วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บันได 5 ขั้นสู่ชีวิตใหม่ที่มีค่าและเป็นสุข

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)

กิจกรรมที่ : กิจกรรมการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
ความรู้ที่แบ่งปัน : บันได 5 ขั้นสู่ชีวิตใหม่ที่มีค่าและเป็นสุข
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
คุณมาลัยทิพย์  ฐานิสสรณ์
ตำแหน่ง   นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
หน่วยงาน  สำนักงานเขต 8

 บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข
บันไดขั้นที่ 1 มองตัวเองว่าดีและมีค่าทุกวัน  ในแต่ละวันให้นึกถึงความดี และความโชคดีของตนเองเริ่มต้นด้วยการตื่นนอนตอนเช้า ให้ยิ้มกับตัวเองและนึกว่าโชคดีที่ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว ให้นึกถึงความดีของตนเอง ที่เคยทำมาแล้วในอดีต (ที่สามารถนึกได้ง่ายๆ) เช่น เคยทำบุญ เคยช่วยคนที่อ่อนแอกว่า เคยสงเคราะห์สัตว์ฯลฯ คิดว่าตัวเองดี และมีคุณค่าที่ได้เคยทำสิ่งดีๆ และให้นึกซ้ำๆจะได้เกิดความเชื่อตามที่นึกนั้น คุณก็จะเกิดความอิ่มเอิบใจและเชื่อว่าตัวเองมีความดี ความเก่ง ตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยคุณจะเกิดความอยากมีชีวิตอยู่ และสร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับชีวิตต่อไปและต้องอวยพรตัวเองเสมอๆ อย่าแช่ง หรือตำหนิตัวเอง และอย่ารอให้คนอื่นมาชื่นชมคุณซึ่งมักจะไม่ได้ดั่งใจ หรือได้มาก็ไม่สมใจ
บันไดขั้นที่ 2 มองคนอื่นดี มองโลกในแง่ดี ขั้นนี้คุณจะต้องมองว่า ทุกๆ คน มีขีดจำกัดของความสามารถ ความดีความเก่งกันทุกคน ตามความเป็นจริงของเขา ซึ่งไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกันเลยส่วนความไม่ดี หรือไม่เก่งของเขา (ซึ่งมีกันทุกคน) ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขาไปให้มองเฉพาะส่วนที่ดีของเขาเท่านั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ คุณก็จะเป็นคนที่มองอนาคนและชีวิตดี มีความหวังที่ดีในชีวิตตลอดเวลา สองสิ่งนี้ ถ้าคุณทำเป็นนิสัยคุณจะพบว่า โลกนี้มีสิ่งที่ดีๆ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆและท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสุขนิยมทั้งชีวิต
บันไดขั้นที่ 3 ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คือการอยู่กับปัจจุบัน ทำกิจกรรมในวันนี้และเวลานี้ให้ดีที่สุดทำได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ทุกข์ร้อน หรือคาดหวังกับผลลัพธ์ของมัน ไม่ว่าจะสมใจหรือไม่สมใจก็ตาม จงชื่นชมในความตั้งใจ ทำเต็มความสามารถของตนเอง และคิดต่อว่าในอนาคตจะต้องทำให้ดีกว่านี้ นอกจากนั้น คุณต้องเลิกจดจำหรือนึกถึงเรื่องที่ไม่ดีที่เกิดกับคุณในอดีต เพราะการจดจำเรื่องราวที่ไม่ดีในอดีตเท่ากับคุณไปสะกิดแผลในใจ และจะทำให้คุณเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นจนส่งผลให้ปัจจุบันคุณไม่มีความสุข และกลัวว่าอนาคตจะเกิดสิ่งที่ไม่ดีซ้ำๆ อีก
บันไดขั้นที่ 4 มีความหวังและเชื่อว่าอนาคตจะดีเสมอ ความหวัง ความเชื่อ เกิดจากความคิดถึงบ่อยๆ หรือได้ยินบ่อยๆจงนึกและบอกกับตัวเองเสมอว่า อนาคตจะดีขึ้นอีกเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดกำลังใจมากขึ้นอยากพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตโดยไม่กลัว มีอารมณ์ขันและไม่จริงจังกับชีวิตมากนัก แต่จะมีความหวังที่ดีๆ (Good Hope) อยู่เสมอแต่อย่ามีความคาดหวัง (Expectation) กับชีวิต เพราะถ้าคาดหวังกับชีวิต เรามักจะกลัวหรือกังวลว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์ดังความคาดหวัง หรือเมื่อได้มาแล้วก็มักไม่พอใจจึงอาจทำให้เกิดทุกข์ได้

บันได้ขั้นที่ 5 ปรับปรุงตัวเองเสมอ        
โดยปรับปรุง 4 ส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิต คือ
1.การงานให้มีความขยัน อดทน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว และกล้าลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ควรทำจะทำให้มีการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้เรื่อยๆและปรากฏเป็นผลงานที่ชัดเจน
2.ครอบครัวจะต้องยึดหลักที่เป็นมงคลต่อกันคือ ไม่อิจฉา ไม่ระแวง ไม่แข่งขัน ไม่นอกใจรู้จักการให้และการอภัย มีน้ำใจ และรู้จักเกรงใจกัน
3.สังคมหมั่นสร้างมิตรเสมอ มีการให้ความสำคัญกัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและพูดจากันแบบ   ปิยะวาจา
4.ตนเองต้องมีการพัฒนาตนเองเสมอ มีความภูมิใจตนเองตามความเป็นจริงสามารถให้กำลังใจตัวเองได้ และมีกำลังใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่ดีขึ้น

การเสริมสร้างความสุข ๕ มิติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรม : พักเบรคปันความรู้ของหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลาง (CGD Coffee Talk)
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ 
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  การเสริมสร้างความสุข ๕ มิติเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง) นางสาวอัจฉรา จารุเสาวภาคย์ นักวิชาการคลังปฏิบัติการ
หน่วยงาน  สำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ

การเสริมสร้างความสุข ๕ มิติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ
. สุขสบาย (Health)
    หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสมรรถภาพร่างกายที่คล่องแคล่วมีกำลัง สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพได้ตามสภาพที่เป็นอยู่มีเศรษฐกิจหรือปัจจัยที่จำเป็นเพียงพอ ไม่มีอุบัติเหตุหรืออันตราย มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ
     วิธีส่งเสริมให้เกิดความสุขสบายเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวไม่เกิดอุบัติเหตุง่าย
     ๑. ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ฝึกกายบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเคลื่อนไหว และควรออกกำลังกายให้ครบทุกส่วน ทุกข้อต่อของร่างกาย ทั้งนี้ การออกกำลังกายไม่ควรออกกำลังกายแบบรุนแรงและควรทำเป็นประจำทุกวัน วันละ ๑๕-๓๐ นาที        
     ๒. ขณะออกกำลังกายต้องฝึกการควบคุมการหายใจให้เป็นจังหวะตามการออกกำลังกาย โดยหายใจให้ลึกและผ่อนลมหายใจออกทางปาก ไม่กลั้นหายใจขณะออกกำลังกายเพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงได้
     ๓. หลังการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ไม่ควรหยุดแบบทันทีควรออกกำลังกายต่อ แต่ให้ช้าลงประมาณ ๕-๑๐ นาทีแล้วจึงหยุด
     ๔. ใช้แรงกายในชีวิตประจำวันและทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น กวาดบ้าน ทำสวน ซ่อมแซมเครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน
     ๕. ระมัดระวังการพลัดตกหกล้ม
๒. สุขสนุก (Recreation)
    หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการเลือกวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์ เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า
     วิธีส่งเสริมให้เกิดความสุขสนุกเพื่อคลายเครียด
     ๑. เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างความสดชื่นและมีชีวิตชีวาอย่างสร้างสรรค์และดีงาม
     ๒. เล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะหรืองานอดิเรกที่ชอบ
๓. สุขสง่า (Integrity)
    หมายถึง ความรู้สึกพอใจในชีวิต ความภาคภูมิใจในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง ยอมรับนับถือตนเอง ให้กำลังใจตนเองได้ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีลักษณะเอื้อเฟื้อแบ่งปันและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
     วิธีการส่งเสริมให้เกิดความสุขสง่าเพื่อส่งเสริมความภาคภูมิใจและความมีคุณค่าในตนเอง
     ๑. พยายามช่วยเหลือตนเองในเรื่องง่ายๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนอื่น เช่น กิจวัตรประจำวัน งานบ้านเล็กๆ น้อยๆ การดูแลเด็ก เป็นต้น
     ๒. ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น ด้วยการไม่แทรกหรือขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นพูด ยกเว้นกรณีที่สงสัยสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด ต้องฟังอย่างตั้งใจเพื่อจะได้เก็บเรื่องราว ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูดขณะพูด เพื่อเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในเรื่องที่ตนเองถนัดหรือมีประสบการณ์
     ๓. ฝึกวิธีการตั้งคำถามเพื่อจะได้ใช้เป็นหัวข้อในการพูดคุยสนทนากับผู้อื่น อาจเริ่มต้นด้วยการชวนพูดคุยเรื่องที่ลูกหลานกำลังทำอยู่ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องข่าวสารที่กำลังเป็นประเด็น เพื่อจะได้ตามทันเหตุการณ์และโลกในปัจจุบันได้
     ๔. ไม่จู้จี้ขี้บ่นและระวังการใช้คำพูดที่รุนแรงที่อาจทำให้การสนทนาไม่สร้างสรรค์
     ๕. หากิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน ไม่หมกมุ่นอยู่กับความคิดเดิมๆ อาจเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือกิจกรรมแปลกใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
     ๖. ช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ทั้งในครอบครัวและชุมชนตามศักยภาพที่ตนเองมี
๔. สุขสว่าง (Cognition)
    หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุผล การสื่อสาร การวางแผน และการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการคิดแบบนามธรรม รวมทั้งความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     วิธีการส่งเสริมความสุขสว่างเพื่อชะลอความเสื่อมของสมองในด้านต่างๆ
     ๑. ฝึกการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ทำกิจกรรมด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ทำกิจวัตรประจำวัน
ที่ไม่เคยทำ
     ๒. รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือกลุ่มวัยอื่นๆ เพื่อพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
     ๓. ฝึกประสานระหว่างมือ ตา และเท้า ด้วยการฝึกหยิบจับวัตถุชิ้นเล็กๆ เช่น ร้อยลูกปัด นั่งปั้นกระดาษหนังสือพิมพ์ ๑ คู่ ด้วยเท้าขณะดูทีวีให้กลมที่สุด เป็นต้น
     ๔. เล่นเกมส์ที่สามารถฝึกฝนด้านความจำหรือฝึกสมองได้ เช่น หมากรุก อักษรไขว้ ต่อคำ ต่อเพลง คิดเลข หรือการจดจำข้อมูลต่างๆ เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น
     ๕. ฝึกคิดแบบมีเหตุมีผล พยายามใช้เหตุผลตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ให้ใครหลอกได้ อาจเริ่มจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วให้บอกเหตุผล เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงมาใช้สนับสนุนหรือคัดค้าน หรือฝึกคาดคะเนความเป็นไปได้ของเหตุการณ์หรือข้อมูลโดยมีการนำข้อมูลทีเชื่อถือได้มาอ้างอิงและสรุปเป็นการคาดคะเนของตนเอง
๕. สุขสงบ (Peacefulness)
     หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการรับรู้-เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์และสามารถจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผ่อนคลายให้เกิดความสุขสงบกับตนเองได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
     วิธีการส่งเสริมความสุขสงบเพื่อปรับความคิด บริหารจิตให้เกิดสติ สมาธิ
     ๑. นั่งในท่าที่สบาย ฝึกหายใจช้าๆ ลึกๆ ใช้กล้ามเนื้อกระบังลมบริเวณท้องช่วย โดยหายใจเข้าท้องป่อง นับเลข ๑-๔ กลั้นหายใจไว้นับ ๑-๔ และหายใจออกช้าๆ นับ ๑-๘ ให้ท้องแฟบ ทำซ้ำๆ เมื่อรู้สึกเครียด หงุดหงิด โกรธ หรือไม่สบายใจ
     ๒. ฝึกคิดยืดหยุ่นให้มากขึ้น อย่าเข้มงวด จับผิดหรือตัดสินผิดถูกตนเองและผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา ลดทิฐิ มานะ รู้จักให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองและปล่อยวาง ชีวิตจะได้มีความสุขมากขึ้น
     ๓. ฝึกคิดแต่เรื่องดีๆ เช่น คิดถึงประสบการณ์ที่ดี คิดถึงความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา คำชมเชยที่ได้รับ ความมีน้ำใจ  ของเพื่อนบ้าน เป็นต้น
     ๔. ฝึกคิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าคิดหมกมุ่นกับตนเองเท่านั้น เปิดใจให้กว้าง รับรู้ความเป็นไปของคนอื่น เริ่มต้นง่ายๆ   จากคนใกล้ชิดด้วยการใส่ใจช่วยเหลือ สนใจเอาใจใส่คนใกล้ชิดเราบ้าง จากนั้นหันกลับไปมองคนรอบข้างที่มีปัญหา หนักหน่วงในชีวิต
     ๕. ทำสมาธิ เจริญสติ ภาวนา 
โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรม : พักเบรคปันความรู้ของหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลาง (CGD Coffee Talk)
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖
ความรู้ที่แบ่งปัน  :  ดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะพอ ?
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางวรุณกาญจน์  รวยอารีย์
ตำแหน่ง นักวิชาการคลังชำนาญการ
หน่วงาน สำนักบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ

การดื่มน้ำวันละ 8 แก้วจะทำให้สุขภาพดี-ช่วยลดความอ้วนจริงไหม? แท้จริงแล้วการดื่มน้ำมากเกินจำเป็นส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ หากถามนักแสดงหรือนางแบบว่าเคล็ดลับความงามคืออะไร หนึ่งในสิ่งที่เหล่าคนดังจะแนะนำให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ คือ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพราะจะทำให้สุขภาพดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ช่วยล้างสารพิษออกจากร่างกาย  การขาดน้ำจากการไดเอ็ทเป็นสาเหตุแห่งอาการท้องผูก แต่ดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะเป็นการ “ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ” ซึ่งเรามักจะได้ยินกันว่าต้องดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน ถ้าดื่มไม่ได้ตามเป้า นอกจากจะเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินหรือผิวหนังเหี่ยวย่นแล้ว ยังทำให้สมองสูญเสียน้ำ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการตั้งสมาธิกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
                   จากคำเตือนให้ดื่มน้ำมากๆ นี้ส่งผลให้ขวดน้ำขายได้มากเป็นหนึ่งเท่าตัวในประเทศอังกฤษช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และขวดน้ำก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่คนอังกฤษส่วนใหญ่มักจะพกติดตัวออกนอกบ้าน สำคัญพอๆ กับกระเป๋าสตางค์และกุญแจบ้าน
                   อย่างไรก็ตาม แม้การขาดน้ำอาจทำให้ร่างกายได้รับความเสียหาย แต่การได้รับน้ำมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อร่ายกายเช่นกัน
                   หากร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ “ไฮโปแนทรีเมีย” ซึ่งเป็นอาการที่เกลือในร่างกายลดลง ทำให้สมองเต็มไปด้วยน้ำ ซึ่งนำไปสู่อาการชักและเสียชีวิตในที่สุด แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป อาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากร่างกายมีกระบวนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ
                   นอกจากนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าการดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารจะช่วยลดน้ำหนัก หรือการที่ร่างกายสูญเสียน้ำเล็กน้อยจะเป็นสาเหตุแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย

แล้วดื่มน้ำแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ?
            ความต้องการน้ำของร่างกายแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแตกต่างกันไปในแต่ละวันอีกด้วย กลุ่มที่ต้องการน้ำมากที่สุด คือ เด็กและผู้สูงวัย ส่วนผู้ใหญ่ต้องการน้ำวันละ 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักร่างกาย 1 กิโลกรัม เช่น ถ้าน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ร่างกายก็จะต้องการน้ำวันละประมาณ 1 ลิตร แต่ไม่ต้องดื่มน้ำให้ครบตามจำนวนที่คำนวณก็ได้เพราะในอาหาร ผักและผลไม้ที่รับประทานก็มีน้ำเช่นกัน นอกจากนี้การดื่มชา กาแฟ น้ำส้มหรือแม้แต่น้ำอัดลมก็ช่วยเติมน้ำให้ร่างกาย
            หลายคนอาจนึกว่าการกระหายน้ำเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าร่างกายขาดน้ำ ที่จริงแล้วแค่เป็นตัวบอกว่าระดับน้ำในร่างกายน้อยลงเท่านั้น ยังไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชย แต่ถ้าป่วยต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพราะร่างกายจะขจัดความร้อนด้วยการสร้างเหงื่อ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ จึงต้องการน้ำมากกว่าปกติประมาณ 500 มิลลิลิตรต่ออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส ซึ่งในสภาพอากาศร้อนหรือหลังออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมาก ก็ต้องชดเชยน้ำให้ร่างกายด้วย

            วิธีสังเกตว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่ ดูได้จากสีของปัสสาวะที่ต้องใส ไม่มีสีและปัสสาวะประมาณ 3-4 ครั้งต่อวันแสดงว่าร่างกายปกติดี แต่หากปัสสาวะมีสีเข้มและปัสสาวะน้อยกว่าวันละ 3 ครั้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ เพราะแสดงว่าร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ

เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความสุขในที่ทำงาน

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice)
กิจกรรม : พักเบรคปันความรู้ของหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลาง (CGD Coffee Talk) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
ความรู้ที่แบ่งปัน  : เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความสุขในที่ทำงาน
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นายตามฤกษ์ เพชรมณี  ตำแหน่ง นิติกร
หน่วยงาน  สำนักกฏหมาย

เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความสุขในที่ทำงาน
            ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือการที่ต้องทำงานเป็นกลุ่ม นอกจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลแล้วยังจะมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มด้วย จึงอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการยากที่คนเราจะทำงานร่วมกันในหน่วยงานโดยปราศจากความขัดแย้ง จนมีคำกล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในชีวิต แต่ปัญหาไม่จำเป็นต้องมี
          สาเหตุของการเกิดความขัดแย้ง
            1. การแข่งขันเนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด
            2. ความขัดแย้งที่สร้างขึ้นภายในองค์กร
            3. จุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
            4. จุดมุ่งหมายเหมือนกัน แต่อาจใช้วิธีการที่จะให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน
            5. ความแตกต่างในลักษณะของงาน
            6. การให้คุณค่าและความสำคัญแตกต่างกัน
            7. ขาดการสื่อสารที่ดี
            หากจะค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งที่สำคัญ ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่มักจะมาจากการขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างกันหรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ซึ่งอาจจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นได้
ข้อดีข้อเสียของความขัดแย้ง
           
ข้อดี
ข้อเสีย
-เกิดความคิดสร้างสรรค์
-เกิดความขุ่นเคืองกัน
-สร้างความร่วมมือกันในแต่ละฝ่าย
-ทะเลาเบาะแว้งซึ่งกันและกัน
-เกิดความสามัคคี
-เป็นปรปักษ์กันอย่างรุนแรง
-สามารถจัดการและค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
-เกิดความอาฆาตและรอหาโอกาสที่จะแก้แค้น

            วิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
            1. การหลีกเลี่ยง
            2. การปรองดอง
            3. การประนีประนอม
            4. การแข่งขัน
            5. การร่วมมือกัน
          
          ความสุขในที่ทำงาน คุณสร้างได้
            เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราใช้เวลาอยู่ที่ทำงานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด ดังนั้น หากที่ทำงานน่าอยู่ คนทำงานก็จะมีความสุข
          สำหรับแนวทางในการสร้างความสุขในที่ทำงานนั้น ประกอบด้วย
            1. ส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรให้แข็งแกร่งทั้งกายและใจ
            2. กระตุ้นให้เกิดความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
            3. รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่างๆในการดำเนินชีวิต การสร้างกิจกรรมบันเทิงเพื่อลดความเครียดในการทำงาน
            4. ส่งเสริมให้บุคลากรรู้จักศึกษา หาความรู้ พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่างๆเพื่อให้เกิดทักษะ
ความชำนาญ เกิดความก้าวหน้าในการทำงานและเกิดความมั่นคงในชีวิต
            5. มองโลกในแง่บวก
            6. ไม่จำเป็นต้องให้คนรอบข้างพอใจทุกคน
            7. อย่าเก็บทุกอย่างมาคิดมากจนเกินไป
            9. เลิกบ่นและลงมือทำ
            ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แนวทางดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะส่งเสริมให้ที่ทำงานน่าอยู่และมีความสุขแล้วยังสามารถช่วยขจัดความขัดแย้งหรือเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์อีกด้วย

เพราะฉะนั้น เรามาช่วยกันสร้างความสุขให้ที่ทำงานกันเถอะ

รางวัลและแรงจูงใจให้คนทำงาน

โครงการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ชาวกรมบัญชีกลาง (CoP : Community of Practice) 
กิจกรรม : พักเบรคปันความรู้ของหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลาง (CGD Coffee Talk) 
ปีงบประมาณ พ.ศ.2556     

ความรู้เกี่ยวกับ : ...รางวัลและแรงจูงใจให้คนทำงาน......... 
โดย : นางสาวปนัสยา เสียงก้อง หน่วยงาน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร


มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการ ความสนใจ และทัศนคติในการดำเนินชีวิตต่างกัน การจูงใจให้บุคลากรขององค์กรพัฒนาผลการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆ โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเภทและลักษณะงานของบุคลากรในองค์กรอยู่เสมอ กลยุทธ์การจูงใจด้วยการให้รางวัลตอบแทนจะมีผลต่อแรงจูงใจและขวัญกำลังใจของบุคคลหรือไม่ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นแล้ว การให้รางวัลตอบแทนก็อาจจะไร้ประโยชน์
ประการแรกสุดที่ควรคำนึงถึงก็คือ คุณลักษณะของรางวัลตอบแทนที่จะมอบให้แก่ผู้ทำงานเพื่อให้เกิดผลและมีคุณค่าตามต้องการคุณลักษณะของรางวัลตอบแทนที่ดีควรมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจและเสริมสร้างทั้งขวัญ
และกำลังใจแก่บุคลากรซึ่งควรมีลักษณะ ดังนี้
1. มีคุณค่าสำหรับผู้ได้รับ จะต้องเป็นสิ่งที่บุคลากรต้องการจะได้รับ ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรจะต้องทราบความต้องการของบุคลากรเสียก่อน เพื่อให้การเสนอรางวัลตอบแทนเกิดผลดีที่สุด โดยอาจเริ่มจากการสำรวจความต้องการของบุคลากรในองค์กรเพื่อให้มีข้อมูลเบื้องต้น
2. มีความเป็นธรรม สิ่งที่เขาได้รับมีความคุ้มค่ากับสิ่งที่เขาได้ลงทุนลงแรงกระทำให้แก่องค์กร หากบุคลากร
รู้สึกว่าสิ่งที่ได้รับไม่เป็นธรรมแก่ตัวเขา ก็อาจจะส่งผลให้เขาเกิดท้อถอยหมดกำลังใจ
3. มีความเป็นไปได้ สามารถที่จะไขว่าคว้าเอื้อมถึงได้ ไม่ควรตั้งเป้าหมายในการทำงานที่เป็นไปได้ยากหรือกดดันมากจนเกินไป เช่น การตั้งเป้าขายสินค้าที่สูงจนเกินไป
4. มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และความต้องการ
ชนิดของรางวัลตอบแทน
1. รางวัลตอบแทนในรูปเงิน
 - ค่าตอบแทนหรือเงิน ซึ่งองค์กรมอบให้แก่บุคลากรเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรง 
 - ผลประโยชน์และบริการต่างๆ อาจจะไม่ได้จ่ายให้ในรูปแบบตัวเงินแต่ก็สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้
 - การเลื่อนขั้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่ง
2. รางวัลตอบแทนที่ไม่ใช่เงิน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อบุคลากร บ่งบอกถึงชื่อเสียงเกียรติยศ สถานะทางสังคม มีลักษณะดังนี้ 
- รางวัลซึ่งส่งเสริมสถานภาพทางสังคม
- รางวัลซึ่งส่งเสริมคุณค่าของบุคคล การยกย่องชมเชย รางวัลดีเด่น
- รางวัลซึ่งส่งเสริมศักยภาพของบุคคล เช่น การส่งไปรับการฝึกอบรมเพิ่มเติม ดูงาน
การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
    คือความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังหมายรวมถึงการสร้างสรรค์พัฒนาผลงานหรือกระบวนการปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย  ตั้งใจ ทำอะไรต้องทำอย่างจริงจัง พยายามบังคับใจตนเองให้ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง  ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ ความสามารถในการหาความรู้ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจากการอ่าน ฟัง พูด และการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ต่าง ๆ   พยายามฝึกความสามารถและทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การมีมารยาทที่ดี มีมนุษย์ สัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถสำคัญที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้  จิตใจก็เป็นเรื่องสำคัญ คนที่สามารถบังคับใจตนเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำได้เป็นความสามารถที่จะช่วยลดความขี้เกียจลงได้ นั่นคือ ความมีวินัยในตนเอง การพัฒนาความสามารถทางด้านร่างกาย โดยการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนให้มีสุขภาพดีโดยการออกกำลังกาย และเล่นกีฬาต่างๆ จะช่วยพัฒนาให้เป็นคนมีสมรรถภาพร่างกายแข็งแรง หาประสบการณ์ชีวิตในทางที่สร้างสรรค์ การมีประสบการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายจะช่วยพัฒนาความสามารถในตัวของเราได้เป็นอย่างดี ประสบการณ์ชีวิตในทางสร้างสรรค์ เราหาได้โดยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้ารับการอบรมหรือสัมมนาจะช่วยพัฒนาความสามารถในด้านองค์ความรู้ด้านวิชาการ การปรับตัว การรู้จักอดทน รอคอย ฯลฯ
การให้รางวัลตนเอง
การท่องเที่ยว ถือได้ว่าเป็นการให้รางวัลแก่ตนเอง ได้ไปค้นหามุมมองใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต ได้ไปเห็นไปสัมผัสกับเส้นทางชีวิตในแบบอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้จิตใจสดใสเบิกบานเป็นกำไรชีวิตของตัวเอง ได้ค้นพบตนเองว่ามีความสนใจความชอบ ความสามารถในด้านใดนอกจากการทำงานประจำ เป็นการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและเท่ากับเป็นการพักผ่อนด้วยวิธีหนึ่ง