วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การถนอมสายตา


ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) 
นางสาวศิริรัตน์  แซ่วี >>>>>
ตำแหน่ง : นิติกร
คุณลิขิต (จด-ประมวล-กลั่นกรอง)
นายตามฤกษ์  เพชรมณี
ตำแหน่ง : นิติกร

ความรู้เกี่ยวกับ : การถนอมสายตา
*** ดวงตา เป็นอวัยวะที่มีความไวต่อแสง การมองในบริเวณที่แสงมีความเข้มมากกับบริเวณที่มีความเข้มแสงน้อย  อาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา หรือทำให้สายตาของเราเสียได้
เรตินา เป็นส่วนของตาที่เสียหายได้ เมื่อได้รับแสงที่มีความสว่างเกินความสามารถของการรับรู้ของมัน เมื่อเราดูวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ที่วางอยู่กลางแดดหรือบนหาดทรายขาว เราจะรู้สึกตาพร่าหรือบางครั้งก็รู้สึกตามัว นั่นเป็นเพราะว่า เรตินาของตา ถูกกระตุ้นจนเกินไปทำให้การตอบสนองช้า ถ้าเราจ้องดูวัตถุที่มีความสว่างมากต่อไป การตอบสนองก็จะยิ่งช้าลง ในกรณีที่ดูวัตถุ   ที่มีความสว่างสูงมาก เรตินาจะถูกทำลายจนใช้การไม่ได้ตลอดไปซึ่งหมายความว่า ตาคนๆ นั้นก็จะบอดนั่นเองค่ะ

สำหรับคนที่ทำงาน OFFICE พูดได้เลยว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงที่สามารถทำร้ายสายตาของคุณได้ตลอดเวลาเพราะไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ด้วยเสมอ ทั้งการทำงาน การเรียน การพักผ่อน เช่น เล่นเกม ดูภาพยนตร์ และยิ่งในสมัยนี้มีอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ทเข้ามาอีก ทำให้สายตาของเราต้องเพ่งหน้าจออยู่แทบจะตลอดเวลา นานวันเข้า  ก็เริ่มที่จะเกิดปัญหาทางด้านสายตา เช่น อาการปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้น หรือผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดหลัง เมื่อยคอ จากสถิติพบว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ประสบกับปัญหาเหล่านี้มากทีเดียว

ถ้าหากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น หรือไม่ก็เริ่มมีอาการอย่างที่บอกบ้างแล้ว ก็ควรที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพราะในเมื่อการจะให้ใช้เวลากับคอมพิวเตอร์น้อยลงคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ การชะลอการทำร้ายสายตาให้ช้าลง ทำให้สายตาเรารู้สึกสบายมากขึ้นเวลาจ้องหน้าจอ และที่สำคัญวิธีทั้งหมดนี้ง่ายต่อการปฏิบัติตามค่ะ ก่อนที่จะสายเกินแก้



เรามาดูแลดวงตาของเราด้วยวิธีง่ายๆ กันเถอะค่ะ
1. กะพริบตาให้ถี่ขึ้น อาการตาแห้งเกิดจากการที่เรากะพริบตาน้อยลง เนื่องจากมีสมาธิขณะทำงาน    หน้าจอคอมพิวเตอร์ อัตราการกะพริบตาจะลดลงจาก 20-22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6-8 ครั้งต่อนาที จึงควรที่จะกะพริบตา   ให้ถี่ขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
2. จัดวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ควรจัดให้มีระยะห่างระหว่างจอภาพกับตัวเราประมาณ 50-70 ซม. จัดระดับจอภาพจากจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาประมาณ 4-9 นิ้ว ไม่ควรให้จอภาพอยู่สูงหรือต่ำเกินไป
3. แก้ปัญหาเรื่อง “ขนาด” ความละเอียดของหน้าจอ หรือ screen resolution เป็นสิ่งที่ทำให้หน้าจอ        มีขนาดแตกต่าง ยิ่งความละเอียดมากขึ้นเท่าไหร่ ขนาดของภาพก็จะเล็กลง ดังนั้นจึงควรปรับค่าความละเอียดให้พอดีกับขนาด   ของหน้าจอ ไม่ควรเล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้ขนาดของภาพและตัวหนังสือผิดเพี้ยนไปจากความจริง เวลาพิมพ์งาน    ควรเลือกใช้ขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอ และปรับความเข้มของตัวอักษรให้มากขึ้น ซึ่งขนาดตัวอักษรและความเข้มที่เหมาะสม   จะสังเกตได้จากการที่เรายังสามารถอ่านตัวอักษรได้ในระยะห่างเป็น 3 เท่าของระยะที่นั่งทำงาน หรือเลือกใช้จอคอมพิวเตอร์ชนิด LCD (จอแบน) ซึ่งจะช่วยถนอมสายตาได้ดีกว่าจอคอมพิวเตอร์แบบเก่า (CRT)
4. ปรับความสว่างของห้อง จัดให้บริเวณหน้าต่างอยู่ทางด้านข้างของจอคอมพิวเตอร์ เพื่อลดแสงตกสะท้อนบนหน้าจอ และควรปิดไฟบางดวงที่รบกวนการทำงานเพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความสว่างที่มากเกินไป ถ้ามีแสงจ้า          จากหน้าต่างควรใช้มูลี่เพื่อปรับแสงให้ผ่านได้เพียงบางส่วน และไม่เข้าตาโดยตรง หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวสะท้อน      เช่น โต๊ะสีขาว ควรใช้วัสดุที่มีผิวด้านที่สะท้อนแสงไม่มากจะดีกว่า
5. เลือกใช้แว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันมีแว่นตาที่ผลิตมาเพื่อกรองแสงจากหน้าจอโดยเฉพาะ เลนส์แว่นเคลือบด้วยวัสดุที่สามารถป้องกันรังสีจากหน้าจอได้ดี และสามารถนำมาตัดเป็นแว่นสายตาสำหรับคนสายตาสั้น-ยาว ดังนั้น หากต้องใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมเป็นเวลานาน ควรเลือกใช้แว่นประเภทนี้ และใช้เลนส์สีเขียวอ่อนที่จะช่วยให้รู้สึกสบายตาภายใต้แสงจากหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ และเพื่อลดแสงสะท้อนจากจอภาพ
6. พักสายตา ทุกๆ ชั่วโมงควรเปลี่ยนอิริยาบถหรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ้างโดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปในระยะไกล สัก 10 - 20 วินาที แล้วกลับมามองในระยะใกล้ ทำสลับกันไปหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้คลายสายตาจากความเมื่อยล้าได้ดี เพื่อพักสายตาและป้องกันอาการปวดเมื่อยจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
หรือลองใช้วิธีบริหารกล้ามเนื้อตาแบบง่ายๆ ดูค่ะ
1. กลอกตาขึ้น-ลงช้าๆ 6 ครั้ง โดยเหลือบตาขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด ในระหว่างการบริหารอย่าเกร็งลูกตา
2. กลอกตาไปข้างขวาและซ้ายสลับกัน โดยกลอกตาไปให้ขวาสุด และซ้ายสุด ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
3. ชูนิ้วขึ้นมาให้อยู่ในระดับสายตา ห่างจากสายตาประมาณ 8 นิ้ว แล้วจ้องมองไปที่ระยะไกลๆ ประมาณ 10 ฟุต สลับกับใช้ตา มองระยะใกล้ที่นิ้วมือใช้เวลามองแต่ละที่ประมาณ 2-3 วินาที ทำสลับไปมาเช่นนี้ประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที        ทำประมาณ 2-3 รอบ
4. กลอกตาเป็นวงกลมช้าๆ โดยเริ่มกลอกตาตามเข็มนาฬิกาก่อน แล้วกลอกตาทวนเข็มนาฬิกา ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 1 วินาที ทำประมาณ 2-3 รอบ

7. ออกไปข้างนอกบ้าง การอุดอู้อยู่ที่เดิมเป็นเวลานานๆ ทำให้สายตาเราชินกับระดับแสงเดิมๆ และรู้สึก    ตึงเครียดอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นเราควรละจากหน้าคอมสักพัก แล้วลุกออกไปเดินข้างนอก กลางแจ้งได้ยิ่งดี เพราะจะทำให้สายตา    ได้สัมผัสกับระดับแสงที่แตกต่างจากในห้อง ทำให้สมองและสายตาได้ผ่อนคลายความเมื่อยตึง โดยอาจออกไปดื่มน้ำ หาขนมทานสัก 15 นาที แล้วกลับมาผจญภัยกับงานต่อ จะทำให้รู้สึกมีพลังขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และสุดท้าย เราควรตรวจสุขภาพตาปีละ 1 ครั้ง เพื่อวัดความดันตา ตรวจเช็กจอประสาทตาและความผิดปกติของสายตาเป็นประจำ เพราะโรคตาบางอย่างจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงขั้นรุนแรงแล้ว หากตรวจพบโรคตาตั้งแต่เนิ่นๆ        จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียสายตา จะได้รักษาดวงตาคู่นี้ให้อยู่กับเรานานเท่านาน
ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, คมชัดลึกออนไลน์
http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=76020
http://kruphysics-satri5.blogspot.com/p/blog-page_760.html
http://atcloud.com/groups/255/show_story?story_id=42206

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น