project  Audit การตรวจสอบโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อองค์กร
โดย : นางสาวดวงกมล  ดวงงามยิ่ง  
หน่วยงาน  : กลุ่มตรวจสอบภายใน

Project  Audit การตรวจสอบโครงการให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อองค์กร
โครงการที่ดำเนินการในกิจการต่าง ๆ และหน่วยงานภาครัฐจะมีขนาดของโครงการใหญ่ขึ้นและมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น  การทำความเข้าใจและกำหนดกระบวนการบริหารโครงการได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของการบริหารงานในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะการมีการตระหนักและระมัดระวังในการกำหนดวิธีการและขั้นตอนการบริหารโครงการอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีการคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐาน และแนวพึงปฏิบัติที่ดีเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการพัฒนา
ผลการดำเนินงานของโครงการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การรับรู้ว่าโครงการประสบความล้มเหลวหรือความสำเร็จอย่างเดียว ไม่ได้สร้างมูลค่าแก่องค์กรแต่อย่างใด หากไม่สามารถสรุปได้ว่าองค์กรได้บทเรียนอะไรบ้างจากโครงการที่ได้ดำเนินไป และจะแปลงบทเรียนเป็นพารามิเตอร์หรือปัจจัยหรือองค์กรความรู้ที่จะช่วยพัฒนาการบริหารโครงการต่อไปได้อย่างไร
การเลือกรูปแบบตรวจสอบ
รูปแบบของการตรวจสอบโครงการ (Project Audit) อาจจะเลือกทำได้ถึง 4 รูปแบบขึ้นอยู่กับวัฏจักรของโครงการ ดังนี้
(1)Pre-Audit  เป็นการตรวจสอบในระหว่างที่มีการกำหนดรายละเอียด ขอบเขตของการดำเนินงานโครงการเพื่อช่วยประกันว่า จะพิจารณาและเตรียมการนำมาตรฐานมาใช้ในการควบคุมโครงการและกระบวนการรายงานผลการดำเนินงานโครงการก่อนการนำเสนอขออนุมัติโครงการ นอกจากนั้นการตรวจสอบประเภทนี้ จะมุ่งเน้นการพิจารณาความพร้อมและความพอเพียงของกิจกรรม/แผนงานการถ่ายโอนความเสี่ยง การกำหนดขอบเขตโครงการที่เหมาะสมและแผนบริหารความเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น
(2)Mini-Audit เป็นการตรวจเพื่อประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ตลอดระยะเวลาการบริหารงานโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการจะดำเนินไปเรื่อย ๆ มีความก้าวหน้าตามที่คาดหมายเอาไว้
(3)Full-Audit  เป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามที่ได้รับการร้องขอ เพื่อทำการทบทวนอย่างละเอียดเกี่ยวกับโครงการ และตรวจสอบปัญหาที่แท้จริงและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และนำเสนอกิจกรรมการแก้ไข
(4)Post Project Audit  เป็นการตรวจสอบเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสรุปให้เห็นว่า มีการดำเนินการใดบ้างในระหว่างที่ทำโครงการ และมีแนวทางในการพัฒนาโครงการที่จะเกิดใหม่ในอนาคตอย่างไร
ประโยชน์จากการตรวจสอบโครงการ
(1)  ได้มีการประเมินอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านการบริหารโครงการเทียบกับแนวทางพึงปฏิบัติ
(2)  ระบุประเด็นความเสี่ยงในการบริหารโครงการสำหรับโครงการใหม่หรือโครงการที่มีการดำเนินการจริง
(3)  ระบุแผนปฏิบัติการในแต่ละโครงการที่ผ่านการตรวจสอบ
(4)  ช่วยปรับปรุงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
หลักการโดยทั่วไปของการกำกับงานตรวจสอบโครงการ
งานตรวจสอบเป็นงานที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ กิจกรรมในแต่ละโครงการ ผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง กรอบการตรวจสอบโครงการจึงอาจจะเป็น
(1)การตรวจสอบสถานะงบการเงินของโครงการ หรือการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการ (Financial Statement Audit) วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบสถานะงบการเงินของโครงการ คือ พิจารณาว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ หรือต้นทุนของการจัดทำไว้อย่างเหมาะสมหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมและ/หรือผลผลิตของโครงการที่เกิดขึ้นตลอดจนกระบวนการเบิกจ่ายเงินมีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์
(2)การตรวจสอบการกำกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์  (Compliance Audit)
เป็นการตรวจสอบเพื่อทบทวนและทดสอบ (Review, Testing) รวมถึงประเมินระบบการควบคุมและขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในโครงการ รวมทั้งการกำกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่เป็นคำสั่งระเบียบปฏิบัติ 
การปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาและข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
(3) การตรวจสอบกิจกรรมและการปฏิบัติงานในโครงการ (Operational Audit) เป็นการตรวจสอบการดำเนินงานและเทคนิคการบริหารโครงการ โดยใช้มิติของการปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน



Office Syndrome คืออะไร ?


Office Syndrome คืออะไร ?
โดย : นางสาววันวิสาข์ ศิริเจริญจรรยา
สำนักกฎหมาย

Office Syndrome (ออฟฟิศซินโดรม) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ   หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกับการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตตลอดเวลามีส่วนทำให้เป็น Office syndrome  เพิ่มขึ้นมาก  เนื่องจาก  จอที่เล็ก ทำให้คนต้องห่อไหล่ ห่อตัว ก้มหน้าเพื่อมองจอ บางคนถือด้วยมือข้างเดียว และต้องใช้นิ้วจิ้มเยอะ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลทำให้ร่างกายเสียการสมดุลของกล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อ และเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ  อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ส่วนบางรายที่มีอาการของโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่นหมอนรองกระดูกเคลื่อน  หากทำงาน
ในอริยบถที่ผิดจะทำให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในเมืองไทยพบว่ากว่า ๘๐% ของพนักงานมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดเบ้าตา อ่อนเพลีย สมองตื้อ นอนไม่หลับ ไปตรวจก็หาสาเหตุของอาการปวดไม่พบ โดยเฉพาะในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนจะปวดหัว ปวดบั้นเอวอยู่แล้ว เมื่อมีอาการเหล่านี้ก็จะปวดหนักจนทนไม่ไหว หรือต้องฝืนใจไปทำงาน และในต่างประเทศมีการประเมินว่าพนักงานสูญเสียประสิทธิภาพไปถึง ๑ ใน ๓ เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น คือ ผลงานของบริษัทลดลง ต้องจ้างคนเพิ่ม ฯลฯ  คนที่มีอาการดังกล่าวต้องพึ่งการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า และพบว่าการนวดแบบนั้นทำให้รู้สึกผ่อนคลายแค่ชั่วคราว ไม่นานก็กลับมาปวดใหม่ ต้องไปนวดซ้ำ พอนวดแรงไปก็เกิดอาการช้ำ ยอก ผลลัพธ์แทนที่จะดีขึ้น กลับกลายเป็นแย่กว่าเก่า
Office Syndrome มี ๒ ลักษณะ คือ
๑. การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน คือ การที่เนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ มีการเกร็งตัว หรือถูกยึดในท่าเดิมนานๆ  หรือเส้นประสาทถูกกด เช่น การก้มทำงานจนคอเคล็ด เป็นต้น การบาดเจ็บแบบนี้จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน  แสดงออกมา นั่นคือการอักเสบ และเจ็บเวลาสัมผัส หรือขยับเขยื้อนบริเวณที่เป็น การรักษา คือ ลดการอักเสบ โดยการประคบเย็น พยายามหยุดการใช้งานของส่วนนั้น หรืออาจมีการใช้ซัปพอร์ตป้องกันการอักเสบซ้ำ
๒. การบาดเจ็บแบบสะสม คือ การทำงานในท่าหนึ่งนานๆ หรือทำกิจกรรมใดซ้ำๆกัน เช่น พิมพ์ดีดซ้ำ นั่งจ้องมองคอมพิวเตอร์ซ้ำๆ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ใช้นั่งทำงานไม่สะดวกสบาย ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้กล้ามเนื้อคงค้างอยู่นาน หรือถูกยืดอยู่นาน แต่ไม่มีการบาดเจ็บแบบทันทีทันใด การบาดเจ็บแบบสะสมแบ่งเป็น ๓ ระยะ 
ระยะที่ ๑ จะเริ่มมีอาการหลังจากทำงานสักพัก เช่น เช้าไม่มีอาการ แต่ช่วงใกล้เที่ยงถึงช่วงเย็น มีอาการมากขึ้น แต่กลับบ้านนอนพักก็หาย ไม่มีอาการคงค้างใดๆ
ระยะที่ ๒ เริ่มมีอาการหลงเหลือ แม้กลับไปพักแล้ว โดยเฉพาะช่วงทำงานหนัก จะมีอาการตึงๆ เจ็บๆ เล็กน้อย
ระยะที่ ๓ จะมีอาการเหมือนระยะที่ ๒ แต่รุนแรงกว่า
นอกจากนี้ความเครียดและอารมณ์ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค  Office syndrome  ได้  โดยเราสามารถสังเกตภาวะความเครียดได้จากลมหายใจ โดยขณะที่โกรธ คนจะหายใจอัดแน่นขึ้นข้างบน กล้ามเนื้อท้องจะเกร็ง และกล้ามเนื้อบ่าจะทำงานหนักขึ้น  หากอยากทราบว่ามีอาการ  Office syndrome เพราะการบาดเจ็บทางกาย  หรือเพราะความเครียด  ต้องลองจัดโต๊ะที่บ้านให้เหมือนกับที่ทำงาน แล้วลองกลับไปเล่นเกมหรือทำอย่างอื่น เพื่อสังเกตว่า
มีอาการเหมือนกันหรือเปล่า เพราะบางคนมีอาการหนักมากระหว่างทำงาน แต่พอไปเที่ยวกลับไม่มีอาการ
แนวทางในการรักษาและดูแลตนเอง ขึ้นกับระยะที่เป็น
ระยะที่ ๑ ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนสถานที่หรือวิธีการทำงานให้เหมาะสม
ระยะที่ ๒ นอกจากปรับเปลี่ยนการทำงาน อาจต้องรับการรักษาด้วย
ระยะที่ ๓ อาจต้องพักงานนั้นไปเลย เพราะแค่ทำเบาๆก็กระตุ้นอาการแล้ว
การนำศาสตร์อื่นๆมาประยุกต์ใช้ในการรักษา ดังนี้ 
ศาสตร์กายภาพบำบัด ได้แก่ การออกกำลังกาย การดูแลตนเอง การปรับเวิร์ก สเตชั่น และการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น คลื่นเสียง คลื่นความร้อน
ศาสตร์แพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ การกินยา การจัดกระดูก (Chiropractor)
ศาสตร์แพทย์แผนไทย ได้แก่ การนวด การประคบ
ศาสตร์แพทย์แผนจีน ได้แก่ การฝังเข็ม การนวดทุยหนา และการกัวซา