ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นายคีรีวัฒน์ จันทร์มณี>>>>>
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นายคีรีวัฒน์ จันทร์มณี>>>>>
ตำแหน่ง : นักวิชาการคลังชำนาญการ
ความรู้เกี่ยวกับ :การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ
(National e-Payment Master Plan)
จุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร ซึ่งจะนำมาสู่
(1) การเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development)
(2) การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax System)
(3) การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม (Social Welfare)
(4) การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และ
(5) การส่งเสริม e-Payment ในทุกภาคส่วน (Cashless Society)
อันจะทำให้ธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดำเนินไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศไทย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงให้กับระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง
อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์นี้ยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายอื่น ๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่ นโยบาย Digital Economy โครงการระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ นโยบายการส่งเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในกรณีต่างๆ ของภาครัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ National e-Payment Master Plan ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม)
(2) โครงการการขยายการใช้บัตร
(3) โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
(4) โครงการ e-Payment ภาครัฐ
(5) โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งในการขับเคลื่อนโครงการทั้ง 5 จะดำเนินการผ่าน “คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์
(National e-Payment” โดยจะเร่งดำเนินการตามแผนและคาดว่าในส่วนแรกจะพร้อมใช้งานได้ ในช่วงกลางปี 2559
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐบาล และประเทศในภาพรวมจะได้รับประโยชน์โดยรวมจากการดำเนิน การตาม National e-Payment Master Plan ดังนี้
1) ประชาชน : จะช่วยยกระดับวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและบริการ e-Payment ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสด จากการกระจายจุดรับชำระเงิน ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และการทำให้การโอนเงินและการรับชำระเงินสามารถทำได้โดยง่ายโดยใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือ จากการใช้เลขที่บัญชีธนาคารอย่างในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะมีช่องทางการขึ้นทะเบียนที่เข้าถึงได้ง่าย โดยดำเนินการผ่านสาขาของสถาบันการเงินซึ่งจะมีระบบการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง ประชาชนจะสามารถใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการรับเงินช่วยเหลือ และนำไปใช้จ่ายผ่านร้านค้าหรือนำไปใช้กับบริการต่าง ๆ ของภาครัฐตามที่รัฐบาลจะกำหนดต่อไป เช่น ระบบขนส่งสาธารณะและระบบการรักษาพยาบาล เป็นต้น
2) ภาคธุรกิจ : จะสามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จากการโอนเงินและการรับชำระเงินเพื่อการค้าและการบริการผ่านระบบ e-Payment ที่ครบวงจร ด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถรับชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบขึ้นโดยระบบ e-Payment นี้ ท้ายที่สุดแล้วจะเข้ามาทดแทนวิธีการชำระเงินแบบเดิม ๆ ที่ใช้เงินสดหรือเช็คซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนกระบวนการและเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ
3) ภาครัฐบาล : จะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลทะเบียนที่ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน สามารถบริหาร จัดการเงินช่วยเหลือได้ตรงตามวัตถุประสงค์ มั่นใจว่าจะถึงมือประชาชนอย่างถูกต้อง และลดโอกาสเกิดการทุจริตซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการเงินงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น
นอกจากนั้น การบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบ ผ่านการพัฒนาระบบ e-Tax Invoice ระบบนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม และระบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลภาษีที่ครบถ้วนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการรายได้ที่ดีเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป
4) ประเทศในภาพรวม : แผนยุทธศาสตร์นี้คาดว่าจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ประมาณ 75,000 ล้านบาทต่อปี จาก ประชาชน ที่จะสามารถลดต้นทุนจากการพกพาเงินสด และหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน และมีความสะดวกมากขึ้นจากการเชื่อมโยงของระบบชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลาย จาก ภาคการธนาคาร ที่จะสามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสดและเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ ในศูนย์จัดการเงินสด จาก ภาคธุรกิจ รวมถึงร้านค้าที่สามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปีจากการลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค และการพิมพ์และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น