วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

11 วิธีง่าย ๆ ช่วยให้เรามีความจำที่ดีขึ้น



                                     
ผู้แบ่งปัน (เล่าให้ฟัง)
นางสาววาลีรัตน์  จตุรภัทร์มานนท์  นักวิชาการคลัง
ความรู้ที่แบ่งปัน : 11 วิธีง่าย ๆ ช่วยให้เรามีความจำที่ดีขึ้น”

เคยหรือไม่ ที่รู้สึกว่าตัวเองนั้นช่างขี้ลืมจริง ๆ จนอยากที่จะหาวิธีที่ช่วยให้จำสิ่งต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น รวมทั้งในบางครั้ง เราก็อยากที่จะจำเนื้อหาต่าง ๆ ที่จำเป็นให้ได้มาก ๆ หากว่าเราเคยพบกับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว วันนี้ขอนำเคล็ดลับง่าย ๆ 11 ประการ จาก theweek.com ที่จะช่วยทำให้เรามีความจำที่ดีขึ้น มาฝากให้ทุก ๆ คนได้นำไปทดลองดู
1. ครุ่นคิดถึงสิ่งนั้น ๆ อย่างน้อย 8 วินาที
ในทุกวันนี้เรามักจะคิดถึงสิ่งต่างในสมองอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการที่เราจดจ่อ ครุ่นคิดถึงสิ่ง ๆ หนึ่งที่ต้องการจดจำเป็นเวลาอย่างน้อย 8 วินาที จะทำให้สมาธิของเราวนเวียนอยู่กับสิ่งนั้น ๆ ซึ่งจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลา 8 วินาทีนั้น ก็คือเวลาขั้นต่ำสุดที่สมองของเราจะย้ายข้อมูลหนึ่ง ๆ จากส่วนความจำระยะสั้น ไปเก็บไว้ยังส่วนความจำระยะยาว
2. เลี่ยงการเดินผ่านประตู
เคยไหมเมื่อเราเดินเข้าไปในห้อง ๆ หนึ่ง แล้วก็เกิดลืมอย่างกะทันหันว่าจะเข้ามาทำอะไรในห้อง ซึ่งจริง ๆ แล้ว สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะการเดินผ่านประตูนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้หัวของเราว่างเปล่า โดยจากการทดลองโดยให้ผู้เข้ารับการทดลองนำวัตถุสิ่งหนึ่งเข้าไปวางในห้องแล้วเดินออกมา เมื่อเราถามเขาทันทีที่ก้าวพ้นประตู พบว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะลืมไปแล้วว่าวัตถุนั้นคืออะไร มากกว่ากลุ่มคนที่เดินออกจากวัตถุในระยะทางเท่ากัน แต่ยังอยู่ภายในห้องนั้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าการเดินเข้าสู่สถานที่แห่งใหม่นั้น จะมีลักษณะเหมือนการรีสตาร์ทสมองของเรานั่นเอง 
3. ใช้มือข้างที่ถนัดในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างแรก
หากเรามีปัญหาในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ในการทำงานนั้น การทำให้ร่างกายของเราจดจำสิ่งนั้น ๆ ได้ก่อน จะช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียกคืนข้อมูลของเราได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการศึกษาได้พบว่า 
หากเราเป็นคนถนัดขวา เรามักจะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือขวาเป็นอันดับแรกก่อนที่เราจะจดจำสิ่งเหล่านั้น ซึ่งหากเราต้องการที่จะระลึกสิ่งต่าง ๆ ได้ ให้ลองใช้มือซ้ายของเราจับต้องสิ่งเหล่านั้นสักพัก ราว 45 วินาที เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกบีบอัดอยู่ในหัวค่อย ๆ ไหลออกมา
4. ออกกำลังกาย
นักวิทยาศาสตร์มองว่าการออกกำลังกายเป็นหนทางออกสำหรับทุกปัญหา ซึ่งรวมถึงปัญหาในด้านความจำ เพราะการลงมือกระทำทางกายภาพจะเพิ่มความตื่นตัว และเพิ่มออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์ในสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความทรงจำ โดยจากการศึกษาพบว่า หลังจากการออกกำลังกายเบา ๆ จะทำให้ผู้หญิงสามารถจำจดสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายมาตลอดช่วง 6 เดือนนั้น จะมีการพัฒนาความจำในส่วนของภาษาและสภาพแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
5. การนอนหลับ
นักเรียนที่อยู่ในช่วงมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยส่วนมาก มักจะใช้เวลาทั้งคืนก่อนสอบใหญ่ไปกับการเคร่งเครียดอ่านหนังสือจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยที่พวกเขาอาจจะไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว การนอนให้พอตลอดทั้งคืนนั้นย่อมให้ผลที่ดีกว่าการอ่านหนังสือจนถึงเช้า เพราะจากการศึกษาพบว่า ในขณะที่เราหลับ สมองของเราจะมีกระบวนการประมวลผลความคิดต่าง ๆ ที่ระดมเข้ามา เพื่อละทิ้งข้อมูลที่ไม่สำคัญ และช่วยเพื่อการจดจำข้อมูลที่สำคัญขึ้นเป็น 2 เท่า เช่นเนื้อหาในการสอบวันรุ่งขึ้นของเรา และรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นลงไปในส่วนความจำระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่สมองไม่สามารถทำได้หากเราฝืนตื่นอ่านหนังสือจนถึงเช้า
6. ใช้แบบอักษรประหลาด ๆ
ในหนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ หรือตามอินเทอร์เน็ต ผู้คนมักจะทำให้ข้อความต่าง ๆ ดูโดดเด่นและง่ายต่อการอ่านด้วยการเพิ่มขนาดตัวอักษรและทำตัวหนา ขณะที่นักวิจัยกลับพบว่า ที่จริงแล้วตัวอักษรใหญ่ ๆ และตัวหนานั้นกลับจะทำลายความสามารถในการจำของเรา ขณะที่การใช้แบบตัวอักษรแปลก ๆ นั้น เป็นหนทางที่จะช่วยทำให้เราจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ดีที่สุด เพราะมันอ่านยากกว่า และต่างไปจากความเคยชิน ทำให้เราถูกบังคับให้จดจ่ออยู่กับคำที่เขียนด้วยแบบอักษรแปลก ๆ นั้น จนสามารถจำมันง่ายขึ้น
7. เคี้ยวหมากฝรั่ง
เชื่อหรือไม่ว่า หมากฝรั่งช่วยทำให้เราจดจำข้อมูลภาษาและเสียงได้ดีขึ้น เมื่อเราเคี้ยวหมากฝรั่งไปพร้อม ๆ กับการพยายามจดจำข้อมูลต่าง ๆ เพราะการเคี้ยวนั้นช่วยทำให้เรามุ่งเป้ามายังสิ่งที่เราต้องการจะจำมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เหมาะสำหรับการจำสิ่งที่ต้องการเวลาจดจำนาน ราว 30 นาที ขณะที่การจดจำระยะสั้น การไม่เคี้ยวหมากฝรั่งจะให้ผลดีกว่า 
8. เขียนสิ่งที่ต้องทำด้วยมือ
ขณะที่ทุกวันนี้คนมักจะนิยมการบันทึกข้อมูลทุกอย่างไว้ในโทรศัพท์ หรือในคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เบอร์โทรศัพท์ นัดหมายสำคัญ หรือแม้แต่สิ่งที่ต้องทำ เราจึงไม่รู้ตัวเลยว่าเราแทบจะจดจำข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้สักอย่างเดียว ดังนั้นหากเราต้องการจดจำข้อมูลใด ๆ นั้น ขอแนะนำให้เขียนสิ่งเหล่านั้นใส่กระดาษด้วยลายมือของเราเอง ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่เคยกลับมาอ่านสิ่งที่เขียนไว้เลย แต่จากการศึกษาก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่เราลงมือเขียนข้อมูลบางอย่างนั้น จะช่วยให้เราจดจำข้อมูลเหล่านั้นได้ดีขึ้นอย่างแท้จริง
9. เลี่ยงการเปิดเพลงขณะเรียนหรือทำงาน
คงมีหลายคนที่ชอบการเปิดเพลงฟังขณะที่กำลังอ่านหนังสือเรียน หรือในขณะที่กำลังทำงาน เพราะคิดว่าจะช่วยทำให้จำเนื้อหาที่อยู่ตรงหน้าได้ดีขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว นักวิจัยพบว่าการรับฟังเสียงรบกวนใด ๆ รวมทั้งการฟังเพลงนั้น จะทำให้เราไขว้เขวจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และจะทำให้หวนนึกถึงสิ่งที่เราอ่านไปได้น้อยลงในเวลาต่อมา เพราะเสียงเหล่านั้นทำให้เราเสียสมาธิได้ไม่ต่างจากการที่มีคนมาตะโกนข้างหูตลอดเวลา สำหรับคนที่เคยชินกับการฟังเพลงขณะอ่านหนังสือ เราอาจจะรู้สึกแปลก ๆ บ้างหากต้องนั่งอ่านหนังสือท่ามกลางความเงียบสงบ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่า ในจะให้ผลที่ดีในระยะยาวอย่างแน่นอน
10. จินตนาการ
การใช้จินตนาการมาช่วยสร้างความจดจำนั้น เป็น 1 ในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจำบางสิ่งบางอย่าง เพราะเป็นการที่เรานำข้อมูลต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกับภาพที่เรามองเห็น ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการเรียกข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งถูกเรานำมาเชื่อมโยงเป็นภาพที่มองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนในสมองของเรา
11. วาดรูปเล่นแก้เบื่อ

หากเรากำลังนั่งเบื่ออยู่ภายในห้องเรียนหรือระหว่างการประชุม ลองหยิบดินสอมาวาดรูปเล็ก ๆ บนเอกสารของเราดูสิ แม้ว่าการวาดรูปเล่นนั้นจะดูเหมือนเราไม่ให้ความสนใจต่อการเรียนหรือการประชุมตรงหน้า แต่เชื่อหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วการที่เราแอบวาดรูปเล่นนั้นเป็นการทำให้สมองของเรามีการทำงาน ขณะที่การนั่งฟังเฉย ๆ ความเบื่อจะทำให้สมาธิของเราหลุดออกจากเนื้อหาที่ได้ฟังไปในที่สุด จนทำให้จดจำข้อมูลเหล่านั้นได้น้อยกว่าคนที่นั่งวาดรูปเล่นเสียอีก ดังจะเห็นได้จากการทดลองที่ให้คนกลุ่มหนึ่งวาดรูปเล่นขณะนั่นฟังเทปการสนทนาที่น่าเบื่อ ขณะที่คนอีกกลุ่มไม่วาด พบว่า กลุ่มที่วาดรูปเล่นสามารถจำเนื้อหาได้มากถึง 29% ซึ่งมากกว่าอีกกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น