วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

แนวคำวินิจฉัยศาลปกครองที่น่าสนใจ


ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)                        
นายปิยะพงษ์  กรเกษม นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานวิเคราะห์และประเมินผลคดีปกครอง
หน่วยงาน   สำนักความรับผิดทางแพ่ง

แนวคำวินิจฉัยศาลปกครองที่น่าสนใจ
การดำเนินตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของหน่วยงานของรัฐที่ส่งมาให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ มีข้อควรระวังคือ เรื่องกำหนดอายุความที่จะสามารถออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐตลอดจนผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยมีบางกรณีที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น กรณีการจ่ายเงินตามคำพิพากษา ที่จะต้องพิจารณาออกคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้จ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาล หรือกรณีผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐเสียชีวิต จะต้องพิจารณาออกคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุความ   ๑ ปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต เป็นต้น โดยมีคำพิพากษาที่น่าสนใจคือ คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๙๑/๒๕๕๑ มีหลักกฎหมายที่สำคัญโดยสรุปว่า ตามมาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๓/๒๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้   ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า ๑ ปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ซึ่งหมายถึงแม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่า ๑ ปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องร้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกร้อง   ต่อเจ้ามรดกในขณะที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก อายุความ ๑ ปี ก็ยังไม่เริ่มนับ แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าประการใดก็ตาม หน่วยงานของรัฐที่เสียหายก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้อง    ค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดเมื่อพ้นกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดซึ่งเป็นอายุความยาวที่สุดที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กระทำละเมิดตนได้ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานวิเคราะห์   และประเมินผลคดีปกครองใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกำหนดอายุความตามแนวทางคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๙๑/๒๕๕๑

15 วิธี ขับรถให้ประหยัดทั้งน้ำมัน และเงินในกระเป๋า


ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
นายทองใจ  ปัญญาราช พนักงานขับรถยนต์ ส.2
หน่วยงาน     สำนักงานคลังเขต 5
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  15 วิธี ขับรถให้ประหยัดทั้งน้ำมัน และเงินในกระเป๋า 

15 วิธี ขับรถให้ประหยัดทั้งน้ำมัน และเงินในกระเป๋า
1. ควรวางแผนก่อนเดินทาง จะช่วยให้ระยะทางสั้นลง และเดินทางได้เร็วขึ้นกว่าเดิม และยังประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
2. ควรเติมน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน 9 โมงเช้าเสมอ เพราะว่าอุณหภูมิเย็นน้ำมันเชื้อเพลิงจะหดตัวจึงได้ปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 2%
3. ควรเติมน้ำมัน แค่หัวจ่ายตัดก็พอแล้ว ถ้าเติมจนเต็มปรี่ พอร้อนๆน้ำมันเชื้อเพลิงจะขยายตัวแล้วระเหยทิ้งที่รูระบาย
4. ควรอุ่นเครื่องยนต์สัก 1 นาที ในหน้าร้อน และ 3 นาที ในหน้าหนาว ซึ่งเครื่องยนต์จะได้ไม่ใช้กำลังฉุดมากและการหล่อลื่นจะสมบูรณ์ขึ้น
5. ค่อยๆ ออกตัวเมื่อรถจอดนิ่ง ที่ 1,000-2,000 รอบ จะได้ความนิ่มนวล ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการสึกหรอของเครื่องยนต์
6. ควรใช้เกียร์สูงขึ้นเมื่อรถวิ่งได้ 2,500 รอบ ขึ้นไป เพราะการลากเกียร์จะทำให้ชุดเกียร์ทำงานหนักจนอายุการใช้งาน สั้นและทำให้สิ้น เปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
7. ความเร็วคงที่ของเครื่องยนต์ 2,000 cc. ขึ้นไป ความเร็วคงที่ๆประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงคือ 110 Km./h. ซึ่งการรักษาเสถียรภาพความเร็วทำให้รถยนต์กินน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุดขณะรถวิ่ง
8. ความเร็วคงที่ของเครื่องยนต์ ต่ำกว่า 1,600 cc. ความเร็วคงที่ๆประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงคือ 90 Km./h. ซึ่งการรักษาเสถียรภาพความเร็ว ทำให้รถยนต์กินน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยที่สุดขณะรถวิ่ง
9. ควรพักรถสัก 15 นาที เมื่อขับรถเกิน 4 ชั่วโมง เพื่อให้ความร้อนของเครื่องยนต์ลดลง ซึ่งจะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นในระบบคลายความร้อนลงและกลับมามีคุณสมบัติที่ดีอีกครั้ง
10. เกียร์ถอยหลังจะกินน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด ควรค่อยๆ ถอยหลังไม่ต้องเร่งเครื่องยนต์มากเกินไป โดยเกียร์ถอยหลังจะใช้อัตราทด และใช้แรงฉุดมากกว่าทุกเกียร์
11. ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้เหมาะสม และไม่ควรหยุดรถหรือเบรกรถโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและ ทำให้ไม่สิ้นเปลืองผ้าเบรกโดยไม่จำเป็น
12. ปิดแอร์ก่อนถึงปลายทางสัก 500 เมตร เพื่อลดภาระของเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และพัดลมจะเป่าลมไล่ความชื้นในตู้แอร์ ไล่เชื้อราที่สะสมอยู่ในความชื้นด้วย
13. ตรวจสอบลมยางให้สม่ำเสมอ ทุกๆ 2 อาทิตย์ และหากลมยางอ่อนรถจะวิ่งได้ช้าลง ขอบยางจะสึกมากและยางจะหมดอายุก่อนกำหนด รวมทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย
14. ควรเก็บสัมภาระหรือของหนักๆที่ไม่จำเป็นออกจากรถเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักจะทำให้รถกินน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 20% ตามระยะทางที่วิ่ง
15. หมั่นปรับตั้งเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จะทำให้สมรรถนะของเครื่องยนต์ดีอยู่เสมอและลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง

ตลาดเงินและตลาดทุน


นางสาวศุภมาศ  ยั่งยืน  นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน    กองแผนงาน 
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  ตลาดเงินและตลาดทุน

ตลาดเงิน (Financial Market)
ตลาดเงิน คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้น กิจกรรม การเงินของตลาดเงิน เช่น การโอนเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ทางการเงิน ตลอดจนการจัดหาทุนเพื่อประกอบธุรกิจ การให้สินเชื่อแก่บุคคล องค์กรธุรกิจ และรัฐบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1)  ตลาดเงินในระบบ คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้น โดยสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ธนาคารกลาง กิจกรรมทางการเงินที่สำคัญของตลาดเงินในระบบคือ การกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Inter-Bank Loan หรือ Call Loan) การกู้โดยตรง หรือเบิกเกินบัญชีโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การกู้โดยขายตราสารทางการเงิน ตราสารการค้า ตลอดจนตราสารที่ธนาคารรับรอง
2)  ตลาดเงินนอกระบบ คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้นโดยไม่มีกฎหมายรองรับสถานภาพของผู้ให้สินเชื่อ กิจกรรมทางการเงินที่สำคัญได้แก่ การเล่นแชร์ การให้กู้กันเอง เป็นต้น
ตลาดทุน (Capital market)
ตลาดทุน คือ ตลาดที่มีการระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะยาว ตลาดทุนประกอบด้วยตลาดสินเชื่อทั่วไป เช่น  ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แบ่งเป็นตลาดแรก และตลาดรอง
1)  ตลาดแรก (Primary Market) เป็นตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์ออกใหม่ ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการซื้อหลักทรัพย์ที่หน่วยธุรกิจผู้ออกหลักทรัพย์ได้รับเงินทุนจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ใหม่เป็นการลงทุนที่แท้จริง
2)  ตลาดรอง (Secondary Market) เป็นตลาดที่ซื้อขายหลักทรัพย์เก่า ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่า ไม่ใช่การลงทุน เพราะหน่วยธุรกิจผู้ออกหลักทรัพย์ไม่ได้รับเงินทุนจากผู้ซื้อหลักทรัพย์ การซื้อขายหลักทรัพย์เก่าเป็นเพียงการเปลี่ยนมือระหว่างผู้ถือหลักทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามตลาดรองก็มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุน กล่าวคือ ทำให้ผู้ซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรก มีความมั่นใจว่าสามารถเปลี่ยนหลักทรัพย์เป็นเงินสดได้ในเวลาที่ต้องการ ความมั่นใจทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดแรก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำให้เกิดการจูงใจในการซื้อหลักทรัพย์ตลาดแรกหรือหลักทรัพย์ออกใหม่
ความแตกต่างระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน 
1) ตลาดเงินเป็นแหล่งเงินกู้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี แต่ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาว  ที่มีอายุการกู้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป 
2)  การเป็นแหล่งเงินกู้ที่มีอายุการกู้แตกต่างกันนี้ทำให้ตลาดทั้งสองแตกต่างกัน ดังนี้
2.1 ความเสี่ยง การให้กู้ในตลาดทุนเสี่ยงกว่าการให้กู้ในตลาดเงินมาก เพราะมีอายุการกู้นานกว่า ฐานะของผู้กู้จึงอาจเปลี่ยนแปลงได้มากในระยะยาวและยากที่จะคาดคะเนได้ถูกต้องล่วงหน้า
2.2 เครื่องมือในการกู้  ในตลาดเงินได้แก่หลักทรัพย์ระยะสั้นเช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น แต่ในตลาดทุนได้แก่หลักทรัพย์ระยะยาว เช่น หุ้นทุน หุ้นกู้ เป็นต้น
2.3 ประเภทของสถาบันในตลาดเงินได้แก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง  ผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะสั้น แต่ในตลาดทุนได้แก่ตลาดหลักทรัพย์ (Stock Exchange) ผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะยาว
2.4 วัตถุประสงค์ในการกู้  ตลาดเงินส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อการค้า การพาณิชย์      แต่การกู้จากตลาดทุนเป็นการกู้เพื่อการสะสมทุน
2.5 วิธีการกู้ ในตลาดเงินใช้วิธีต่อรองราคากับผู้ให้กู้ แต่การกู้ในตลาดทุนใช้วิธีประมูลราคาด้วยการกดราคาให้ต่ำเพื่อล่อใจผู้ลงทุน
2.6 ลักษณะของผู้ค้า ผู้ค้าในตลาดเงินมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ค้าในตลาดทุน แม้ว่าจะได้มีการแยกออก เป็นตลาดเงินและตลาดทุน แต่ตลาดทั้งสองก็เกี่ยวพันกันอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดหนึ่งย่อมมีผลกระทบกระเทือนอีกตลาดหนึ่ง การถ่ายเทของเงินทุนระหว่างกันมีอยู่เสมอ เช่น การกู้ยืมจากตลาดเงินของผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะยาวโดยหวังกำไรส่วนทุน (Capital Gain) ด้วยเหตุนี้การวิเคราะห์ตลาดเงินและตลาดทุนจึงยากที่จะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
บทบาทและหน้าที่ตลาดเงินและตลาดทุน
1)  ส่งเสริมการลงทุนและการผลิต เพื่อให้นักลงทุนและนักธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่เข้ามาลงทุนได้
2)  ส่งเสริมด้านการค้าภายในและภายนอกประเทศ
3)  ส่งเสริมการบริโภค สามารถให้ผู้บริโภคกู้ยืมเงิน เพื่อการบริโภคได้
4)  ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนและการบริโภคของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

ความรู้คู่คุณธรรม

คุณ สุปรียา  นวลจริง
นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน   สำนักงานคลังเขต ๙
ความรู้ที่แบ่งปัน  :   ความรู้คู่คุณธรรม                    

วิธีสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  1.  ควรให้เกียรติผู้อื่น ยอมรับซึ่งกันและกัน
  2.  อย่าเอาเปรียบคนอื่น ต้องตอบแทนซึ่งกันและกัน
  3.  หมั่นแสดงน้ำใจ เล็กๆน้อย ๆเสมอ 
  4.  ต้องเอาใจใส่ความรู้สึกของผู้อื่น
  5.  จะต้องให้ความสำคัญ กับความรู้สึกก่อนเหตุผล
  6.  จงเป็นผู้ที่มีหัวใจพร้อมที่จะบริการผู้อื่น
  7.  ยิ้มแย้มแจ่มใส (ไม่ถือตัว)
  8.  ทักทายผู้อื่นก่อน (ให้เกียรติผู้อื่น)
  9.  มีความจริงใจต่อกัน
  10.  มองผู้อื่นในแง่ดีไว้ก่อน
  11.  ควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้                                                                                               ทำความเข้าใจตนเองและเรียนรู้ผู้อื่น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
      1. อย่าตัดสินจากบุคลิกภาพภายนอก
      2. พัฒนาบุคลิกภาพภายใน 
      3. นึกถึงคนรอบข้างให้มากยิ่งขึ้น
      4. ความสุขส่วนใหญ่เกิดจาก ครอบครัว
      5. ทุกคนมีอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ถือเป็นบทเรียน และนำมาปรับปรุงแก้ไข
      6. หมั่นวิเคราะห์ตัวเอง 
เส้นทางสู่ความสำเร็จ
1.     รู้ว่าเราคือใคร มีจุดเด่น จุดด้อย อะไรบ้าง พัฒนาจุดเด่น และลดจุดด้อย
2.     มีความสามารถพิเศษอะไรบ้าง
3.     รู้จักพัฒนาความสามารถของตนเอง
4.     เมื่อมีอุปสรรคสามารถก้าวข้ามไปได้
5.     มีความคิดด้านบวก
6.     มีความหมั่นใจในตนเอง
7.     เมื่อพัฒนาความสามารถแล้วต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
คุณสมบัติ 10 ประการ (ญี่ปุ่น)
1.     ตรงต่อเวลา
2.     รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
3.     ทำงานด้วยความกระตือรือร้น
4.     สะอาดเป็นระเบียบ
5.     อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวด
6.     ประหยัด รู้คุณค่าของเงิน
7.     พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด
8.     ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง รู้จักบุญคุณผู้มีพระคุณ
9.     แยกแยะเรื่องส่วนตัว และความรับผิดชอบในหน้าที่
10.   ทำงานเป็นทีม
 การทำงานเป็นทีม
1.     เกิดความรอบคอบในการตัดสินใจ
2.     มองเห็นข้อผิดพลาด สิ่งที่แตกต่างกัน มักจะให้ประโยชน์มากกว่าสิ่งเดียว รวมกัน
ปัจจัยที่ทำให้การทำงานเป็นทีมสำเร็จ
-          ต้องทราบเป้าหมายของทีมอย่างชัดเจน
-          ทุกคนต้องทราบบทบาทและ หน้าที่ของตนเอง
-          ต้องชี้แนะแนวทางปฏิบัติ
-          มีการสื่อความหมายให้ตรงกัน
-          เมื่อเกิดความขัดแย้งต้องรีบทำความเข้าใจใหม่ทันที
-          ผลสำเร็จของทีม ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
-          มีความไว้วางใจกันและร่วมมือกัน
-          ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และให้ข้อมูลย้อนกลับซึ่งกันและกัน  

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

การบริหารความเสี่ยงขององค์กร


นางพิศมัย  บุญเทียม
                                              
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน    กองแผนงาน
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  การบริหารความเสี่ยงขององค์กร
การบริหารความเสี่ยงขององค์กร คือ การบริหารความเสี่ยงของโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้การตัดสินใจโดยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) ต่างๆ จะช่วยให้มีความมั่นใจในผลสำเร็จว่าจะสามารถจัดการความเสี่ยงได้ และจะทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การดำเนินการตามโครงการก็อาจเกิดความเสี่ยงได้อีก และอาจเกิดผลกระทบกับความสำเร็จของโครงการได้
          ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอาจมีแหล่งที่มาของความเสี่ยงทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร ดังนี้
                   ความเสี่ยงภายในองค์กร  เช่น
                             -  สถานที่ทำงานที่ไม่ปลอดภัย
                             -  ระบบบัญชีที่ไม่น่าเชื่อถือ
                             -  วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการสร้างประสิทธิภาพการทำงาน
                             -  การฝึกอบรมพนักงานที่ไม่เพียงพอ
                             -  ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เป็นต้น
                   ความเสี่ยงภายนอกองค์กร เช่น
                             -  การเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย
                             -  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
                             -  เสถียรภาพทางการเมือง
                             -  การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค
                             -  กระแสสังคมและสิ่งแวดล้อม
                             -  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น
ขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงอย่างง่าย แบ่งเป็น 5 ข้อ ดังนี้
                   1.  การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Establishment)
                   2.  การระบุความเสี่ยง (Risk Identification)
                   3.  การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
                   4.  การสร้างแผนการจัดการ (Risk Management Planning)
                   5.  การติดตามสอบทาน (Monitoring & Review)

 ประโยชน์ของการบริหารความเสี่ยง
                   1.  ช่วยชี้ให้เห็นถึงปัญหาขององค์กร
                   2.  ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารในด้านต่างๆ เช่น การวางแผน การกำหนดกลยุทธ์ การติดตามควบคุมและวัดผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กร  
                   3.  ช่วยลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
                   4.  ช่วยในเรื่องการติดตามผล 
                   5.  ช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร
                   6.  ช่วยให้การพัฒนาการบริหารและจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงในแต่ละกิจกรรมและการเลือกใช้มาตรการในการบริหารความเสี่ยง